กรมทางหลวงชนบทเผยสะพานข้ามแม่น้ำน่าน จ.พิษณุโลกก้าวหน้ากว่า 89% เป็นสะพานเหล็กโค้ง (Steel Arch Bridge) ไม่มีเสาตอม่อกีดขวางในแม่น้ำ คาดเสร็จ ใน ก.ย. 64 ขึ้นแท่นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ ส่งเสริมเศรษฐกิจการท่องเที่ยวในจังหวัดอย่างยั่งยืน
นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ทช.อยู่ระหว่างดำเนินโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำน่าน อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลกซึ่งปัจจุบัน การก่อสร้างมีความก้าวหน้าไปแล้วกว่า 89% ขณะนี้อยู่ระหว่างการเทพื้นสะพานและทางเท้า หลังจากนั้นจะดำเนินการติดตั้งราวสะพานและระบบไฟฟ้าแสงสว่างต่อไป คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์ในเดือนกันยายน 2564 นี้
โดยสะพานดังกล่าวตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าศูนย์ประวัติศาสตร์พระราชวังจันทน์ เชื่อมต่อไปยังฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่าน ซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร วัดนางพญา และวัดราชบูรณะ ตัวสะพานมีความยาวรวม 120 เมตร ผิวทางกว้าง 7 เมตร รองรับการจราจร 2 ช่องจราจร (ไป-กลับ) แต่ละด้านของสะพานมีทางเท้าและทางจักรยาน กว้างด้านละ 3 เมตร สำหรับโครงสร้างสะพานช่วงข้ามแม่น้ำมีลักษณะเป็นสะพานเหล็กโค้ง (Steel Arch Bridge) เพื่อหลีกเลี่ยงการก่อสร้างเสาตอม่อในแม่น้ำอันอาจจะเป็นอุปสรรคต่อประเพณีการแข่งเรือยาวที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี
ส่วนของราวสะพานและเสาไฟฟ้าแสงสว่างนั้นได้รับการออกแบบให้มีความสวยงาม โดยนำรูปแบบทางจิตรกรรมของท้องถิ่นมาประยุกต์ ประกอบกับลักษณะทางโครงสร้างของสะพานที่มีสถาปัตยกรรมที่มีความสวยงามและแตกต่างจากสะพานอื่น ซึ่งเมื่อก่อสร้างสะพานแล้วเสร็จจะเป็นแลนด์มาร์ก (Landmark) ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดพิษณุโลก
จังหวัดพิษณุโลกเป็นจังหวัดที่มีแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และศาสนาเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้บริเวณโดยรอบแหล่งท่องเที่ยวหรือสถานที่สำคัญมีปริมาณการจราจรที่หนาแน่น ทช.จึงได้ดำเนินการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำน่าน อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยว กระจายรายได้สู่ชุมชน อำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวให้ได้รับความสะดวกสบายในการเดินทางระหว่างแหล่งท่องเที่ยวได้อย่างต่อเนื่องเป็นวงรอบ รวมถึงช่วยบรรเทาความแออัดของการจราจรบริเวณสะพานนเรศวร