xs
xsm
sm
md
lg

“แอร์พอร์ตเรลลิงก์” ไม้ป่วยที่รอปุ๋ยดี “ซีพี” จะชุบชีวิตได้แค่ไหน?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ช่วงนี้สถานการณ์โควิด-19 กลับเข้าสู่ภาวะวิกฤตระลอกใหม่ ผู้คนต่างให้ความสนใจต่อการฉีดวัคซีนที่กำลังทยอยเข้ามา จนทำให้กลบกระแสข่าวอื่นๆ ไปหมด แม้แต่โครงการเมกะโปรเจกต์สำคัญอย่างอีอีซีที่เคยคึกคัก ซึ่งมีโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) เป็นหนึ่งในโครงการนำร่อง และอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้จะต้องส่งมอบแอร์พอร์ตเรลลิงก์ให้เอกชนไปบริหารจัดการ ภายใต้สัญญาการร่วมทุน

ตามเงื่อนไขในสัญญาระบุว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะต้องส่งมอบแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ให้แก่เอกชน คือ กลุ่มซีพีและพันธมิตร ซึ่งเป็นผู้ชนะการประมูล เมื่อเช็นสัญญากันครบ 2 ปี โดยมีกำหนดส่งมอบในวันที่ 24 ตุลาคม 2564

แต่อย่าเข้าใจว่าของฟรีจะมีในโลก เพราะงานนี้กลุ่มซีพีและพันธมิตรในนาม บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด จะต้องเสียเงินค่าสิทธิในการเดินรถแอร์พอร์ตเรลลิงก์ราวๆ 10,671 ล้านบาท เปรียบเหมือนการเซ้งตึกเก่าๆ มาทำโฮมออฟฟิศ ซึ่งต้องเสียเงินค่าปรับปรุงซ่อมแซมรีโนเวตก้อนใหญ่ก่อนจะเข้าอาศัยได้ ซึ่งทั้งค่าเซ้ง ค่าซ่อม เท่าที่เห็นภาพภายนอกว่าอะไรเสียหาย อะไรที่ต้องปรับปรุง ก็ลิสต์กันได้เป็นสิบๆ ข้อแล้ว ไหนจะส่วนอื่นๆ ที่มองไม่เห็นอีก เรียกได้ว่างานนี้อ่วมก่อนเอี่ยมก็ไม่ปาน


ในช่วงสิบปีของการให้บริการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ตั้งแต่ปี 2553 มีปัญหาสะสมตลอดมา จากเล็กๆ น้อยๆ ก็กวนใจผู้ใช้บริการมากขึ้นเรื่อยๆ ตามช่วงเวลาและจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น ซึ่งหากย้อนกลับไปดูข้อมูลเก่าๆ จะพบเห็นคำติล้นกลบคำชม ในจำนวนผู้แสดงความคิดเห็นนั้น มีผู้คร่ำหวอดในวงการคมนาคมอย่างน้อยสองคนที่ออกมาพูดถึงปัญหาและเสนอทางแก้หลายครั้ง แต่ดูเหมือนว่าจนถึงวันนี้ก็ยังไม่ได้รับการสนอง

คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีต รมว.คมนาคม เคยโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวบอกปัญหาและทางแก้ของแอร์พอร์ตเรลลิงก์ว่า เกิดจาก 1. ออกแบบไม่ดี ขาดการเชื่อมต่อ เข้าออกยาก 2. โครงสร้างองค์กรไม่ดี ทำให้ขาดความคล่องตัว 3. จำนวนรถไม่เพียงพอ 4. พนักงานขาดขวัญกำลังใจ

ทางแก้คือ 1. ปรับปรุงการเชื่อมโยง เช่น ทางเชื่อมรถไฟใต้ดิน ติดตั้งบันไดเลื่อน ปรับปรุงสถานี 2. ปรับโครงสร้างองค์กรให้มีความคล่องตัวมากขึ้น 3. จัดหาขบวนรถเพิ่มเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการ 4. จัดทำโครงสร้าง อัตราพนักงาน สวัสดิการ และ career path ที่ชัดเจนและเป็นธรรม

ด้าน คุณสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการ กทม. ซึ่งติดตามการบริหารงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย และการให้บริการของแอร์พอร์ตลิงก์มาโดยตลอด ให้ความเห็นหลายครั้งจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะจากเหตุการณ์รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ขัดข้องบ่อยๆ ว่า หลักๆ เกิดจากการขาดการซ่อมบำรุงรักษาตัวรถและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องให้อยู่ในสภาพดี อีกทั้งไม่ได้บริหารงานอย่างมืออาชีพ และไม่ซ่อมบำรุงรักษาใหญ่ (Overhaul) ตามระยะทางที่กำหนดไว้ในคู่มือปฏิบัติ ที่สำคัญคือ การใช้ขบวนรถไฟฟ้าที่เสียเป็นอะไหล่สำรองให้กับรถไฟฟ้าขบวนอื่น ด้วยการถอดชิ้นส่วนจากขบวนที่จอดเสียไปเป็นอะไหล่สำหรับรถไฟฟ้าขบวนอื่น หรือที่เรียกกันว่า “ยำอะไหล่”


สำหรับปัญหายอดฮิตที่ได้ยินเสียงพร่ำบ่นจากผู้ใช้บริการมากที่สุด จากผลสำรวจต่างๆ และที่ปรากฏตามสื่อโซเชียล เห็นจะเป็นจำนวนเที่ยวบริการของรถไฟฟ้าที่มีไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ใช้บริการ ปัญหาขัดข้องบ่อย และไม่มีประกาศบอกถึงความล่าช้าและเวลาที่ขบวนต่อไปจะมา ทำให้ผู้โดยสารตกค้างที่สถานีจำนวนมาก และต้องเสียเวลาในการเดินทาง เป็นต้น


เหล่านี้เป็นเพียงแค่ปัญหาน้ำจิ้มที่เอกชนจะต้องเข้ามาแก้ไขในเบื้องต้น เพราะที่ผ่านมายังไม่เคยได้รับการเยียวยาเหลียวแล กลุ่มซีพีที่เป็นผู้บริหารรายต่อไป จึงเป็นความหวังของผู้ใช้บริการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ในปัจจุบัน และผู้ใช้บริการในอนาคต ซึ่งจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นไม่น้อย หากมีการเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวเข้ามาหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ต้องมารอดูกันต่อไปว่าซีพีจะใช้วิทยายุทธ์กระบวนท่าไหน ด้วยงบประมาณอีกเท่าใด ในการล้างท่อ จัดการแก้ปัญหาหมักหมม ให้เป็นแอร์พอร์ตเรลลิงก์ที่คนส่วนใหญ่พอใจ


กำลังโหลดความคิดเห็น