xs
xsm
sm
md
lg

คลังเผย ศก.เดือน มี.ค.เริ่มฟื้นตัว ทั้งการส่งออก การใช้จ่ายภาคเอกชน ขณะที่ผลผลิตภาคอุตฯ กลับมาเป็นบวก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คลังเผยเศรษฐกิจไทยในเดือนมีนาคม 2564 ได้รับแรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวของการส่งออกสินค้า และการใช้จ่ายภาคเอกชน ขณะที่ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมสามารถกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้เช่นกัน อย่างไรก็ดี จำเป็นต้องติดตามผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นในเดือนเมษายน 2564 ต่อไป

น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง พร้อมด้วยนายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และนายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนมีนาคม 2564 พบว่า “เศรษฐกิจไทยในเดือนมีนาคม 2564 ได้รับแรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวของการส่งออกสินค้า และการใช้จ่ายภาคเอกชน ขณะที่ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมสามารถกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้เช่นกัน อย่างไรก็ดี จำเป็นต้องติดตามผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นในเดือนเมษายน 2564 ต่อไป” โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ขยายตัวร้อยละ 15.2 ต่อปี สอดคล้องกับการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งและปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวที่ร้อยละ 18.4 และ 15.6 ต่อปี และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลขยายตัวที่ร้อยละ 8.1 และ 8.6 ตามลำดับ สอดคล้องกับรายได้เกษตรกรที่แท้จริงที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 12.8 ต่อปี ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงมาที่ระดับ 48.5 จากระดับ 49.4 ในเดือนก่อนหน้า เนื่องจากภาครัฐประกาศงดกิจกรรมต่างๆ ในช่วงสงกรานต์ รวมถึงผู้บริโภคยังมีความกังวลต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ อย่างไรก็ดี มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐยังคงช่วยสนับสนุนกำลังซื้อของผู้บริโภคได้อย่างต่อเนื่อง

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 14.8 ต่อปี และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลขยายตัวที่ร้อยละ 5.4 สอดคล้องกับปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่กลับมาขยายตัวร้อยละ 26.3 ต่อปี และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลขยายตัวที่ร้อยละ 0.6 สำหรับการลงทุนในหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 11.4 ต่อปี ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เช่นเดียวกันกับภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ที่ขยายตัวร้อยละ 17.8 ต่อปี


มูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวจากเดือนก่อน มูลค่าการส่งออกสินค้ารวมในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ พบว่า มีมูลค่าสูงถึง 24,222 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นอัตราการขยายตัวที่ร้อยละ 8.5 ต่อปี และเมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย พบว่า ขยายตัวที่ร้อยละ 12.0 ต่อปี โดยสินค้าที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ 1) สินค้ารถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ยาง ขยายตัวร้อยละ 43.1 และ 50.6 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับการส่งออกเม็ดพลาสติก เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และเคมีภัณฑ์ที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง 2) สินค้าเกษตรและอาหาร เช่น ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และอาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัวร้อยละ 109.2 59.2 และ 41.4 ต่อปี ตามลำดับ 3) สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) เช่น คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ โทรศัพท์และอุปกรณ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เช่น ตู้เย็นและตู้แช่แข็ง เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เป็นต้น และ 4) สินค้าที่เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ และถุงมือยาง ที่ยังคงมีคำสั่งซื้ออย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกสินค้า โดยจำแนกเป็นรายตลาดคู่ค้าหลักของไทย พบว่า ตลาดคู่ค้าหลักของไทยปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดจีนที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกันที่ร้อยละ 35.4 ต่อปี เช่นเดียวกับการส่งออกไปสหภาพยุโรป เอเชียใต้ และทวีปออสเตรเลีย ขยายตัวที่ร้อยละ 32.0 24.3 และ 16.9 ต่อปี ตามลำดับ อย่างไรก็ดี การส่งออกไปตลาดอาเซียน 9 ประเทศ ลดลงเล็กน้อยที่ร้อยละ -0.4 ต่อปี

เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทานปรับตัวดีจากเดือนก่อน โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนมีนาคม 2564 กลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 4.1 ต่อปี จากการขยายตัวในหมวดอุตสาหกรรมยานยนต์ น้ำตาล และอาหารสำเร็จรูป เป็นต้น สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 87.3 จากระดับ 85.1 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการผลิตกลับมาขยายตัวตามอุปสงค์ในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มฟื้นตัว เช่น กลุ่มสินค้ายานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ และน้ำมันสำเร็จรูป สำหรับบริการด้านการท่องเที่ยว พบว่า ในเดือนมีนาคม 2564 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติประเภทพิเศษ (Special Tourist Visa: STV) รวมถึงนักท่องเที่ยวกลุ่มสิทธิพิเศษ (Thailand Privilege Card) และนักธุรกิจ จำนวน 6,737 คน โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากสหรัฐอเมริกา เยอรมนี สหราชอาณาจักร และจีน เป็นต้น ในขณะที่การท่องเที่ยวภายในประเทศสะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยขยายตัวร้อยละ 71.5 ต่อปี สำหรับภาคเกษตรสะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.6 ต่อปี จากการเพิ่มขึ้นของผลผลิตสำคัญ เช่น ข้าวเปลือก ยางพารา และผลผลิตในหมวดปศุสัตว์ เช่น สุกร และไก่ เป็นต้น

เสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ -0.1 ต่อปี และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.1 ต่อปี ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 อยู่ที่ร้อยละ 53.2 ต่อ GDP ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ส่วนเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2564 อยู่ในระดับสูงที่ 245.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ


กำลังโหลดความคิดเห็น