กรมทางหลวงชนบท เร่งแก้ไขสามแยกดอนคา ถนนสาย รบ.4015 จ.ราชบุรี เปลี่ยนจากทางโค้งเป็นสามแยกตัว T และสอบข้อเท็จจริงสร้างไม่ตรงแบบ
นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) พร้อมด้วย นายไกวัลย์ โรจนานุกูล รองอธิบดีกรมทางหลวงชนบท และ นายศาศวัต ภูริภัสสรกุล ผู้อำนวยการสำนักอำนวยความปลอดภัย ได้ขี้แจงกรณีที่มีคลิปเผยแพร่ทางสื่อโซเชียล กรณีผู้ใช้ทาง บริเวณแยกดอนคา ถนนทางหลวงชนบทสาย รบ.4015 แยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3236-บ้านตากแดด อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี ระบุว่า มีความสับสน กับการใช้เส้นทาง ซึ่ง กรมทางหลวงชนบทจะเร่งดำเนินการปรับปรุงบริเวณดังกล่าว ภายใน 2-3 วัน
นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท เปิดเผยว่า ถนนทางหลวงชนบทสาย รบ.4015 แยก ทล. 3236-บ้านตากแดด อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี มีลักษณะทางกายภาพเดิม ความกว้าง 7 เมตร ไหล่ทางข้างละ 1.50 เมตร ทิศทางเลี้ยวไปทางซ้าย ซึ่งมีถนนองค์การบริหารส่วนตำบลดอนคา กว้าง 6 เมตร มาเชื่อมตรงด้านขวา เป็นลักษณะสามแยก
จากสถิติที่ผ่านมา พบว่า มีการเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ซึ่งเดิมไม่ได้เปิดช่องทางให้เลี้ยวขวา เพื่อไปยังถนนขององค์การบริหารส่วนตำบลดอนคาได้ เนื่องจากบริเวณดังกล่าวมีปริมาณการจราจรเป็นจำนวนมากถึง 4,282 คัน/วัน โดยเฉพาะรถบรรทุก 324 คัน/วัน อันจะก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้ทาง
ต่อมา กรมทางหลวงชนบท โดยสำนักงานทางหลวงชนบทที่ 4 (เพชรบุรี) ได้ดำเนินการออกแบบและปรับปรุงทางแยกบริเวณถนนทางหลวงชนบทสาย รบ.4015 แยก ทล. 3236-บ้านตากแดด อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี ช่วง กม.ที่ 7+370 ถึง กม.ที่ 7+830 เพื่ออำนวยความสะดวกต่อประชาชนที่ต้องการเลี้ยวขวาไปยังถนนขององค์การบริหารส่วนตำบลดอนคา
ซึ่งมีการลงพื้นที่ตรวจสอบบนเส้นทางดังกล่าวได้พบว่าทำให้ประชาชนผู้ใช้เส้นทางเกิดความสับสนและไม่ปลอดภัย ซึ่งการลงพื้นที่ในครั้งนี้มีผู้เชี่ยวชาญของกรมทางหลวงชนบท นายอำเภอบางแพและผู้นำท้องถิ่นเข้าร่วมตรวจสอบพร้อมร่วมแสดงความคิดเห็นด้วย
ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความสะดวกปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน กรมทางหลวงชนบท จึงมีความเห็นว่า ต้องปรับปรุงบริเวณสามแยกดังกล่าว ซึ่งมีแนวทางการแก้ไข โดยจะมีการดำเนินการเปลี่ยนจากทางโค้งให้เป็นสามแยกแบบตัว T (T-intersection) โดยจะดำเนินการรื้อเกาะยกบริเวณกลางแยกออก ปรับช่องจราจรใหม่ให้เหมาะสม แก้ไขตำแหน่งเส้นหยุดให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น โดยรถที่จะเลี้ยวขวาจาก ทล. 3236 จะต้องมีการหยุดรอเลี้ยวก่อนเคลื่อนที่ผ่านบริเวณทางแยก แก้ไขแนวเกาะยก และป้ายจราจรให้สอดคล้องกับกายภาพถนนใหม่
นอกจากนี้ ในการตรวจสอบเบื้องต้น พบความบกพร่องใน 2 ส่วน คือ ขั้นการออกแบบ และการควบคุมงานก่อสร้าง เนื่องจากเมื่อเปรียบเทียบรูปแบบ พบว่า การก่อสร้างไม่ตรงกับแบบที่ออกแบบไว้ ดังนั้น จะต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยตนได้สั่งการให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน
พร้อมกันนี้ ได้สั่งการให้แขวงทางหลวงชนบททั่วประเทศ สำรวจถนนในพื้นที่รับผิดชอบ ว่า บริเวณใดที่มีปัญหาเหมือนกับแยกดอนคา หรือไม่ หากพบมีปัญหาจะต้องเร่งแก้ไขทันที เพื่อให้ประชาชนเดินทางได้สะดวกและปลอดภัย