“จุรินทร์” ถกทูตมองโกเลีย ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าการค้าเป็น 3,000 ล้าน ในปี 66 เห็นชอบตั้งคณะอนุกรรมการทางการค้า เป็นเวทีเจรจาค้าขาย จับมือลดต้นทุนการขนส่ง หาเส้นทางขนสินค้าทางบกแทนทะเล พร้อมดันส่งออก “ข้าว อาหาร ยางพารา” มองโกเลียขอไทยเพิ่มนำเข้า “เนื้อสัตว์ นม” ชวนลงทุนธุรกิจบริการสุขภาพ
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลัง นายทูมูร์ อามาร์ซานา เอกอัครราชทูตมองโกเลียประจำประเทศไทย เข้าพบปะหารือว่า เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่กระทรวงพาณิชย์ได้มีโอกาสต้อนรับท่านทูตจากมองโกเลีย หลังจากมีความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศมา 47 ปี โดยทั้ง 2 ฝ่ายมีข้อสรุปร่วมกันที่จะผลักดันการเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันจากปี 2563 ที่มีมูลค่า 1,140 ล้านบาท เป็น 3,000 ล้านบาทในปี 2566 ซึ่งมีความเป็นไปได้สูง เพราะมองโกเลียจะใช้ไทยเป็นประตูสู่ตลาดอาเซียน และไทยจะใช้มองโกเลียเป็นประตูการค้าสู่รัสเซีย หรือกลุ่มประเทศที่แตกออกจากรัสเซียได้
ทั้งนี้ ยังได้เห็นตรงกันที่จะตั้งคณะอนุกรรมการทางการค้า มีกระทรวงพาณิชย์เป็นเจ้าภาพ ภายใต้คณะกรรมการร่วมเจรจาไทย-มองโกเลีย ที่กระทรวงต่างประเทศเป็นผู้รับผิดชอบ โดยจะใช้เป็นเวทีเจรจาการค้าระหว่างกัน ก่อนที่จะพัฒนาไปเป็นคณะกรรมการร่วมทางการค้า (JTC) ในอนาคต และจะร่วมมือกันเร่งกำหนดข้อตกลงเรื่องการคุ้มครองการลงทุนระหว่างกันและเร่งบังคับใช้ข้อตกลงการจัดเก็บภาษีซ้อนโดยเร็ว รวมทั้งจะทำงานร่วมกันในการลดต้นทุนการขนส่ง เพราะเดิมการส่งออกไปมองโกเลีย หรือจากมองโกเลียมาไทย ต้องไปผ่านจีนทางทะเลก่อน แต่หากสามารถส่งไปทางบกได้ ก็จะเป็นทางเลือกและลดต้นทุน
นายจุรินทร์ กล่าวว่า ไทยได้ใช้โอกาสนี้ ขอให้มองโกเลียสนับสนุนการนำเข้าสินค้าอาหารของไทย ทั้งข้าว เครื่องปรุงรส อาหารกระป๋อง อาหารแปรรูป เครื่องดื่ม น้ำตาล ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องมือแพทย์ และกระดาษ ขอให้เชิญชวนผู้นำเข้ามองโกเลียเข้าร่วมงานแสดงสินค้าอาหาร THAIFAX ที่กระทรวงพาณิชย์จะจัดขึ้นในเดือน ก.ย. 2564 และให้ช่วยประสานเอกชน หรือผู้นำเข้าของมองโกเลียเข้าร่วมงานเจรจาจับคู่ธุรกิจ เพื่อเพิ่มโอกาสในการทำการค้าระหว่างกัน และหากโควิด-19 คลี่คลาย ให้ประสานนักท่องเที่ยวมองโกเลียเดินทางมาท่องเที่ยวในไทย เพื่อเข้ามารับบริการด้านสุขภาพ หรือท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
ส่วนมองโกเลีย ได้ขอให้ไทยช่วยสนับสนุนการนำเข้าเนื้อสัตว์ และนม โดยตลาดใหญ่ของมองโกเลีย คือ จีน และรัสเซีย ซึ่งได้แจ้งว่า ไทยยินดีให้การสนับสนุน แต่ต้องผ่านการรับรองความปลอดภัยด้านอาหารจากกรมวิชาการเกษตรและกรมปศุสัตว์ของไทยตามขั้นตอนให้ครบถ้วนก่อน และขอให้สนับสนุนการจัดทำข้อตกลงเรื่องการคุ้มครองการลงทุนระหว่างกัน ซึ่งได้แจ้งไปว่าไทยกำลังจะทำโมเดลกลางรูปแบบการคุ้มครองการลงทุนที่เป็นมาตรฐาน สามารถนำไปใช้กับทุกประเทศในโลก และสนใจทำข้อตกลงเรื่องการไม่จัดเก็บภาษีซ้อน การลดต้นทุนด้านการขนส่ง รวมทั้งได้แจ้งว่า ยินดีต้อนรับนักลงทุนไทยด้านสุขภาพเข้าไปลงทุน ซึ่งล่าสุด มีโรงพยาบาลไทยบางแห่งเข้าไปลงทุนแล้ว