xs
xsm
sm
md
lg

การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ : สิ่งที่ผู้ประกอบการ SME ในสหภาพยุโรปควรรู้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เหตุใดการคุ้มครอง IP จึงมีความสำคัญสำหรับ SME ในสหภาพยุโรป

วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium-sized Enterprises, SME) เป็นกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป พวกเขาเป็นตัวแทน 99% ของภาคธุรกิจทั้งหมดในสหภาพยุโรป ซึ่งคิดเป็นมากกว่าครึ่งหนึ่งของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของยุโรป และมีการว่าจ้างงานประมาณ 100 ล้านคน[2] ความสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างผลการดำเนินงานทางเศรษฐกิจและการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property Rights, IPR) มีความแข็งแกร่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับ SME

SME ที่เป็นเจ้าของ IPR สร้างรายได้ต่อพนักงานสูงกว่าผู้ประกอบการ SME ที่ไม่ได้เป็นเจ้าของ IPR ใดๆ เลยถึง 68% ตามผลการศึกษาล่าสุดที่เผยแพร่ในปี 2021 โดยสำนักงานสิทธิบัตรยุโรป (European Patent Office, EPO) และทรัพย์สินทางปัญญาของสหภาพยุโรป (European Union Intellectual Property, EUIPO) เกี่ยวกับ IPR และผลประกอบการของบริษัทในสหภาพยุโรป[3] จากการศึกษาแสดงให้เห็นว่าการคุ้มครอง IPR กลายเป็นสิ่งสำคัญต่อความสำเร็จของ SME ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ SME จะต้องตระหนักถึงคุณค่าของทรัพย์สินทางปัญญา (IP) และวิธีที่จะนำไปสร้างให้เกิดประโยชน์มากที่สุด

IP เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ไม่มีตัวตน อันประกอบด้วยทรัพย์สินทางปัญญาและทรัพย์สินทางอุตสาหกรรม IPR สามารถได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ภายใต้สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า การออกแบบอุตสาหกรรม ลิขสิทธิ์ การคุ้มครองพันธุ์พืช อีกทั้งยังรวมถึงกฎหมายความลับทางการค้า การแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม กฎหมายแพ่งและอาญา

SME จะได้รับประโยชน์จากการคุ้มครอง IP และคว้าโอกาสทางธุรกิจทั่วโลกได้ หากพอร์ตการลงทุนด้าน IP ของพวกเขาได้รับการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ กลยุทธ์ IP ที่แข็งแกร่งยังช่วยให้ SME ดึงดูดเงินทุนจากนักลงทุนที่มีศักยภาพ ทำให้พวกเขาก้าวสู่ระดับสากลในตลาดเกิดใหม่ ตามรายงานร่วมระหว่าง EPO และ EUIPO ในปี 2019[4] อุตสาหกรรมที่เน้น IPR สร้างรายได้ประมาณ 45% ของ GDP ทั้งหมดในสหภาพยุโรป ซึ่งมีมูลค่า 6.6 ล้านล้านยูโร ภาคส่วนเหล่านี้ถือเป็นการค้าส่วนใหญ่ระหว่างสหภาพยุโรปกับประเทศอื่นทั่วโลก ซึ่งประกอบด้วยสินค้า 96% ที่ส่งออกจากสหภาพยุโรป

การคุ้มครอง IP ยังมีความสำคัญต่อการส่งเสริมนวัตกรรมด้วยการให้ผลตอบแทนจากการลงทุนในการวิจัยและพัฒนา (R&D) นอกจากนี้ กลยุทธ์การคุ้มครอง IP ที่เตรียมการวางแผนไว้อย่างดีจะช่วยให้ SME ป้องกันไม่ให้ผู้อื่นมาใช้ประโยชน์จาก IP ของพวกตนได้ฟรี ที่สำคัญ SME ที่เป็นเจ้าของ IPR ที่ถูกต้องจะมีสิทธิเรียกร้องให้ดำเนินการบังคับใช้เพื่อหยุดกิจกรรมที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของตน


การคุ้มครอง IP เป็นกุญแจสู่ความสำเร็จของการขยายธุรกิจสำหรับ SME จากสหภาพยุโรป ในภูมิภาค SEA

ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA) เป็นจุดหมายปลายทางที่มีศักยภาพสำหรับ SME จากสหภาพยุโรป ด้วยนโยบายที่เปิดกว้างและแรงจูงใจในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ภูมิภาคนี้เป็นประเทศที่เศรษฐกิจเฟื่องฟูโดยมี GDP รวมกัน 3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2018 (ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก) และมีประชากร 649.1 ล้านคน[5]

ภูมิภาค SEA เป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 3 ของสหภาพยุโรปที่อยู่นอกยุโรป (รองจากสหรัฐฯ และจีน) โดยมีการค้าขายสินค้าระหว่างกันมากกว่า 237.3 พันล้านยูโรในปี 2018 สหภาพยุโรปเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 2 ของภูมิภาค SEA รองจากจีนคิดเป็นประมาณ 14% ของการค้าทางทะเล สหภาพยุโรปเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดในกลุ่มประเทศ SEA ที่มีสัดส่วนการลงทุนโดยตรงของต่างชาติ (Foreign Direct Investment, FDI) ในภูมิภาค SEA คิดเป็นมูลค่า 337 พันล้านยูโร[6]

จนถึงปัจจุบัน สหภาพยุโรปมีข้อตกลงการค้าเสรีสองฉบับที่บังคับใช้กับเวียดนามและสิงคโปร์ตามลำดับ ซึ่งก็ได้แก่ ข้อตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรปกับเวียดนาม (EU-Vietnam Free Trade Agreement, EVFTA) และข้อตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรปกับสิงคโปร์ (EU-Singapore Free Trade Agreement, EUSFTA) และกำลังเจรจาข้อตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมกับอินโดนีเซีย ข้อตกลง FTA (Free Trade Agreement [ข้อตกลงการค้าเสรี]) เหล่านี้อำนวยความสะดวกในการเข้าถึงตลาด ผ่านการกำจัดภาษีศุลกากร และอุปสรรคทางการค้าอื่นๆ ที่ไม่ใช่ภาษีจากทั้งสองฝ่าย รวมทั้งช่วยกระตุ้นกระแสการลงทุน ข้อตกลงแต่ละข้อประกอบด้วยข้อกำหนดเรื่อง IPR ที่ครอบคลุม พร้อมพันธะสัญญาในการปรับปรุงการคุ้มครอง IPR และการบังคับใช้ตามมาตรฐานสากล

รายงานขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development, OECD) และ EUIPO ที่เผยแพร่ในปี 2019[7] แสดงให้เห็นว่า บริษัทที่ประสบปัญหาการปลอมแปลงและการละเมิดลิขสิทธิ์ยังเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในยุโรปเสียส่วนใหญ่ จีนยังคงเป็นแหล่งกำเนิดสินค้าลอกเลียนแบบและสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ที่ใหญ่ที่สุด แต่ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บางประเทศก็ติดอันดับต้นๆ ของ 25 แหล่งสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ จากการศึกษาแสดงให้เห็นว่าความเสี่ยงต่อการถูกละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในภูมิภาค SEA ของ SME จากสหภาพยุโรปนั้นอยู่ในระดับสูง และ SME จากสหภาพยุโรปควรพิจารณาสิ่งนี้เมื่อเตรียมกลยุทธ์ด้านทรัพย์สินทางปัญญาของตน

ในบริบทที่ COVID-19 กำลังแพร่ระบาดอยู่ขณะนี้ การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในสภาพแวดล้อมออนไลน์ดูเหมือนจะเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในประเทศแถบ SEA ผ่านอีคอมเมิร์ซและแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เนื่องจากไม่มีกฎระเบียบที่เข้มงวดที่จะจัดการกับการละเมิด IP ทางออนไลน์นั่นเองเจ้าของ IP ควรขอขึ้นทะเบียนเพื่อป้องกัน IPR ของตนในแต่ละประเทศที่มีสนใจจะลงทุน การขึ้นทะเบียนที่สำนักงาน IP และในทะเบียนศุลกากรอาจช่วยให้การบังคับใช้ประสบความสำเร็จ

คอยติดตาม IP Key South-East Asia และ South-East Asia IP SME Helpdesk เพื่อรับทราบเรื่องราวความสำเร็จของบรรดา SME ในสหภาพยุโรปซึ่งดำเนินธุรกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และว่าการคุ้มครอง IPR มีส่วนสนับสนุนธุรกิจของพวกเขาเช่นไรบ้างในช่วงเวลาที่เกิดโรคระบาดครั้งใหญ่


สหภาพยุโรปสนับสนุนธุรกิจ SME จากสหภาพยุโรปอย่างไรบ้างในภูมิภาค SEA

นอกเหนือจากข้อตกลงการค้าแบบทวิภาคี ซึ่งมีข้อผูกพันสำหรับการคุ้มครองและการบังคับใช้ IPR ที่เพิ่มขึ้นแล้ว สหภาพยุโรปยังให้ความสำคัญต่อการเจรจาเกี่ยวกับ IP (IP Dialogue) และโครงการความร่วมมือทางเทคนิคด้าน IP เพื่อสนับสนุนธุรกิจของสหภาพยุโรปที่ซื้อขายและลงทุนในภูมิภาคนี้ ซึ่งก็รวมถึงเหล่า SME ด้วย

คณะกรรมาธิการยุโรปได้เปิดตัวโครงการริเริ่มต่อไปนี้เพื่อสนับสนุนธุรกิจ SME ของสหภาพยุโรป :


South-East Asia IP SME Helpdesk

South-East Asia IP SME Helpdesk เป็นความคิดริเริ่มของคณะกรรมาธิการยุโรปเพื่อสนับสนุน SME ในการปกป้องและบังคับใช้ IPR ของตนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริการทั้งหมดที่นำเสนอโดย Helpdesk ไม่มีค่าใช้จ่าย

โดยสรุปบริการของ Helpdesk ครอบคลุม (i) สายด่วนสอบถาม (คำแนะนำที่เป็นความลับสำหรับ SME ในสหภาพยุโรป โดยเฉพาะทางด้าน IP ที่เกี่ยวข้องกับ SEA ภายใน 3 วันทำการ) (ii) คำแนะนำเกี่ยวกับ IP และข้อเท็จจริงของแต่ละประเทศ และ (iii) การอบรมนอกสถานที่ทางออนไลน์

IP Key South-East Asia

IP Key South-East Asia (IP Key SEA) เป็นโครงการระยะเวลาสี่ปีที่ได้รับทุนจากสหภาพยุโรป และดำเนินการโดยสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาของสหภาพยุโรป (European Union Intellectual Property Office, EUIPO) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการคุ้มครองและการบังคับใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมทางกฎหมายและเศรษฐกิจที่เหมาะสมที่เอื้อต่อการค้าและการลงทุนในภูมิภาค ด้วยการมีส่วนร่วมในการปรับปรุงกรอบการทำงาน IP และการดำเนินการตามแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด IP Key SEA มีเป้าหมายเพื่อสร้างโอกาสที่เท่าเทียมกันสำหรับองค์กรในท้องถิ่นและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในสหภาพยุโรป IP Key SEA คือหนึ่งในสามโปรแกรม IP Key ที่สำคัญ ซึ่ง EUIPO ดำเนินการ และอีกสองโปรแกรมคือ IP Key China และ IP Key Latin America


สิ่งจูงใจอื่นสำหรับ SME ในสหภาพยุโรป

ขณะนี้ SME จากสหภาพยุโรปสามารถขอความช่วยเหลือเพื่อคุ้มครอง IPR ของตนได้ภายใต้โครงการต่อไปนี้:

- กองทุนสนับสนุนเพื่อธุรกิจ SME : โครงการทุน 20 ล้านยูโรที่สร้างขึ้นเพื่อช่วยเหลือ SME ในการพัฒนากลยุทธ์ด้าน IP และคุ้มครอง IPR ในระดับประเทศและสหภาพยุโรป (รายละเอียดเพิ่มเติมที่นี่)

- Horizon IP Scan : ช่วย SME จัดการและสร้างมูลค่าให้กับ IP ในความร่วมมือด้านการวิจัยและนวัตกรรม (รายละเอียดเพิ่มเติมที่นี่)

#รู้ไว้ก่อนเดินหน้า (#Know before you go)

การคุ้มครอง IPR ใน SEA สำคัญอย่างยิ่งสำหรับ SME จากสหภาพยุโรป เพื่อให้แน่ใจว่ามีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับกิจกรรมทางธุรกิจของพวกเขา หากปราศจากการคุ้มครองจะไม่สามารถบังคับใช้สิทธิ์เหนือ IP ได้ ดังนั้นจึงขอแนะนำอย่างยิ่งสำหรับผู้ประกอบการ SME ในสหภาพยุโรปในการใช้ประโยชน์จากโครงการริเริ่มต่างๆ ของสหภาพยุโรปในการกำหนดกลยุทธ์ด้านทรัพย์สินทางปัญญาก่อนที่จะขยายไปยังภูมิภาคนี้ ติดต่อกับฝ่ายช่วยเหลือของ SEA IP SME (question@southeastasia-iprhelpdesk.eu) และ IP Key SEA (IPKEY-SEA@euipo.europa.eu) เพื่อเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเครื่องมือที่มีให้บริการ


กำลังโหลดความคิดเห็น