“ศักดิ์สยาม” เร่งเครื่องคมนาคม ประเดิมบิ๊กโปรเจกต์ Land Bridge ดันไทยสู่ฮับขนส่งอาเซียน ลุยมอเตอร์เวย์โคราช-อุบล หนองคาย-แหลมฉบัง พ่วงวงแหวนรอบที่ 3 คาดเห็นผล 65 ส่วนภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์พร้อม 100% เผยแอร์ไลน์จอง Slot 90% หวังคืนร่างเสือ ศก.
วันนี้ (23 มิ.ย.) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยในการกล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “Empowering Thailand 2021 เคลื่อนอนาคตไทย ด้วยการลงทุน” ในวันนี้ (23 มิ.ย. 2564) ว่า กระทรวงคมนาคม ได้ผลักดันให้ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางขนส่งในภูมิภาคอาเซียน ครอบคลุมทั้งทางบก ทางราง ทางอากาศ และทางน้ำนั้น ไทยมีจุดยุทธศาสตร์ที่ตั้งอยู่ศูนย์กลางอาเซียน โดยเป้าหมายของกระทรวงคมนาคม ต้องการผลักดันโครงสร้างพื้นฐานทุกโหมดการขนส่งครบมิติ โดยเฉพาะการเชื่อมต่อโครงการให้สอดรับกับการศึกษาโครงการ MR-MAP เพื่อพัฒนาโครงข่ายโครงสร้างพื้นฐานที่ประกอบด้วยถนน และรถไฟ
สำหรับ MR-MAP นั้น จะเชื่อมโยงภูมิภาคเข้าด้วยกัน โดยเล็งเห็นถึงการพัฒนาเชิงบูรณาการ และลดผลกระทบต่อประชาชนจากการเวนคืนที่ดินไปพร้อมกันเบื้องต้นจะนำร่อง 3 เส้นทาง ระยะทางรวม 2,620 กิโลเมตร (กม.) ได้แก่ 1.เส้นทางเชียงราย (ด่านเชียงของ)-สงขลา (ด่านชายแดนมาเลเซีย) ระยะทาง 1,680 กม. 2.เส้นทางหนองคาย (ด่านหนองคาย)-แหลมฉบัง ระยะทาง 490 กม. และ 3.เส้นทางบึงกาฬ (ด่านบึงกาฬ)-สุรินทร์ (ด่านช่องจอม) ระยะทาง 470 กม. ขณะที่ อีก 6 แนวเส้นทางที่เหลือ ระยะทางรวม 2,380 กม. นั้น จะดำเนินการต่อไป เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียนต่อไป
ขณะที่ ในส่วนของทางน้ำนั้น ซึ่งยอมรับว่า ประเทศไทยมีศักยภาพในเรื่องดังกล่าว เนื่องจากมีทะเลอ่าวไทย และฝั่งอันดามัน พร้อมทั้งการเชื่อมต่อการเดินทางกับมหาสมุทรอินเดีย และเชื่อมต่อโลจิสติกส์จากภาคใต้สู่ภาคกลาง โดยใช้ต้นแบบของโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้และเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (Land bridge) เชื่อมจากท่าเรือทั้ง 2 ฝั่ง (ชุมพร-ระนอง) เพื่อลดระยะเวลาในการขนส่ง และจะเป็นเส้นทางการขนส่งที่สั้นและตรงที่สุด ไม่ต้องผ่านไปยังช่องแคบมะละกา โดยเส้นทางดังกล่าว จะเป็นเส้นทางโลจิสติกส์ที่สำคัญในภูมิภาคด้วย
ในส่วนของโครงการ Land bridge ยังสามารถเชื่อมให้ประเทศไทยเป็นเส้นทางการขนส่งสินค้าทางเรือของโลก รวมถึงเพื่อเชื่อมฐานการผลิตจาก EEC เข้าสู่ Land bridge เพื่อส่งออกไปยังประเทศในกลุ่ม BIMSTEC ทั้งนี้ โครงการ Land bridge จะเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคต สำหรับประเทศไทยอย่างแท้จริง โดยจะเชื่อมโยงประเทศไทยกับเส้นทางการค้าของเอเชียและของโลก
นายศักดิ์สยาม กล่าวต่ออีกว่า การลงทุนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจนั้น กระทรวงคมนาคมได้เร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณ 1.8 แสนล้านบาท ซึ่งในปัจจุบันได้เบิกจ่ายไปแล้วประมาณ 9 หมื่นล้านบาท หรือ 50% ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคม ได้ให้ความสำคัญในโครงการ Land bridge ที่จะต้องเร่งดำเนินการเป็นโครงการแรก ตามด้วยโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) เส้นทางนครราชสีมา-อุบลราชธานี และเส้นหนองคาย-แหลมฉบัง รวมถึงโครงการวงแหวนรอบกรุงเทพมหานครรอบที่ 3 เพื่อเป็นเส้นทางการขนส่งสินค้าเส้นทางใหม่ ลดปัญหาการขนส่งผ่านพื้นที่ชั้นในกรุงเทพมหานคร อย่างไรก็ตาม คาดว่า ในปี 2565 จะเห็นรูปแบบที่ชัดเจน
นายศักดิ์สยาม กล่าวอีกว่า ในส่วนของนโยบาย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ได้กำหนดแนวทางการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติภายใน 120 วัน โดยจะนำร่องที่ จ.ภูเก็ต ในวันที่ 1 ก.ค. 2564 เป็นที่แรก (ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์) ทั้งนี้ จากข้อมูลล่าสุด มีสายการบินจองตารางการบิน (Slot) แล้วประมาณ 80-90% โดยกระทรวงคมนาคมได้เตรียมความพร้อม 100% ในทุกระบบการขนส่ง ทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ อย่างไรก็ตาม เราต้องมีความเชื่อมั่นในการบริหารงานของรัฐบาลที่จะดำเนินการต่อไป
“ขอให้มั่นใจว่า หากประเทศไทยดำเนินการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ ทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ ได้ตามแผนประเทศไทยจะกลับไปเป็นเสือเศรษฐกิจของอาเซียนได้อย่างแน่นอน” นายศักดิ์สยาม กล่าว