“คมนาคม” คาดชง ครม.ใน มิ.ย.นี้คลอดพ.ร.บ.ขนส่งทางรางและตั้งสถาบันวิจัยระบบราง มีผลบังคับใช้ปลายปี 64 กำกับและพัฒนา ยกระดับมาตรฐานขนส่งทางรางของไทยให้สะดวก ปลอดภัย และทันสมัย
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุม ติดตามความก้าวหน้าการนำเสนอร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. .... และการจัดตั้งสถาบันวิจัยเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) ด้วย Application “Zoom” โดยมีผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงคมนาคม ประกอบด้วย นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง และผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม
กรมการขนส่งทางราง (ขร.) ได้พิจารณาทบทวนปรับปรุงแก้ไขร่างพระราชบัญญัติฯ เพื่อให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์และนโยบายของกระทรวงคมนาคม ปี พ.ศ. 2560 - พ.ศ. 2564 และให้มีความทันสมัยสอดคล้องกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเพิ่มเติมร่างบทบัญญัติ เช่น การจัดสรรความจุ ตารางเวลาเดินรถและเส้นทาง, การสอบสวนอุบัติเหตุ และการจดทะเบียนรถขนส่งทางราง เป็นต้น
พร้อมกันนี้ ได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง ตามบทบัญญัติมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 เรียบร้อยแล้ว
โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงคมนาคมเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติหลักการต่อไป โดยคาดว่าจะนำเสนอ ครม.ได้ภายในเดือน มิ.ย.นี้ และจะประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายได้ภายในสิ้นปีนี้
สำหรับความคืบหน้าการจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) นั้น สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบรางเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีดำเนินการในการประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป
โดยสถาบันฯ ดังกล่าวมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อจัดทำยุทธศาสตร์ด้านเทคโนโลยีระบบรางของประเทศ วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง ร่วมมือกับองค์กรทั้งในและต่างประเทศในการพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง พัฒนาบุคลากรด้านระบบราง และจัดทำฐานข้อมูลด้านเทคโนโลยีระบบราง
ซึ่งมีเป้าหมายเร่งด่วน คือ การวิจัยชิ้นส่วนในระบบรางเพื่อให้สามารถผลิตรถไฟในประเทศ (Local Content) ได้ตามนโยบาย Thai First รวมทั้งการวิจัยเพื่อสร้างรถไฟ EV มาใช้ในประเทศไทย พร้อมกับการรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน และโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน โดยคาดว่าร่าง พ.ร.ฎ.จะประกาศในราชกิจจานุเบกษาและดำเนินการได้อย่างเต็มรูปแบบในช่วงระหว่างเดือน ต.ค.- ธ.ค. 2564
อย่างไรก็ตาม ร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. ...มีสาระสำคัญเกี่ยวกับภารกิจของกรมการขนส่งทางรางในการกำกับดูแลเสนอแนะนโยบาย ยุทธศาสตร์และแผนการพัฒนาด้านการขนส่งทางราง พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรางให้มีโครงข่ายที่สมบูรณ์ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ เชื่อมต่อกับการขนส่งระบบอื่น และประเทศเพื่อนบ้าน การกำกับดูแลมาตรฐานด้านความปลอดภัย การบำรุงทาง และการประกอบกิจการ เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวก รวดเร็ว ประหยัด และปลอดภัยในการเดินทาง