“สุริยะ” มั่นใจภาคอุตสาหกรรมไทยช่วยเดินหน้าเศรษฐกิจหลังสัญญาณฟื้นตัวชัดเจน สะท้อนผ่านดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม มี.ค.ที่แตะระดับ 107.73 โตสูงสุดในรอบ 29 เดือนจากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวจากหลายประเทศเริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 สศอ.มั่นใจโควิด-19 รอบใหม่กระทบไม่มาก
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า แนวโน้มภาคอุตสาหกรรมไทยยังคงมีทิศทางการเติบโตต่อเนื่อง โดยสะท้อนจากการรายงานดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เดือนมีนาคม 2564 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 107.73 เพิ่มขึ้น 4.12% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน กลับมาเป็นบวกหลังเดือน ก.พ. 64 ติดลบ และเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 29 เดือน (ต.ค. 61-ก.พ. 64) โดยมีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ระดับ 69.59 ซึ่งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของไทย และการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่มีความคืบหน้าทั้งใน และต่างประเทศ
“แนวโน้มเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวจากความคืบหน้าการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทั่วโลกโดยเฉพาะสหรัฐฯ และจีนที่ทิศทางเศรษฐกิจดีขึ้นมาก ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและผู้ผลิตกลับมาสะท้อนจากสินค้าส่งออกเดือน มี.ค. ล่าสุดที่ไม่รวมทองคำและรายการพิเศษโตถึง 25.77% ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และเติบโตระดับ 2 หลักในรอบ 31 เดือน” นายสุริยะกล่าว
นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือน มี.ค. 64 ยังไม่สะท้อนผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 รอบใหม่ที่เกิดขึ้นในเดือน เม.ย. อย่างไรก็ตาม หากประเมินเบื้องต้นเชื่อว่าจะกระทบไม่มากเนื่องจากภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบในการผลิต ประกอบกับการที่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวทำให้การส่งออกมีแนวโน้มจะเติบโตมากขึ้น ประกอบกับรัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องและมีความชัดเจนในเรื่องกระจายวัคซีนโควิด-19 ที่จะสร้างความเชื่อมั่นต่อทุกภาคส่วนได้
สำหรับอุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งให้ MPI ขยายตัว ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีการผลิตเพิ่มขึ้น 7.53% จากการผลิตที่เพิ่มขึ้นของรถยนต์ทุกประเภทตามความต้องการทั้งจากในประเทศและการส่งออกที่ขยายตัว, อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐานมีการผลิตเพิ่มขึ้น 19.19% เนื่องจากเร่งผลิตเพื่อทำกำไรในช่วงที่ราคาเหล็กในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 40-60 และการปรับตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่เพิ่มขึ้น ผู้ผลิตจึงมีการเร่งผลิตเพื่อทำกำไรในช่วงที่ยังมีภาวะขาดแคลนสินค้า, น้ำตาล ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 26.89% เนื่องจากปีนี้โรงงานปิดหีบช้ากว่าปีก่อน และผลผลิตอ้อยสดมีคุณภาพสามารถหีบสกัดเป็นน้ำตาลได้สูงขึ้น เป็นต้น