ในปี 2564 ไทยมีแผนที่จะเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับประเทศและกลุ่มประเทศ รวม 5 เป้าหมาย ได้แก่ ไทย-สหภาพยุโรป (EU), ไทย-สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA), ไทย-สหราชอาณาจักร (UK), ไทย-สหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (EAEU) และอาเซียน-แคนาดา เพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้าและการลงทุนของไทยให้มีมากขึ้นจาก FTA เดิมที่มีอยู่ 13 ฉบับ กับ 18 ประเทศ แม้ล่าสุดจะมีความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) เข้ามาอีกฉบับ แต่ก็ยังมีคู่ค้า 18 ประเทศเท่าเดิม เพราะ RCEP เป็นการทำ FTA ระหว่างอาเซียนกับคู่เจรจาที่มี FTA เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
สำหรับแผนการเจรจา FTA ในปี 2564 นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้ให้สัมภาษณ์ถึงแผนงานและเป้าหมายในการเจรจาเพื่อจัดทำ FTA กับประเทศและกลุ่มประเทศเป้าหมายใหม่ตามที่กำหนดไว้ในปีนี้ โดยได้ชี้แจงให้ทราบถึงความคืบหน้าล่าสุด และชี้ให้เห็นถึงผลประโยชน์ที่ไทยจะได้รับหากมีการทำ FTA ได้เป็นผลสำเร็จ
ความคืบหน้าของ FTA แต่ละกรอบ
ก่อนที่จะไปถึงความคืบหน้าการเจรจาเพื่อจัดทำ FTA แต่ละฉบับ นางอรมนได้เล่าถึงแผนการเจรจา FTA ในปีนี้ว่าเป็นไปตามนโยบายของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้มอบนโยบายการทำงานไว้ทั้งหมด 14 ข้อ และหนึ่งใน 14 ข้อก็คือ เร่งรัดการเจรจา FTA ซึ่งเป็นหน้าที่ของกรมฯ ที่จะต้องเดินหน้า โดยมีเป้าหมายที่จะเจรจาเพื่อจัดทำ FTA ในปีนี้รวมทั้งสิ้น 5 กรอบ และแต่ละกรอบก็มีความคืบหน้ามากน้อยแตกต่างกัน
โดยกรอบแรก คือ FTA ไทย-EU ถือว่ามีความคืบหน้ามากที่สุด เพราะได้มีการศึกษาผลดีผลเสีย มีการลงพื้นที่สร้างความรู้ ความเข้าใจ มีการระดมความคิดเห็น ทั้งในกรุงเทพฯ ต่างจังหวัด จัดโฟกัสกรุ๊ป กลุ่มสินค้าเกษตร สินค้าอุตสาหกรรม ที่เห็นว่าสำคัญ ถือว่าเสร็จขั้นแรกไปแล้ว มีการเผยแพร่ผลการศึกษา มาตั้งแต่ พ.ย. 2563 ได้ผลการรับฟังความคิดเห็น ผลลงพื้นที่มาแล้ว จนสามารถทำกรอบการเจรจาขึ้นมาว่าไทยจะเดินหน้าเจรจาตามนี้ และเตรียมที่จะเสนอคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.)
กรอบต่อมา ไทย-EFTA ขณะนี้ผลศึกษาอยู่ระหว่างการตรวจรับ ผู้ทำการศึกษาทำงานส่งมาแล้ว กำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบว่าต้องปรับ ต้องเสริมอะไร น่าจะเสร็จและเผยแพร่ได้ประมาณไตรมาส 2 ปีนี้ โดยช่วงเผยแพร่ก็จะฟังความเห็นไปด้วยว่ามีความคิดเห็นกันอย่างไร ถ้าจำเป็นต้องจัดรับฟังความคิดเห็นก็จะจัด โดยการเจรจาเพื่อทำ FTA อาจจะเหลื่อม EU ไปบ้าง แต่อาจจะทันกัน ซึ่งล่าสุด EFTA เข้าพร้อม แต่ EU เข้ามีกระบวนการของเขา ดูความคาดหวังแล้วเสนอระดับนโยบายพิจารณา
ส่วน UK ตอนนี้มี JETCO แล้ว (คณะกรรมการร่วมด้านเศรษฐกิจและการค้า (Joint Economic and Trade Committee) เพิ่งลงนามกันไปเมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2564 ที่ผ่านมา มีเป้าหมายเพื่อสร้างความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน และความร่วมมือเศรษฐกิจอื่นๆ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่จะไปต่อสู่การทำ FTA ได้ โดยขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาผลดีผลเสีย น่าจะเสร็จใกล้ๆ EFTA ประมาณไตรมาส 2 เหมือนกัน
สำหรับ EAEU กำลังศึกษาผลดีผลเสียอยู่ น่าจะเสร็จปลายปีนี้ โดยการเจรจากับ EAEU ก็เหมือนกับเจรจากับ EU เพราะเขามีกรรมาธิการเศรษฐกิจยูเรเซีย (EEC) ทำหน้าที่ในการเจรจา ซึ่งขณะนี้ไทยมีเวทีที่เป็นกลไกหารือระดับรัฐมนตรีอยู่ คือ คณะทำงานร่วมระหว่างไทยกับสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (EAEU) ซึ่งไทยเคยไปร่วมพูดคุยมาแล้วครั้งแรกเมื่อปี 2562 ก็จะใช้เวทีนี้ในการเริ่มเดินหน้าเจรจาทำ FTA ต่อ
ขณะที่อาเซียน-แคนาดาเป็นการทำ FTA ในกรอบอาเซียน ซึ่งต่างฝ่ายต่างศึกษาผลประโยชน์และผลกระทบไปแล้ว โดยในส่วนของไทยได้จ้างศึกษาผลดีผลเสีย จะเสร็จประมาณเดือน ก.ค. 2564 ก่อนที่อาเซียนจะตัดสินใจเปิดเจรจา FTA ในเดือน ก.ย. 2564
เตรียมรวม 3 กรอบใช้ท่าทีเดียว
นางอรมนกล่าวว่า สำหรับการเจรจา FTA กรมฯ ได้วางแผนเอาไว้ว่าปีนี้น่าจะเปิดเจรจากับ EU และ EFTA ได้ แต่อาจจะมี UK ด้วย ซึ่งก็ขึ้นกับ UK ว่าจะมีความพร้อมแค่ไหน ซึ่ง FTA ทั้ง 3 กรอบนี้คู่เจรจามีระดับการพัฒนาประเทศใกล้เคียงกัน นโยบายการค้า กฎระเบียบใกล้เคียงกัน มีความคาดหวังในการเจรจาของคู่เจรจาคล้ายๆ กัน มีประเด็นที่ต้องการคล้ายกัน เช่น ทรัพย์สินทางปัญญา แรงงาน UPOV (การคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่) การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เป็นต้น แต่จะตึงมาก ตึงน้อยแตกต่างกัน ทำให้เราสามารถทำท่าทีในการเจรจาเป็นกรอบเดียวกันได้
“กรมฯ จะเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นภาคประชาสังคม เอกชน ภาครัฐ มาหารือในเร็วๆ นี้ว่ามีความคิดเห็นอย่างไร ถ้าทั้ง 3 FTA จะใช้กรอบการเจรจาเดียวกัน เพราะความต้องการของคู่เจรจาทั้ง 3 กรอบไม่แตกต่างกัน ซึ่งกรอบเจรจาก็จะเป็นกรอบกว้างๆ ให้ไปเจรจา และในการเจรจาก็จะมีท่าทีในแต่ละกรอบอีกที เหมือนเรามีกรอบสี่เหลี่ยมกว้างๆ เอาไว้ การเจรจากับ EU ก็อาจจะเจรจาตรงมุม EFTA เจรจาตรงกลาง อะไรทำนองนี้ ซึ่งจะทำให้การเจรจาทำได้เร็วขึ้น และเมื่อมีกรอบก็จะทำให้เรารู้ว่า อันนี้ให้มากให้น้อย ก็เป็นท่าทีเอาไปใช้ในการเจรจา จากนั้นจะคุยวงใหญ่อีกที มีทุกภาคส่วนเข้าร่วม แต่รอบนี้จะมีกรรมาธิการ ส.ส. ส.ว.มาร่วมให้ความเห็นด้วย” นางอรมนกล่าว
อย่างไรก็ตาม หลังการหารือแล้ว ถ้าเห็นว่าการทำกรอบการเจรจา FTA ไม่อยากให้รวม ควรจะแยก และมีกรอบเจรจาแต่ละ FTA ก็จะแยกทำ และเมื่อได้ข้อสรุปแล้ว ภายในไตรมาส 2 ปีนี้จะนำกรอบการเจรจาเข้า กนศ.ต่อไป
EU เปิดเจรจาได้แน่ เป้าปีนี้ 2-3 FTA
สำหรับเป้าหมายในการเจรจาทำ FTA ปีนี้ นางอรมนบอกว่า ถ้าทุกอย่างลงตัว เห็นพ้องกันว่าเป็นประโยชน์ และ ครม.เห็นด้วยก็จะเริ่มเจรจาทำ FTA กับอียูได้เป็นกรอบแรก น่าจะไตรมาส 2 หรือ 3 ที่จะเริ่มได้ และภายในปีนี้ตั้งเป้าน่าจะเริ่มเจรจาได้อย่างน้อย 2-3 FTA
FTA เพิ่มโอกาสทางการค้าได้มากขึ้น
นางอรมนกล่าวว่า ทางด้านผลประโยชน์ที่จะมีต่อการค้าไทย หากไทยสามารถเปิดเจรจาทำ FTA ได้เพิ่มขึ้นก็จะทำให้สัดส่วนการค้าของไทยกับประเทศที่มี FTA เพิ่มสูงขึ้น เพราะปัจจุบันไทยมี FTA กับ 18 ประเทศมีสัดส่วนการค้าเพียง 63% ยังขาดอีก 37% ที่ไทยยังไม่มี FTA จึงต้องเร่งเดินหน้าทำ FTA และทำให้มากกว่าคู่แข่งในอาเซียน โดยปัจจุบันสิงคโปร์ทำ FTA กับประเทศทั่วโลกสูงถึง 94.5% อินโดนีเซีย 76% มาเลเซีย 71.5% และเวียดนาม 69.9% โดยไทยอยู่อันดับที่ 5 ในอาเซียนที่ทำ FTA กับประเทศต่างๆ
ทั้งนี้ หากไทยมี FTA กับ EU ก็จะมีสัดส่วนการค้ากับประเทศที่มี FTA อีก 7.5% ถ้ารวม UK อีก 1.1% ก็จะเป็น 8.5% EFTA มีสัดส่วนการค้า 2.4% รวม 3 กลุ่มนี้ก็ประมาณ 11% ถือว่ามีความสำคัญ ส่วน EAEU มีสัดส่วนการค้าประมาณ 0.6% และแคนาดา 0.5%
เปิดผลประโยชน์ไทยใน FTA แต่ละกรอบ
ในการทำ FTA แต่ละกรอบไทยจะได้รับผลประโยชน์แตกต่างกัน โดยในส่วนของ EU ที่เห็นได้ชัดๆ เลย ก็คือ หากไทยและ EU 27 ประเทศ ไม่รวม UK เพราะได้ออกจาก EU ไปแล้ว ทำ FTA และมีการยกเลิกภาษีนำเข้าระหว่างกันหมด จะช่วยให้จีดีพีของไทยขยายตัวในระยะยาว 1.28% คิดเป็นมูลค่า 2.05 แสนล้านบาทต่อปี การส่งออกของไทยไปอียูเพิ่มขึ้น 2.83% หรือ 2.16 แสนล้านบาทต่อปี และการนำเข้าจากอียูเพิ่มขึ้น 2.81% หรือ 2.09 แสนล้านบาทต่อปี โดยสินค้าส่งออกของไทยที่มีโอกาสขยายตัวและเข้าถึงตลาด EU ได้ง่ายขึ้น เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้าและสิ่งทอ ผลิตภัณฑ์อาหาร เคมีภัณฑ์ ยาง และพลาสติก เป็นต้น
ส่วนการเปิดเสรีภาคบริการในสาขาสำคัญ เช่น สิ่งแวดล้อม การจัดส่งสินค้า การเงินและประกันภัย และการขนส่งทางทะเล จะช่วยลดต้นทุนการผลิตของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง และทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัว 5% หรือ 8.01 แสนล้านบาท และการประเมินผลมิติด้านสังคมในภาพรวม พบว่าเศรษฐกิจที่ดีขึ้นจะทำให้จำนวนคนจนลดลง 2.7 แสนคน รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้น 1.1% และช่องว่างความยากจนลดลง 0.07%
การทำ FTA กับ EFTA จะช่วยขจัดความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในโครงการสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ของ EFTA (สวิตเซอร์แลนด์ และนอร์เวย์) ที่ไทยได้รับอยู่ในสินค้าต่างๆ เช่น สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มและสินค้าเกษตรและอาหารบางรายการ รวมถึงจะช่วยขยายโอกาสทางการตลาดเพิ่มเติมในการส่งออกสินค้าและบริการของไทย และโอกาสในการลงทุนดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการไทยใน EFTA รวมทั้งจะช่วยดึงดูดการลงทุนของ EFTA ในไทย โดยเฉพาะในสาขาที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงที่ EFTA มีความเชี่ยวชาญ ซึ่งจะทำให้มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการพัฒนาขีดความสามารถของไทย และมีโอกาสส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ นาฬิกาและส่วนประกอบ และรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น
การทำ FTA กับ EAEU มีโอกาสที่จะขยายความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมสมัยใหม่ เช่น สาขาดิจิทัล และเกษตรอัจฉริยะ ซึ่งเป็นสาขาที่ไทยมีความสนใจ และเป็นสาขาที่ EAEU มีศักยภาพ และมีโอกาสส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง อัญมณีและเครื่องประดับ ผลไม้กระป๋องและแปรรูป เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบ เป็นต้น
การทำ FTA กับ UK มีโอกาสส่งออกได้เพิ่มขึ้นในกลุ่มสินค้าส่งออกสำคัญของไทย เช่น ไก่แปรรูป ผลิตภัณฑ์ยาง รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ รถยนต์และอุปกรณ์ แผงวงจรไฟฟ้า และอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น
ส่วนอาเซียน-แคนาดา มีโอกาสที่จะขยายการส่งออกได้เพิ่มขึ้น เพราะประชากรแคนาดา 37.5 ล้านคน เป็นประชากรที่มีกำลังซื้อสูง และยังมี FTA กับอเมริกาเหนือ ทำให้ไทยมีโอกาสส่งออก โดยสินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ข้าว เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง และยางพารา
ส่วนประเด็นเรื่องแหล่งรายได้ของเงินกองทุนฯ ที่ไม่สามารถพึ่งพารายได้จากงบประมาณภาครัฐเพียงแหล่งเดียว แต่จำเป็นต้องมีรายได้จากแหล่งอื่นเสริมด้วยนั้น กำลังอยู่ระหว่างหารือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะภาคเอกชนที่จะได้หรือเสียประโยชน์จาก FTA และเมื่อหาข้อสรุปได้แล้วก็จะเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียนของกระทรวงการคลังต่อไป
ผู้ได้รับผลกระทบจะมีกองทุน FTA คอยช่วย
นางอรมนกล่าวสรุปว่า ในการเจรจาทำ FTA กรมฯ ไม่ได้มองข้ามผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรี โดยขณะนี้ได้มีการผลักดันให้มีการจัดตั้งกองทุน FTA ขึ้นมาแล้ว เพื่อเป็นหลักประกันให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีได้มีที่พึ่ง และสามารถขอรับความช่วยเหลือได้ โดยการช่วยเหลือแบ่งเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ รูปแบบเงินจ่ายขาด เช่น ทุนวิจัยพัฒนา ทุนจัดหาที่ปรึกษา ทุนฝึกอบรม ทุนจัดกิจกรรมสนับสนุนการตลาด และรูปแบบเงินหมุนเวียน เช่น เงินลงทุนในสิ่งก่อสร้าง และค่าเครื่องมืออุปกรณ์ เป็นต้น โดยกำลังอยู่ระหว่างการนำเสนอให้นายจุรินทร์ ก่อนที่จะนำเสนอให้ กนศ.พิจารณา
สำหรับการจัดตั้งกองทุน FTA จะดำเนินการตาม พ.ร.บ.การบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2558 และ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 โดยจะเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียน ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน เพื่อพิจารณาก่อนเสนอให้ ครม.เห็นชอบตามขั้นตอน รวมทั้งจะต้องมีการจัดทำกฎหมายใหม่ ซึ่งจะเป็นกฎหมายเฉพาะที่ต้องเสนอให้รัฐสภาเห็นชอบอีกด้วย