“สะดวก-รวดเร็ว-ปลอดภัย” นับเป็นภารกิจสำคัญของกระทรวงคมนาคม ยุค “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ”
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่มุ่งเน้นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ขนส่ง และโลจิสติกส์ของไทย พร้อมทั้งการกำหนดนโยบายในด้านการเดินทาง ครอบคลุมทั้งทางบก ทางน้ำ ทางราง และทางอากาศอย่างครบมิติ เพราะนอกจากจะเป็นฟันเฟืองในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศแล้ว ยังเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับนานาประเทศ ที่สำคัญ คือ การยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เข้ามาใช้ในการบริหารจัดการเพื่ออำนวยความสะดวกของพี่น้องประชาชน “สร้างงาน สร้างโอกาส สร้างรายได้”
จากภารกิจดังกล่าว เจ้ากระทรวงคมนาคม “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” จึงเดินหน้ายกระดับ และเพิ่มประสิทธิภาพการคมนาคมขนส่งมาตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ จวบจนจะก้าวเข้าสู่ปีที่ 3 ในเร็วๆ นี้ และล่าสุด คือ ความสำเร็จในการผลักดันนโยบายการให้รถยนต์ส่วนบุคคลสามารถให้บริการรับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือเรียกง่ายๆ คือ “แอปพลิเคชั่น” ซึ่งจะทำให้เป็นการเพิ่มทางเลือกในการเดินทางของประชาชนได้อย่างสะดวก สบาย อีกทั้งยังส่งเสริมให้ผู้ขับรถยนต์ดังกล่าว สามารถประกอบอาชีพได้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป
ไม่เพียงเท่านั้น ยังเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนนำทรัพยากรที่มีอยู่มาใช้ให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุดตามแนวทางเศรษฐกิจแบ่งปัน (Sharing Economy) โดยการให้ประชาชนสามารถนำรถยนต์ส่วนบุคคลมาให้บริการรับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างถูกต้อง ซึ่งสอดคล้องกับบริบทของสังคมและวิถีการใช้ชีวิตของประชาชนที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน ประกอบกับเกิดความเรียบร้อยและความปลอดภัยแก่ผู้โดยสาร นอกจากนี้ ยังจะเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาการจราจร ที่ยิ่งนับวัน ยิ่งติดขัดสาหัสเป็นอย่างมาก
อีกไม่นานเกินรอ รถยนต์ส่วนบุคคลจะวิ่งให้บริการรับจ้างผ่านแอปพลิเคชั่นให้กับประชาชนแล้ว เพราะล่าสุด เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2564 ที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้ประกาศเผยแพร่กฎกระทรวง รถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2564 ซึ่งได้กำหนดให้รถยนต์ หรือการนํารถยนต์นั่งส่วนบุคคลมาจดทะเบียนเปลี่ยนประเภท เป็นรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยภายหลังราชกิจจาเผยแพร่กฎกระทรวงฯ ดังกล่าวแล้ว กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) มีระยะเวลาภายใน 30 วัน ที่จะต้องออกประกาศกําหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข การรับรองผู้ให้บริการ และแอปพลิเคชัน ที่จะนํามาให้บริการตามฐานอํานาจที่กําหนดในร่างกฎกระทรวงฯ
ส่วนจะเริ่มให้บริการได้เมื่อไหร่นั้น อดทนรออีกอึดใจเดียว เพราะในระหว่างนี้ อยู่ในกระบวนการดำเนินการตามขั้นตอน ซึ่งคาดว่า จะมีผลใช้บังคับภายใน ก.ค. 2564 จากนั้น ประชาชนที่มีความประสงค์ที่จะประกอบอาชีพขับรถยนต์รับจ้างผ่านแอปพลิเคชัน สามารถไปสมัครเป็นสมาชิกกับผู้ให้บริการรถยนต์รับจ้างฯ ที่ ขบ. รับรอง และดำเนินการติดตั้งแอปพลิเคชันที่ใช้ในการให้บริการ นำหลักฐานต่างๆ พร้อมรถยนต์ส่วนบุคคลมาเปลี่ยนประเภทการจดทะเบียนเป็นรถยนต์รับจ้าง ก่อนออกให้บริการได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยผู้ให้บริการแอปพลิเคชันต้องมายื่นขอรับรองและเมื่อได้รับการรับรองแล้ว จึงจะสามารถดำเนินการขึ้นทะเบียนให้ประชาชนที่มีความประสงค์จะขับรถยนต์รับจ้างผ่านแอปพลิเคชัน
เมื่อมาเปิดรายละเอียดหรือสาระสำคัญของกฎกระทรวงฯ พบว่า การจดทะเบียนรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ต้องเป็นรถที่มีประตูไม่น้อยกว่า 4 ประตูโดยแบ่งรถออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1.ขนาดเล็ก มีกําลังในการขับเคลื่อนตั้งแต่ 50-90 กิโลวัตต์ 2.ขนาดกลาง มีกําลังในการขับเคลื่อนมากกว่า 90 กิโลวัตต์ แต่ไม่เกิน 120 กิโลวัตต์ และ 3.ขนาดใหญ่ มีกําลังในการขับเคลื่อนมากกว่า 130 กิโลวัตต์ขึ้นไป ทั้งนี้ กรณีเป็นรถที่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าในการขับเคลื่อนต้องมีความเร็วสูงสุดได้ไม่น้อยกว่า 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่ง 1 คน จะสามารถจดทะเบียนได้เพียง 1 คันเท่านั้น
นอกจากนี้ ต้องมีและใช้อุปกรณ์เครื่องสื่อสาร เพื่อการรับงานจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ ขบ.ให้การรับรอง ซึ่งอย่างน้อยต้องมีข้อมูลเกี่ยวกับตัวรถและผู้ขับรถ ระบบการแสดงตัวตนของผู้ขับรถ ระบบการคิดอัตราค่าโดยสารล่วงหน้า ระบบติดตามตัวรถ ระบบตรวจสอบเวลาและสถานที่รับส่ง และระบบแจ้งการร้องเรียนหรือขอความช่วยเหลือ โดยระบบอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าว ต้องดําเนินการโดยผู้ให้บริการระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ ขบ.ให้การรับรอง รวมทั้งต้องมีการจัดเก็บข้อมูล ที่สามารถตรวจสอบย้อนหลังได้อย่างน้อย 1 เดือน
ทั้งนี้ ให้ใช้สีของตัวถังรถตามสีเดิมที่ปรากฏในใบคู่มือการจดทะเบียนรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ก่อนการจดทะเบียนเปลี่ยนประเภทเป็นรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ และให้มีอายุการใช้งานได้ไม่เกิน 9 ปีนับแต่วันที่จดทะเบียนครั้งแรก ในกรณีที่รถยนต์ครบอายุการใช้งาน 9 ปีแล้ว ให้เจ้าของรถนําใบคู่มือจดทะเบียนรถไปแสดงต่อนายทะเบียน เพื่อบันทึกหลักฐาน การระงับทะเบียนหรือเปลี่ยนประเภทรถ ทั้งนี้ ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ครบอายุการใช้งาน
ส่วนเรื่องแผ่นป้ายทะเบียนรถของรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ให้มีขนาด ลักษณะ และสีเช่นเดียวกับแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกินเจ็ดคน โดยอาจให้ใช้แผ่นป้ายทะเบียน รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกินเจ็ดคนเดิมก็ได้ นอกจากนี้ ต้องมีการตรวจสภาพรถตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กําหนดในกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 15 ทวิ รวมทั้งต้องรักษาความสะอาด และความเป็นระเบียบเรียบร้อยทั้งภายนอกและภายในตัวรถ
หลายคนคงตั้งคำถามว่า แล้วอัตราค่าโดยสาร มีราคาเท่าไหร่ แตกต่างจากรถแท็กซี่ในปัจจุบันหรือไม่อย่างไร ซึ่งกฎกระทรวงฯ ระบุไว้ชัดเจนว่า ค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารและค่าบริการอื่น ได้กำหนดไว้ 2 เรทราคา คือ 1.รถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็ก และขนาดกลาง ให้กําหนดโดยถือเกณฑ์ระยะทาง 2 กิโลเมตร (กม.) แรก ไม่เกิน 50 บาท และ กม.ต่อๆ ไป กม.ละไม่เกิน 12 บาท ในกรณีที่ระบบการคิดอัตราค่าโดยสารล่วงหน้าประเมินสภาพการจราจรว่า ไม่สามารถเคลื่อนที่หรือเดินรถต่อไปได้ตามปกติวิสัย ในอัตรานาทีละไม่เกิน 3 บาท ในส่วนกรณีการจ้างผ่านศูนย์บริการสื่อสารหรือระบบสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์ กําหนดได้ไม่เกิน 50 บาท และค่าบริการเพิ่มกรณีอื่น กําหนดได้ไม่เกิน 200 บาท
2.รถขนาดใหญ่ กำหนดค่าจ้างบรรทุกคนโดยสาร โดยถือเกณฑ์ระยะทาง 2 กม.แรก ไม่เกิน 200 บาท และ กม.ต่อๆ ไป กม.ละไม่เกิน 30 บาท ในกรณีที่ระบบการคิดอัตราค่าโดยสารล่วงหน้า ประเมินสภาพการจราจรว่าไม่สามารถเคลื่อนที่หรือเดินรถต่อไปได้ตามปกติวิสัย ในอัตรานาทีละไม่เกิน 10 บาท ส่วนกรณีการจ้างผ่านศูนย์บริการสื่อสารหรือระบบสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์กําหนดได้ ไม่เกิน 100 บาท และค่าบริการเพิ่มกรณีอื่น กําหนดได้ไม่เกิน 200 บาท อย่างไรก็ตาม การเรียกเก็บค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารนั้น ให้เรียกเก็บตามจํานวนเงิน ซึ่งคํานวณโดยระบบการคิดอัตราค่าโดยสารล่วงหน้าที่ปรากฏในอุปกรณ์เครื่องสื่อสาร เพื่อการรับงานจ้าง โดยต้องแจ้งให้คนโดยสารทราบก่อนการให้บริการ
… นับเป็นผลงานของกระทรวงคมนาคม ที่สร้างมิติใหม่ในการให้บริการรถรับจ้างสาธารณะแก่ประชาชน ที่จะมีทางเลือกในการเดินทางที่สะดวก ปลอดภัย และสอดรับความต้องการของผู้โดยสาร