xs
xsm
sm
md
lg

ส.อ.ท.แนะรัฐตุนเงิน 1 ล้านล้านบาท อัดฉีดเศรษฐกิจช่วงรอฉีดวัคซีน 100 ล้านโดสสิ้นปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ส.อ.ท.แนะรัฐเตรียมเม็ดเงินกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจอีก 1 ล้านล้านบาทหากสถานการณ์โควิด-19 ยืดเยื้อ เพื่อประคองเศรษฐกิจระหว่างรอแผนการฉีดวัคซีน 100 ล้านโดสให้ได้ในสิ้นปีนี้ หนุนอัดฉีดเอสเอ็มอีและครัวเรือนเพิ่มรายได้และแรงซื้อรอ ศก.โลกพลิกฟื้น ชี้ช่องดูแลค่าไฟอุ้มระดับครัวเรือนฝ่าช่วงวิกฤต

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า จากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ที่ยังคงมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งประเมินว่าทุก 1 เดือนจะกระทบต่อการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) 0.5% ขณะที่รัฐวางเป้าหมายที่จะฉีดวัคซีนโควิด-19 จำนวน 100 ล้านโดสให้เสร็จสิ้นปีนี้ โดยคาดว่าจะทยอยได้ มิ.ย. ดังนั้นระหว่างนี้รัฐบาลมีความจำเป็นที่จะต้องวางแผนในการจัดหาเงินเพื่ออัดฉีดเงินเข้าฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจไว้ล่วงหน้า โดย ระยะสั้นคาดจะเป็นวงเงิน 4-5 แสนล้านบาท แต่หากยืดเยื้อเกิน 3 เดือนอาจจำเป็นต้องใช้เงินจำนวนราว 1 ล้านล้านบาท

“การที่รัฐบาลวางงบกลางปี 2565 เพื่อฟื้นเศรษฐกิจวงเงิน 3-4 แสนล้านบาทเป็นเรื่องที่ดี เพราะตอนนี้การระบาดโควิด-19 รอบใหม่กระทบกิจการขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) อย่างมาก โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยว บริการ ค้าปลีก และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับภาคท่องเที่ยว เพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้คงจะมายากแล้ว แต่เห็นว่าวงเงินนี้ไม่น่าจะเพียงพอหากยืดเยื้อซึ่งดูจากรอบแรกเรากู้เงินมา 1 ล้านล้านบาท ซึ่งขณะนี้ยังเหลืออีก 2.4 แสนล้านบาท ดังนั้น กว่าจะมีการฉีดวัคซีนครบ 100 ล้านโดสในสิ้นปีที่รัฐวางไว้ระหว่างนี้เราต้องเร่งอัดฉีด และเมื่อฉีดวัคซีนครบก็จะต้องมีเงินเตรียมไว้ล่วงหน้าซึ่งเห็นว่าต้องมีไว้ 1 ล้านล้านบาทไม่รวมกับของเดิมที่เหลืออยู่เป็น 2.4 แสนล้านบาท” นายเกรียงไกรกล่าว

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือรัฐจะต้องมีเป้าหมายในการอัดฉีดเงินที่ชัดเจนและตรงเป้าหมายและใช้จ่ายจริงเพื่อฟื้นกำลังซื้อ ฟื้นธุรกิจหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบ 100 ล้านโดสซึ่งเพียงพอจะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้แก่คนไทยได้ โดย ส.อ.ท.เองยังคงสนับสนุนให้รัฐเร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยเร็วเพื่อเปิดประเทศและกลับมาฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ขณะนี้แนวโน้มเศรษฐกิจโลกเริ่มจะกลับมาหลังสหรัฐอเมริกาและหลายๆ ที่มีการระดมฉีดวัคซีนจนใกล้ครบและมีการอัดฉีดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมหาศาล

นายเกรียงไกรกล่าวว่า ผลกระทบของการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 รอบใหม่นี้แม้ว่ารัฐบาลจะไม่ได้ประกาศล็อกดาวน์เหมือนรอบแรกแต่ก็ดำเนินการกับพื้นที่สีแดงลักษณะกึ่งล็อกดาวน์ เช่น ให้เน้นมีการทำงานที่บ้าน (WFH) กำหนดห้างร้านห้ามเปิดให้นั่งรับประทานอาหารภายในร้านต้องกลับไปรับประทานที่บ้าน มีการกำหนดเปิด-ปิดห้างร้านขายของต่างๆ ปิดสถานที่เสี่ยง ฯลฯ เหล่านี้ล้วนกระทบต่อกิจการ ห้างร้าน ขณะที่ธุรกิจท่องเที่ยวก็ได้รับผลกระทบซ้ำเติมจากเดิมที่เริ่มจะฟื้นตัวซึ่งเป็นกลุ่มที่มีการจ้างแรงงานอยู่พอสมควร จึงทำให้ธุรกิจเหล่านี้ยังคงมีความเปราะบางที่รัฐต้องรีบเข้ามาช่วยเหลือ

แหล่งข่าวจาก ส.อ.ท.กล่าวว่า จากการที่ประชาชนทำงานอยู่บ้าน (WFH) และขาดรายได้จากการลดเวลาทำงานต่างๆ จากมาตรการกึ่งล็อกดาวน์ของรัฐครั้งนี้ เห็นว่ามารตรการลดรายจ่ายเป็นอีกมาตรการหนึ่งที่รัฐควรจะพิจารณาว่าด้วยการลดอัตราค่าไฟฟ้าลงโดยเฉพาะระดับภาคครัวเรือน ซึ่งพบว่าขณะนี้รายจ่ายจากค่าไฟฟ้าเนื่องจากประชาชนทำงานที่บ้านมากขึ้นได้สูงขึ้นอย่างมาก เพราะรัฐได้คิดค่าไฟแบบอัตราก้าวหน้าซึ่งเป็นไปได้หรือไม่หากรัฐจะหาวิธีลดภาระส่วนนี้

“รับทราบว่าคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ระบุว่าที่ผ่านมาใช้เงินในการดูแลค่าไฟไปหมดแล้วเหลือเพียงน้อยนิด แต่เรื่องนี้เป็นไปได้หรือไม่ที่รัฐจะหางบกลางมาอุดหนุนค่าไฟแทนส่วนหนึ่งก็ยังดีเพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายประชาชน” แหล่งข่าวกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น