รมว.คมนาคม นำคณะลงพื้นที่ลุยยกระดับการคมนาคม ในจังหวัด “สุรินทร์” ผุดโครงการพัฒนา เร่งขยายโครงข่ายคมนาคม เสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่
วันนี้ (18 มิ.ย.) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายปริญญา แสงสุวรรณ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม และผู้บริหารระดับสูง ลงพื้นที่ตรวจติดตามผลการดำเนินงานโครงการเร่งด่วนของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม และแผนการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมและส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดสุรินทร์ โดยรับฟังการบรรยายสรุปผลการดำเนินงานโครงการสำคัญเร่งด่วนของหน่วยในสังกัดกระทรวงคมนาคม และรับฟังปัญหาอุปสรรคจาก นายสุวพงศ์ กิติภัทย์พิบูลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ ณ ห้องประชุมวีรพลปัทมานนท์ แขวงทางหลวงสุรินทร์ โดยมี นายวิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำท้องถิ่น ผู้แทนภาคเอกชน และประชาชนในพื้นที่ให้การต้อนรับและร่วมลงพื้นที่
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ กล่าวว่า สืบเนื่องจากพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้รับผิดชอบแนวคิดการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันระดับพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์และจังหวัดสุรินทร์ โดยมีหน้าที่เป็นที่ปรึกษา ให้คำแนะนำ และเสนอแนะแก่คณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันในพื้นที่จังหวัดที่รับผิดชอบ เพื่อให้การพัฒนาและแก้ไขปัญหาในระดับจังหวัดสามารถขับเคลื่อนไปได้โดยเร็ว ลดปัญหา และอุปสรรค รวมทั้งใช้ทรัพยากรต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการลงพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ในครั้งนี้ เพื่อขับเคลื่อนพัฒนางานด้านการคมนาคมขนส่ง ติดตามผลการดำเนินงานโครงการเร่งด่วน และแผนการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมและส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดสุรินทร์ เพื่อให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น ตามหลักยุทธศาสตร์ที่มุ่งเน้นความสะดวก ปลอดภัย และตรงเวลา โดยกระทรวงคมนาคมได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางบกและทางน้ำ ประกอบด้วยโครงการสำคัญดังนี้
1. โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 226 ตอนลำน้ำชี-ห้วยทับทัน กม. ที่ 171+182 -233+891 ระยะทาง 62.709 กม. แบ่งออกเป็น 6 ช่วง โดยช่วงที่ 1 ช่วงที่ 3 และช่วงที่ 5 เป็นทางขนาด 4 ช่องจราจร ช่วงที่ 2 ยังไม่ได้รับงบประมาณ อยู่ระหว่างการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ช่วงที่ 3 ช่วงที่ 4 และช่วงที่ 6 ได้รับจัดสรรเงินงบประมาณปี 2564 ประมาณ 800 ล้านบาท อยู่ระหว่างรอเซ็นสัญญาจากบริษัทผู้รับจ้าง 2. โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 2077 ตอนสุรินทร์-ลำดวน-บัวเชด กม. ที่ 2+305 -70+728 ระยะทาง 66.707 กม. แบ่งออกเป็น 9 ช่วง โดยช่วงที่ 1 ช่วงที่ 4 และช่วงที่ 6 เป็นทางขนาด 4 ช่องจราจร ช่วงที่ 3 ช่วงที่ 5 และช่วงที่ 7 กำลังดำเนินการในปี 2564 ช่วงที่ 2 และช่วงที่ 8 ได้รับงบประมาณปี 2564 ประมาณ 600 ล้านบาท อยู่ระหว่างรอเซ็นสัญญาจากบริษัทผู้รับจ้าง ช่วงที่ 9 เป็นทางขนาด 2 ช่องจราจร อยู่ระหว่างรอรับงบประมาณปี 2566
3. โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 2378 ตอนจอมพระ-สะพานบุรีรินทร์ กม. 0+000-20+040 ระยะทาง 20.040 กม. แบ่งออกเป็น 10 ช่วง โดยช่วงที่ 2 ช่วงที่ 4 ช่วงที่ 7 และช่วงที่ 9 เป็นทางขนาด 4 ช่องจราจร ช่วงที่ 6 อยู่ระหว่างดำเนินงานในปี 2564 ช่วงที่ 1 ช่วงที่ 3 ช่วงที่ 5 ช่วงที่ 8 และช่วงที่ 10 อยู่ระหว่างขอรับจัดสรรงบประมาณเงินกู้ปี 2565
4. โครงการยกระดับมาตรฐานทางถนนสาย สร.4026 แยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2378 - อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ เพื่อเชื่อมโยงหมู่บ้านช้างบ้านตากลาง และเป็นทางเลือกอีกเส้นทางหนึ่งในการเดินทางจากตัวเมืองสุรินทร์ไปยังท่าอากาศยานบุรีรัมย์ ปัจจุบันเป็นถนน 2 ช่องจราจร ขนาดความกว้างของถนน 9 เมตร จะมีช่องจราจรรวม 6 เมตร และขนาดความกว้างของถนน 12 เมตร จะมีช่องจราจรรวม 7 เมตร เป็นช่วงๆ ซึ่งตามแผนงานจะทำการขยายถนนที่มีความกว้าง 12 เมตรให้มีช่องจราจรรวม 7 เมตร ตลอดสาย
.
5. โครงการก่อสร้างสะพานข้ามลำชี บ้านโคกเพชร อำเภอเมืองสุรินทร์และอำเภอกระสัง จังหวัดบุรีรัมย์ มีความยาว 290 เมตร ถนนเชิงลาดยาว 5,225 เมตร ปัจจุบันมีความคืบหน้า 58.89% เร็วกว่าแผน 18.66% จากแผนการก่อสร้าง 40.23% 6. การพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ “พัฒนาแหล่งน้ำ สร้างอีสานเขียว ท่องเที่ยวปลอดภัย วิถีใหม่ชุมชน” โดยสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 7 และสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขา ร่วมกับสำนักงานพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 8
.
7. การดำเนินโครงการขุดลอกต่างตอบแทน เพื่อประหยัดงบประมาณแผ่นดินและทำให้มีพื้นที่ที่สามารถรองรับน้ำได้ โดยสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคบูรณาการร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 8. โครงการก่อสร้างถนนลาดยาง สาย สร.6052 อ่างเก็บน้ำห้วยเสนง-บ้านละเอาะ อำเภอเมืองสุรินทร์ มีความยาวตลอดเส้นทาง 25,600 กิโลเมตร ระยะเวลาดำเนินการเริ่มสัญญาวันที่ 29 มกราคม-4 กรกฎาคม 2564 รวมระยะเวลาการก่อสร้าง 157 วัน ซึ่งในปีงบประมาณ 2564 ได้ดำเนินการก่อสร้างในช่วง กม. 7+530.000-11+230.000 มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งประชาชนรับทราบและเห็นชอบโดยไม่มีข้อขัดแย้งใดๆ เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะช่วยให้การสัญจรไปมาได้สะดวกยิ่งขึ้น แก้ปัญหาน้ำท่วมขังถนน ลดการเกิดอุบัติเหตุและเป็นเส้นทางเชื่อมต่อการเดินทางไปยังศูนย์ราชการแห่งใหม่ได้อีกทางหนึ่ง
สถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดสุรินทร์ เป็นศูนย์รวมการรับ-ส่งผู้โดยสาร และรับ-ส่งพัสดุภัณฑ์ ตั้งอยู่บนถนนจิตรบำรุง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ มีการเตรียมความพร้อมด้านยานพาหนะและพนักงานขับรถยนต์เพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน และช่วยลดค่าครองชีพผู้โดยสารที่มีรายได้น้อยด้วยการจำหน่ายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ นอกจากนี้ยังได้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการติดเชื้อไวรัส COVID-19 เพื่อให้ผู้โดยสารมีความเชื่อมั่นในการใช้บริการได้อย่างปลอดภัย
นอกจากนี้ ยังมีนโยบายอื่นๆ ที่สำคัญ ประกอบด้วย นโยบายการนำยางพารามาใช้เพื่อปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนน การอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชนในช่วงเทศกาลหรือวันหยุดยาว การเตรียมการรองรับอุบัติเหตุ อุบัติภัย สาธารณภัยในภาคคมนาคมขนส่งในช่วงฤดูฝน โครงการท่องเที่ยวปลอดภัย ในวิถีชุมชนที่ยั่งยืน ในพื้นที่อ่างเก็บน้ำห้วยระไซร์ การปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการติดเชื้อไวรัส COVID-19
โดย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้รับทราบผลการดำเนินงานและมีข้อสั่งการ ดังนี้ 1.เร่งรัดให้ดำเนินโครงการแล้วเสร็จโดยเร็วและให้คำนึงถึงมาตรการความปลอดภัยในการใช้เส้นทาง โดยเฉพาะบริเวณสี่แยกและจุดตัดของถนนให้ติดตั้งแผ่นชะลอความเร็วเพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุ
2. ขอให้ทุกหน่วยงานให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 อย่างเคร่งครัดโดยปฏิบัติตามมาตรการอย่างต่อเนื่อง และลงทะเบียนขอรับการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส COVID-19 เพื่อรองรับการเปิดประเทศตามนโยบายของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
.
3. ให้เร่งรัดการบริหารงบประมาณตามดัชนีชี้วัดความสำเร็จ (KPI) ให้สำเร็จตรงตามวัตถุประสงค์โดยยึดกฎระเบียบตามหลักธรรมาภิบาลให้ชัดเจน และดูข้อมูลปฏิทินงบประมาณ หากเกิดปัญหาให้เร่งดำเนินการแก้ไข 4. การจัดทำแผนการดำเนินงานให้ศึกษาและทบทวนอย่างรอบครอบ 5. ติดตามโครงการนำยางพารามาใช้เพื่อปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนน โดยใช้แผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพง คอนกรีต (Rubber Fender Barrier: RFB) และหลักนำทางยางธรรมชาติ (Rubber Guide Post RGP) เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางและเป็นการสร้างความปลอดภัยทางท้องถนน
6. ขอให้กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทมีโครงการถนนสวยงามอย่างน้อยจังหวัดละหนึ่งโครงการ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวตามนโยบายของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี 7. ให้ประสานงานกับหน่วยงานในท้องที่เพื่อให้ได้รับการจัดสรรงบประมาณมาใช้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง 8. ต้องพัฒนาการคมนาคมขนส่งทางบกให้ประสบผลสำเร็จ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาการขนส่งทางอากาศต่อไป
.
ทั้งนี้ เมื่อโครงการก่อสร้างต่างๆ แล้วเสร็จทั้งหมดจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายการคมนาคมขนส่งของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดได้อย่างเป็นรูปธรรม สามารถรองรับปริมาณการเดินทางและขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งในช่วงเวลาปกติและโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเทศกาล ทำให้การเดินทางเชื่อมโยงระหว่างจังหวัดและระหว่างภูมิภาคเป็นไปอย่างสะดวก รวดเร็ว คล่องตัว และมีความปลอดภัย อีกทั้งยังเป็นฟันเฟืองสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ส่งเสริมการท่องเที่ยว ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในภูมิภาคและประเทศไทยให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน