xs
xsm
sm
md
lg

CIMBT ปรับคาดการณ์ GDP ปี 64 เหลือ 2.2% ห่วงวัคซีนล่าช้าอาจหล่นเหลือ 0.7%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) เปิดเผยว่า จากการระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 จนนำมาซึ่งมาตรการเข้มงวดรอบ 2 ที่ฉุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวลง แต่เศรษฐกิจไทยยังมีอีก 1 ความหวัง คือ การเข้ามาของวัคซีนและฉีดให้ประชาชนคนไทยอย่างทั่วถึงภายในปีนี้ โดยจากโควิด-19 ระลอก 3 ที่จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงมาก ส่งผลให้ภาครัฐออกมาตรการค่อนข้างเข้มงวดในการควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันคล้ายการล็อคดาวน์รอบแรก ซึ่งสิ่งที่คล้ายกับรอบแรกคือ การบริโภคภาคเอกชนลดลงค่อนข้างแรง คนออกจากบ้านน้อยลง ร้านค้าเปิดทำการด้วยจำนวนชั่วโมงที่ลดลง กระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยภาพรวม ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยครึ่งปีแรกนี้จะเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค หรือเศรษฐกิจหดตัวไตรมาสเทียบไตรมาส ติดต่อกัน 2 ไตรมาส

อย่างไรก็ดี รอบนี้แตกต่างตรงที่เศรษฐกิจเทียบปีต่อปีจะไม่ถดถอยรุนแรงเท่าปีที่แล้ว เพราะมีภาคการส่งออกเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญ โดยการส่งออกเดือน มี.ค.เติบโตก้าวกระโดดขึ้นมาที่ 8% จากการเร่งตัวของเศรษฐกิจในจีนและสหรัฐฯ จึงคาดว่าการส่งออกปีนี้จะเติบโตถึง 10% จากอุตสาหกรรมยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ ผลิตภัณฑ์เคมี ยาง และกลุ่มอาหาร รวมถึงการจ้างงานที่เกี่ยวข้องกับภาคส่งออกที่จะฟื้นตัวได้ดีอีกด้วย ดังนั้น รายได้นอกภาคเกษตรปีนี้จะขยับขึ้น ส่งผลให้คนมีความสามารถจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ขณะที่รายได้ภาคเกษตรน่าจะดีกว่าปีก่อน เพราะภัยแล้งปีนี้ไม่น่ารุนแรง ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรส่วนใหญ่มีแนวโน้มขยับขึ้น

“ความท้าทายของเศรษฐกิจไทยรอบนี้จึงอยู่ที่การควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัส คู่ขนานไปกับการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ให้เร็วที่สุดเพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเปิดขึ้นมาได้อีกครั้ง ความหวังหนึ่งเดียวของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจปีนี้อยู่ที่วัคซีน เพราะถ้ายังฉีดไม่ทั่วถึง มีความเสี่ยงจะเกิดการระบาดระลอก 4 รอบ 5 ไปเรื่อยๆ เกิดมาตรการล็อกดาวน์ แล้วผ่อนคลาย วนลูปไปเรื่อยๆ จนกว่าคนไทยจะมีภูมิคุ้มกันป้องกันโควิด-19 ดังนั้น หากการฉีดวัคซีนเร่งตัวได้ทันในไตรมาส 3 ควบคุมการระบาดได้ดีขึ้น ภาครัฐผ่อนคลายมาตรการเข้มงวดต่างๆ อุปสงค์ในประเทศโดยรวมจะฟื้นตัวไตรมาส 3 เช่นกัน เรียกว่า pent up demand จากการที่คนอัดอั้นในไตรมาส 2 แล้วเริ่มใช้จ่ายหลังเศรษฐกิจเปิดเต็มที่ แม้จะไม่สามารถชดเชยเศรษฐกิจไตรมาส 2 ได้ แต่เศรษฐกิจจะกลับมาดีขึ้น”

ด้านการท่องเที่ยวในประเทศจะฟื้นขึ้นได้หลังการเร่งตัวของวัคซีน สนับสนุนกลุ่มธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร และการขนส่ง อย่างไรก็ดี นักท่องเที่ยวต่างชาติอาจยังกังวลรูปแบบการฉีดวัคซีนในประเทศ และยังลังเลกับการเดินทางออกนอกประเทศ จึงอาจไม่สามารถคาดหวังจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติได้เต็มที่

ทั้งนี้ สำนักวิจัยธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ปรับมุมมองเศรษฐกิจไทย ปี 2564 จากเดิมคาดว่าจะเติบโต 2.6% มาอยู่ที่ 2.2% จากการรับมือการระบาดโควิด-19 ระลอก 3 ที่ส่งผลกระทบการบริโภคในประเทศรุนแรง แต่มุมมองไม่ได้ปรับลดลงแรงเพราะการส่งออกที่คาดว่าจะเติบโตได้เฉียด 10% จะเป็นตัวสนับสนุนเศรษฐกิจ พร้อมๆ กับการให้เกิดการลงทุนในประเทศที่ยังโตต่อเนื่องได้ เพียงแต่ไทยยังขาดการท่องเที่ยวจากต่างชาติ ซึ่งอาจทำให้เศรษฐกิจไทยโตช้าสำหรับปีนี้

ด้านค่าเงินบาทคาดว่าจะอ่อนค่าเทียบดอลลาร์สหรัฐ จากเงินไหลออกสืบเนื่องจากความกังวลเรื่องการถอนมาตรการ QE และกังวลเรื่องเงินเฟ้อในสหรัฐฯ เงินบาทน่าจะอยู่ที่ราว 31.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในไตรมาส 2 แต่ในช่วงครึ่งหลังของปี หากนักลงทุนรับรู้ข่าวมาตรการทางการเงินของเฟดไปแล้ว ประกอบกับประเทศไทยน่าจะเกินดุลบัญชีสะพัดช่วงครึ่งหลังของปี ซึ่งเป็นรายได้สำคัญ จะทำให้มีความต้องการเงินบาทมากขึ้น เงินบาทน่าจะกลับมาอยู่ที่ราวๆ 31.30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐช่วงปลายปี

ด้านนโยบายการเงิน คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะคงดอกเบี้ยที่ 0.50% ตลอดทั้งปี โดยน่าจะอัดฉีดเงินเพื่อเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจ SME หรือออกมาตรการช่วยเหลือปรับโครงสร้างหนี้ เป็นทางออกสำคัญของเศรษฐกิจไทย แต่ความเสี่ยงที่ต้องเฝ้าติดตามคือวัคซีน หากประเทศไทยและกลุ่มประเทศในเอเชียมีการฉีดวัคซีนล่าช้า จำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้น จนภาครัฐออกมาตรการควบคุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจอีกรอบหนึ่ง เศรษฐกิจไทยอาจจะโตต่ำเหลือ 0.7% ธปท.อาจฉีดวัคซีนประคองเศรษฐกิจไทย โดยลดดอกเบี้ยนโยบายเหลือ 0.25%
อย่างไรก็ดี นโยบายการเงิน และนโยบายการคลังที่จะออกมาจะมีลักษณะของการประคองไม่ให้เศรษฐกิจทรุดหนัก เป็นการซื้อเวลา มากกว่าที่จะสามารถแก้ปัญหาได้ ทางออกอยู่ที่การฉีดวัคซีนให้ประชากรไทยได้อย่างทั่วถึง

ทั้งนี้ สำนักวิจัยฯ จะทบทวนการคาดกรณ์เศรษฐกิจไทยอีกครั้งหลังจากสภาพัฒน์รายงานตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 1 วันที่ 17 พ.ค.64 และเฝ้าติดตามการผลิตวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าในประเทศ และการนำเข้าวัคซีนตัวอื่นๆ ที่เป็นความหวังของเศรษฐกิจไทยช่วงต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น