ม.มหิดล ชี้มหาวิทยาลัยคือ แหล่งสำคัญในการสร้างทรัพย์สินทางปัญญาจากผลงานวิจัย ต้องตอบโจทย์ความต้องการของสังคม พัฒนาเศรษฐกิจระดับประเทศ และทำให้เกิดความยั่งยืน
วันที่ 26 เมษายน ของทุกปี องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Organization - WIPO) ขององค์การสหประชาชาติ ได้จัดตั้งเป็น "วันทรัพย์สินทางปัญญาโลก" นับตั้งแต่ปี 1970 เป็นต้นมา
ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ภัทรชัย กีรติสิน ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ทรัพย์สินทางปัญญาไม่ใช่เรื่องไกลตัว หลายผลิตภัณฑ์ที่เราใช้อยู่ในปัจจุบันนับเป็นทรัพย์สินทางปัญญา จึงเป็นเรื่องที่ควรได้รับการคุ้มครองดูแลอย่างถูกต้องและเป็นธรรม เนื่องจากเกิดจากการลงทุนทางความคิดของเจ้าของผลงาน ซึ่งปัจจุบัน WIPO และองค์การด้านทรัพย์สินทางปัญญาทั่วโลกยังคงต้องใช้เวลาในการสร้างความเข้าใจให้คนเห็นความสำคัญในเรื่องดังกล่าว
มหาวิทยาลัย คือ แหล่งสำคัญในการสร้างทรัพย์สินทางปัญญา โดยเป็นแหล่งรวมของนักวิจัย นักสร้างสรรค์ ผู้สร้างองค์ความรู้ และพร้อมด้วยห้องปฏิบัติการ เครื่องมือ ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่เอื้อต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรม
ด้วยปณิธานแห่งการเป็น "ปัญญาของแผ่นดิน" ของมหาวิทยาลัยมหิดล ผลงานวิจัยและนวัตกรรมทั้งหมดของมหาวิทยาลัยมหิดล จึงมุ่งทำเพื่อประโยชน์ และคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในสังคม ซึ่งกลไกสำคัญของการทำนวัตกรรม จะต้องมีการวางแผนตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ หรือมองให้เห็นภาพรวมทั้งหมดของการสร้างสรรค์ผลงาน
นอกจากนี้ หัวใจสำคัญของการทำนวัตกรรม คือ "Open Innovation" ที่ต้องประกอบด้วยความเชี่ยวชาญที่หลากหลาย เพื่อการทำให้นวัตกรรมบรรลุปณิธานแห่งการเป็น "ปัญญาของแผ่นดิน" มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้จัดตั้ง สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) ขึ้นเพื่อคอยให้คำปรึกษาทางการวางแผนการตลาด อบรมสตาร์ทอัพ จับคู่ทางธุรกิจ ระหว่างผู้สร้างสรรค์ผลงาน และภาคธุรกิจ ไปจนถึงการอำนวยความสะดวกด้านการดำเนินการด้านทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อการคุ้มครองและนำไปใช้ประโยชน์ที่เหมาะสมอย่างครบวงจร
ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยมหิดลมีผลงานที่ยื่นจดทรัพย์สินทางปัญญาเกือบ 3,500 เรื่อง โดยได้รับการจดทรัพย์สินทางปัญญาเรียบร้อยแล้วประมาณ 3,200 เรื่อง ที่เหลืออยู่ระหว่างการดำเนินการ ซึ่งอยู่ในฐานข้อมูลวิจัยออนไลน์ "MU-RIMS" (Mahidol University Research and Innovation Management System)
"หากใช้ปัญญามาทำให้มีมูลค่าเป็นรายได้ ก็จะสามารถทำประโยชน์ได้เพียงส่วนหนึ่ง แต่หากสามารถตอบโจทย์ความต้องการของสังคม พัฒนาเศรษฐกิจระดับประเทศ และทำให้เกิดความยั่งยืนได้ ก็จะสามารถออกดอกออกผลต่อไปได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด" ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ภัทรชัย กีรติสิน ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวทิ้งท้าย