xs
xsm
sm
md
lg

“สมศักดิ์” แจงเครือข่ายยาเสพติดใช้ไทยแค่ผ่านลักลอบขนส่งไปปลายทาง เพราะคมนาคมสะดวก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - “รมว.ยธ.” แถลงเหตุประเทศไทยถูกแก๊งยาเสพติดใช้เป็นศูนย์กลาง เพราะขนส่งสะดวก-ติดแหล่งผลิตสำคัญ ประสานร่วมมือหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ

วันนี้ (7 มิ.ย.) ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (รมว.ยธ.) พร้อมด้วย นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการ ป.ป.ส. ร่วมแถลงสถานการณ์ภาพรวมการสกัดกั้นและการลักลอบส่งออกยาเสพติดไปต่างประเทศ

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้พบการลักลอบส่งยาเสพติดหลายครั้งมาจากประเทศไทย เนื่องจากที่ตั้งประเทศติดกับสามเหลี่ยมทองคำซึ่งเป็นแหล่งผลิตยาเสพติดสำคัญ การคมนาคมสะดวกเอื้อต่อการลักลอบขนส่งและนำเข้า ทั้งทางชายแดนภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคตะวันตก แม้จะมีการสกัดกั้นได้เป็นจำนวนมากแต่ก็มีที่เล็ดรอดผ่านเข้ามาได้ อีกทั้ง ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางภูมิภาค การคมนาคมขนส่งที่สะดวกรวดเร็ว ทั้งทางบก ทางเรือ ทางอากาศ ทำให้ขบวนการค้ายาเสพติดใช้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการพบปะเจรจา เตรียมการซุกซ่อนอำพรางยาเสพติด ตลอดจนดำเนินการด้านการจัดส่งยาเสพติดไปประเทศปลายทาง

“ยาเสพติดที่ตรวจยึดได้ภายในประเทศ นับแต่ปลายปี 2562 มีปริมาณมากขึ้น ในทุกๆ ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งไอซ์ และเฮโรอีน ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาร่วมกันของหลายประเทศในภูมิภาคจะถูกนำเข้ามาเพื่อส่งผ่านไปต่างประเทศแต่ก็สกัดกั้นตรวจยึดได้จำนวนมาก เมื่อเทียบกับที่หลุดรอดไปปลายทาง เช่น ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งได้สั่งการให้ สำนักงาน ป.ป.ส. ประสานความร่วมมือกับประเทศปลายทาง จนกระทั่งไปสู่การจับกุม”

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า จากสถิติการสกัดกั้นจับกุมยาเสพติดในประเทศไทยตั้งแต่ ต.ค. 63 - มิ.ย. 64 ได้ยาบ้า 344 ล้านเม็ด ไอซ์ 20,662 กก. เฮโรอีน 2,760 กก. ยาอี 279,868 เม็ด กัญชา 19,475 กก. โคเคน 42 กก. และคีตามีน 1,058 กก. ส่วนสถิติการจับกุมยาเสพติดในประเทศไทยที่เตรียมส่งออกต่างประเทศ ตั้งแต่เดือน ต.ค. 63 - มิ.ย. 64 รวม 84 คดี เป็นไอซ์ 72.08 กก. ยาบ้า 39,002 เม็ด เฮโรอีน 285.69 กก. ยาอี 1,922 เม็ด กัญชา 32.24 กก. โคเคน 0.005 กก. และคีตามีน 11.04 กก. ปลายทางพบเตรียมส่งออกยังประเทศต่างๆ รวม 17 ประเทศ คือ จีน มาเก๊า ไต้หวัน ฮ่องกง ฟิลิปปินซ์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ อิสราเอล นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย สเปน ยูเออี รัสเซีย อังกฤษ อเมริกา และนอร์เวย์

สถิติการจับกุมยาเสพติดในต่างประเทศที่ส่งมาจากประเทศไทยไปตั้งแต่เดือน ต.ค. 63 - มิ.ย. 64 รวม 21 คดี เป็นไอซ์ 1,203 กก. เฮโรอีน 23.5 กก. กัญชา 392 กก. คีตามีน 2.04 กก. ยาอี 1,320 เม็ด ประเทศปลายทาง คือ ยูเออี เกาหลีใต้ สิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกง ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เกือบทั้งหมดส่งโดยขบวนการค้ายาเสพติดข้ามชาติชาวจีนและแอฟริกันตะวันตก

นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า การจะป้องกันให้เรื่องยาเสพติดเป็นศูนย์ทำได้ยาก เพราะมีเรื่องของประเทศเพื่อนบ้านด้วย ซึ่งตนจะเชิญ 6 ประเทศในกลุ่มลุ่มน้ำโขงคุยแนวทางกันอีกครั้ง ซึ่งการจะทลายเครือข่ายยาเสพติดนั้นจะต้องใช้เวลา โดยเราจะเน้นที่การขยายผลจับกุมยึดทรัพย์สินเครือข่าย และเรามีแนวทางหลักๆ คือ การสร้างความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน การให้ความรู้เด็กและเยาวชน ทำให้ยาบ้ามีราคาถูกเพราะคนนิยมน้อยลง แต่กำลังการผลิตทำได้มากขึ้นและต้นทุนถูกมาก และยังเน้นเรื่องของการฟื้นฟูผู้ติดยา มาตรการทางกฎหมายที่เข้มข้นมากขึ้น และการศึกษาเทคโนโลยีและแนวทางใหม่ๆ เพื่อให้ทันสถานการณ์ ที่ผ่านมาการสกัดจับยาเสพติดที่ใช้ประเทศไทยส่งออกทำได้จำนวนมาก ซึ่งที่จับได้ในต่างประเทศมีจำนวนน้อยแต่มีราคาสูงกว่าเดิมถึง 10 เท่า ทำให้ข่าวการจับกุมในต่างประเทศมีมูลค่าสูง

นอกจากนี้ ล่าสุด เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. ชุดปฏิบัติการสกัดกั้นยาเสพติดพื้นที่ท่าอากาศยาน (Airport Interdiction Task Force : AITF) ประกอบด้วย ป.ป.ส., บช.ปส., ศุลกากร, ศรภ. ร่วมกันจับกุม นายวิกเตอร์ ชอบูอีซี อูโกวเค่ (Mr.Victor Chibueze Ugwoke) สัญชาติไนจีเรีย ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา ที่ 90/2561 ลงวันที่ 2 มีนาคม 2561 ข้อหา “ร่วมกันมียาเสพติดให้โทษประเภท 2 (โคคาอีน) เข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต และร่วมกันมียาเสพติดให้โทษประเภท 2 (โคคาอีน) ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต” ได้ที่ ณ บริเวณล๊อบบี้โรงแรมแห่งหนึ่ง ย่านงามวงศ์วาน พร้อมจับกุม น.ส.วิจิตตรา ก๊กรัมย์ ภรรยา ซึ่งเป็นบุคคลตามหมายจับคดียาเสพติด ระหว่างขับรถมารับบริเวณโรงแรม จึงได้ร่วมกันจับกุม จากนั้นนำผู้ต้องหาทั้ง 2 เข้าตรวจค้นที่พักย่านลาดพร้าว พบยาเสพติดให้โทษประเภท 2 (โคเคน) น้ำหนัก อยู่ภายในห้องพัก จึงแจ้งข้อหาเพิ่มเติมมียาเสพติดให้โทษประเภท 2 (โคคาอีน) ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต

ด้าน นายวิชัย กล่าวว่า ที่ผ่านมา สำนักงาน ป.ป.ส. มีการขยายผลจับกุมทุกคดี แต่การนำเข้ายาเสพติดนั้นจะสามารถขยายผลจับกุมได้บ่อยครั้งกว่าการส่งออก เนื่องจาก ทุกคดีมีผู้รอรับยาเสพติดในประเทศ แตกต่างกับการลักลอบส่งออกยาเสพติด ผู้ส่งยาเสพติดจะอำพรางใช้การส่งผ่านหลายบริษัท และใช้ผู้อื่นดำเนินการแทนการสืบสวนพบว่า มีการลักลอบนำเข้าและส่งออกยาเสพติด โดยกลุ่มผู้ค้ายาเสพติด 3 กลุ่ม คือ กลุ่มคนไทย ร่วมกับกลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มแอฟริกันตะวันตก และกลุ่มประเทศปลายทางมาดำเนินการเอง

การซุกซ่อนลำเลียงยาเสพติดเป็นอีกหนึ่งรูปแบบในการอำพรางเพื่อขนส่งยาเสพติด ซึ่งก่อนสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด-19 แบ่งได้เป็น 4 ประเภท คือ 1.ซุกซ่อนหรือดัดแปลงมากับกระเป๋าสัมภาระ 2. ซุกซ่อนหรือผสมกับของใช้ เช่น ครีมทาผิว ยาสระผม 3. ซุกซ่อนมาในส่วนต่างๆ ของร่างกาย และ 4. กลืนลงท้อง แต่หลังจากมีสถานการณ์โควิด-19 พบว่า มีลักษณะอำพรางดัดแปลงมากับอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า กรอบรูป ของใช้ต่างๆ เป็นต้น แต่เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด รูปแบบการซุกซ่อนยาเสพติดได้เปลี่ยนแปลงไปใช้การส่งผ่านพัสดุระหว่างประเทศ ผ่านบริษัทขนส่งพัสดุภัณฑ์ภายในประเทศ ก่อนจะนำไปส่งต่อบริษัทขนส่งระหว่างประเทศอีกที เพื่อสกัดการสืบสวนเชื่อมโยงถึงตัวผู้ส่ง

นายวิชัย กล่าวอีกว่า การติดต่อสื่อสารของกลุ่มผู้ลักลอบส่งยาเสพติด จะใช้วิธีการ สั่งการทางแอปพลิเคชันไลน์หรือการสนทนาผ่านแอปพลิเคชั่นเฟซบุ๊กโดยจะใช้บัญชีผู้ใช้ปลอม (อวตาร) ไม่สามารถยืนยันตัวตนได้ ด้วยเหตุนี้ เครื่องมือและอุปกรณ์เทคโนโลยีสมัยใหม่ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการสืบสวนยุคปัจจุบัน รูปแบบการโอนเงิน จากการสืบสวนก่อนนี้ กลุ่มผู้ลักลอบส่งยาเสพติดจะใช้การโอนเงินผ่านเคาท์เตอร์ธนาคาร ตู้ ATM แอปพลิเคชั่นธนาคาร และปัจจุบันกลุ่มนี้หันมาใช้การฝากเงินสดผ่านตู้รับฝากอัตโนมัติ โดยว่าจ้างผู้อื่นเป็นผู้ฝาก ข้อมูลการสกัดกั้นจับกุมคดียาเสพติดในประเทศไทย ตั้งแต่ปลาย ปี พ.ศ. 2562 ถึงปัจจุบัน สกัดกั้นยาเสพติดได้มากขึ้น จำแนกเป็น ไอซ์ 60,818 กก. เฮโรอีน 4,298 กก. และยาบ้า 1,182,910,461 เม็ด สืบเนื่องมาจาก นโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นการบูรณาการปราบปรามยาเสพติด และความร่วมมือกับหน่วยงานระหว่างประเทศ






กำลังโหลดความคิดเห็น