xs
xsm
sm
md
lg

‘ไบเดน’เจรจา‘นายกฯญี่ปุ่น’ชื่นมื่น เน้นหนักหาทาง‘ปิดล้อมจีน’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: แอนดรูว์ แซลมอน


ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ กับ นายกรัฐมนตรีโยชิฮิเดะ ซูงะ ของญี่ปุ่น ออกมาจากที่ประชุมแถลงข่าวซึ่งจัดขึ้นในสวนกุหลาบของทำเนียบขาว ในกรุงวอชิงตัน วันศุกร์ (16 เม.ย.)
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)

Suga, Biden affirm ‘ironclad’ alliance, take aim at China
By ANDREW SALMON
17/04/2021

การหารือระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ กับนายกรัฐมนตรีโยชิฮิเดะ ซูงะ ของญี่ปุ่น เมื่อวันศุกร์ (16 เม.ย.) ถือเป็นซัมมิตแบบเจอเนื้อเจอตัวกันเป็นครั้งแรกระหว่างไบเดนกับผู้นำต่างประเทศตั้งแต่ที่เขาขึ้นดำรงตำแหน่ง แต่ถึงแม้มีความรู้สึกดีๆ จำนวนมากรายล้อมการเจรจาสุดยอดคราวนี้ ความสัมพันธ์ด้านการค้าและด้านยุทธศาสตร์ของสองประเทศพันธมิตร ก็ยังคงมีรูโหว่ขนาดใหญ่ปรากฏให้เห็น

นายกรัฐมนตรี โยชิฮิเดะ ซูงะ ของญี่ปุ่น ได้รับคำรับรองอีกครั้งจากสหรัฐฯว่าจะยึดมั่นปฏิบัติตามพันธะกรณีของข้อตกลงการเป็นพันธมิตรกันระหว่างประเทศทั้งสอง รวมทั้งได้รับคำยกย่องชมเชยเป็นโขยงสืบเนื่องจากการเป็นผู้นำต่างประเทศคนแรก ซึ่งได้รับการต้อนรับจากประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ในกรุงวอชิงตันเมื่อวันศุกร์ (16 เม.ย.) ที่ผ่านมา

“เสรีภาพ, ประชาธิปไตย, สิทธิมนุษยชน, และหลักนิติธรรม เป็นค่านิยมสากลที่เชื่อมโยงความเป็นพันธมิตรกันของพวกเรา และก็เป็นค่าที่นิยมซึ่งแพร่หลายไปทั่วในอินโด-แปซิฟิก และนี่แหละคือสิ่งที่เป็นรากฐานจริงๆ ของความมั่งคั่งรุ่งเรืองและเสถียรภาพของภูมิภาคนี้และของโลก” ซูงะ กล่าวในการเกริ่นนำกับไบเดน ก่อนหน้าที่คณะผู้แทนของทั้งสองประเทศจะนั่งลงเพื่อการเจรจาหารือกัน ตามรายงานของทำเนียบขาว “และด้วยการมาเยือนสหรัฐฯของผมครั้งนี้ ผมใคร่ขอย้ำยืนยันถึงความผูกพันครั้งใหม่และความกระชับแน่นแฟ้นในระหว่างพวกเรา” (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.whitehouse.gov/briefing-room/speeches-remarks/2021/04/16/remarks-by-president-biden-and-prime-minister-suga-of-japan-before-bilateral-meeting/)

การส่งข้อความชนิดอ้างอิงค่านิยมที่ทั้งสองฝ่ายมีอยู่ร่วมกัน ได้รับการขยายความเพิ่มเติมโดยไบเดน ผู้ซึ่งระบุชัดๆ เลยว่า ความท้าทายต่างๆ ที่ประเทศทั้งสองเผชิญอยู่นั้นมาจากไหนและอยู่ที่ตรงไหนบ้าง

“เรามีพันธะกรณีที่จะทำงานร่วมกันเพื่อรับมือกับการท้าทายต่างๆ จากจีน และในประเด็นปัญหาอย่างเรื่องทะเลจีนตะวันออก, ทะเลจีนใต้, รวมทั้งเรื่องเกาหลีเหนือ เพื่อรับประกันให้มีอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้างต่อไปในอนาคต” ไบเดนพูดเช่นนี้ในการแถลงข่าวภายหลังการพบปะหารือกับซูงะ ตามรายงานข่าวจากกรุงวอชิงตันของสื่อสำนักต่างๆ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.reuters.com/world/china/biden-welcome-japans-suga-first-guest-key-ally-china-strategy-2021-04-16/)

ผู้นำทั้งสองยืนยัน “ความสนับสนุนอย่างแข็งแกร่ง” ของพวกตนต่อความเป็นพันธมิตรของทั้งสองประเทศ ไบเดน บอก

“ความเป็นพันธมิตรระหว่างญี่ปุ่น-สหรัฐฯ คือเสาหลักเสาหนึ่งของสันติภาพ, เสถียรภาพ, และความมั่งคั่งรุ่งเรือง ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก และตลอดทั่วโลก” ซูงะ กล่าวเสริม “และเวลานี้มันมีความสำคัญยิ่งกว่าที่ผ่านๆ มาอีกด้วย สืบเนื่องจากสถานการณ์ของภูมิภาคในปัจจุบัน และสภาพแวดล้อมทางด้านความมั่นคงที่ยากลำบาก” (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www3.nhk.or.jp/nhkworld/en/news/20210417_09/)

ไบเดนยังบอกกับที่ประชุมแถลงข่าวถึงแผนการริเริ่มกว้างๆ ซึ่งกำหนดจัดวางกันออกมาเพื่อท้าทายฐานะครอบงำเศรษฐกิจของจีนที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในปริมณฑลเทคโนโลยีระดับสูง โดยเขาระบุว่าสหรัฐฯกับญี่ปุ่นจะลงทุนร่วมกันในด้านไฮเทคแขนงต่างๆ เป็นต้นว่า การสื่อสารเคลื่อนที่ระบบ 5จี, ปัญญาประดิษฐ์, คอมพิวเตอร์ควอนตัม, จีโนมิกส์ (genomics), และห่วงโซ่มูลค่าเซมิคอนดักเตอร์

เรื่องอื่นๆ ซึ่งผู้นำทั้งสองพูดจาหารือกันยังมีเรื่องที่จีนบีบคั้นกดดันไต้หวัน, จีนเพิ่มการควบคุมอย่างเข้มงวดต่อฮ่องกง, และการที่จีนปราบปรามประชากรชาวอุยกูร์มุสลิมในซินเจียง

นอกจากนั้น ซูงะ ซึ่งเข้าร่วมงานประชุมสัมมนาผ่านเว็บ (webinar) ที่จัดโดยองค์การคลังสมอง ศูนย์เพื่อยุทธศาสตร์และการระหว่างประเทศศึกษา (Center for Strategic and International Studies หรือ CSIS) ได้เสนอตัวพร้อมพบปะเจรจากับ คิม จองอึน ผู้นำของเกาหลีเหนือ โดยที่ไม่มีการกำหนดเงื่อนไขล่วงหน้าใดๆ

การหารือระหว่างผู้นำทั้งสองในครั้งนี้ได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษ และทั้งไบเดนและซูงะก็ค่อนข้างให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นการประชุมซัมมิตครั้งแรกกับผู้นำต่างประเทศของไบเดนนับแต่ที่เขาเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ขณะที่ ซูงะ ก็เดินตามรอยของ ชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นคนก่อนหน้าเขา – ซึ่งก็เป็นประมุขแห่งรัฐหรือประมุขฝ่ายบริหารต่างชาติคนแรกที่ได้เข้าหารือกับ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีอเมริกันคนก่อนหน้าไบเดน

ซูงะนั้นมุ่งแสวงหาหลักประกันความมั่นใจว่า สหรัฐฯนั้นถึงแม้อยู่ในภาวะแตกแยกภายในประเทศทั้งด้านสังคมและด้านการเมือง แต่ก็จะยังคงธำรงรักษาการมีปฏิสัมพันธ์กับอินโด-แปซิฟิก ในห้วงเวลาที่จีนผู้มีความมั่นอกมั่นใจ กำลังยกระดับเศรษฐกิจของตนขึ้นมาอย่างสูงลิ่วชนิดไม่เคยปรากฏมาก่อน และเวลาเดียวกันก็กำลังแสดงท่าทีแข็งกร้าวยืนกรานยิ่งขึ้นกว่าที่ผ่านๆ มาบนเวทีระดับโลกและเวทีภูมิภาค

เรื่องนี้ฝ่ายญี่ปุ่นได้รับการยืนยันให้ความมั่นใจไปมากทีเดียว โดยถึงแม้ไบเดนต้องประสบกับประเด็นปัญหาภายในประเทศมากมายเหลือเกิน แต่เขาก็ยังคงแสดงท่าทีชัดเจนว่าให้ความสำคัญกับการร่วมมือกับชาติอื่นๆ แบบพหุภาคีนิยม ขณะที่เขาทำงานเพื่อแก้ไขซ่อมแซมความเป็นพันธมิตรระหว่างสหรัฐฯกับชาติอื่นๆ ซึ่งได้รับเสียหายในสมัยของทรัมป์

เขายังส่งสัญญาณออกมาด้วยว่า คณะบริหารของเขาให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกๆ กับภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ในห้วงเวลาที่จีนกำลังเสนอตัวเองขึ้นมาว่าสามารถท้าทายอำนาจของสหรัฐฯในภูมิภาคนี้ได้

การประชุมซัมมิตในคราวนี้ เป็นการที่ ไบเดน พบปะหารือแบบตัวเป็นๆ กับผู้นำต่างประเทศครั้งแรกก็จริงอยู่ แต่ก่อนหน้านี้เขากับ ซูงะ และผู้นำของออสเตรเลียกับอินเดีย ได้เคยประชุมซัมมิตทางออนไลน์กันมาแล้วในนามของกลุ่ม “คว็อด” (Quad) ที่เป็นการรวมกลุ่มกันอย่างไม่เป็นทางการของ 4 ประเทศประชาธิปไตยในภูมิภาคนี้ ซึ่งมีท่าทีต่อต้านคัดค้านจีน

นอกจากนั้น การไปเยือนต่างประเทศครั้งแรกของรัฐมนตรีต่างประเทศและรัฐมนตรีกลาโหมของไบเดน เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ยังเป็นการเดินทางไปญี่ปุ่นและจากนั้นก็ต่อไปยังเกาหลีใต้

สำหรับซูงะ เขาได้โอกาสที่จะส่งข้อความของเขาไปถึงผู้ชมผู้ฟังสหรัฐฯในวงกว้างมากขึ้นในงานที่จัดโดย CSIS โดยมุ่งเจาะจงเป็นพิเศษที่จะพูดถึงเกาหลีเหนือ และเรื่องที่ญี่ปุ่นกำลังขยายความเป็นหุ้นส่วนทางด้านการค้าและทางด้านความมั่นคง ในแบบพหุภาคี

เขาเริ่มต้นด้วยการพูดถึงเกาหลีเหนือ โดยชี้ว่าเมื่อเดือนที่แล้วโสมแดงได้ยิงทดสอบขีปนาวุธแบบทิ้งตัว (ballistic missiles) และได้ยิงขีปนาวุธเช่นนี้มากว่า 80 ครั้งแล้วตั้งแต่ที่เขาเข้าดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2013 ขณะที่เรียกร้องให้ดำเนินความร่วมมือไตรภาคี ระหว่างญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, และสหรัฐฯ เพื่อทำให้การปลดอาวุธเกาหลีเหนือกลายเป็นสิ่งที่ปรากฏขึ้นมาได้จริงๆ เขาก็บอกด้วยว่า “เรื่องสำคัญลำดับแรกสุดของคณะบริหารของผมคือประเด็นปัญหาการลักพาตัว ... ท่านประธานาธิบดีไบเดนได้แสดงความมุ่งมั่นให้สัญญาที่จะแก้ไขเรื่องนี้กันโดยทันที”

นี่เป็นการอ้างอิงถึงประเด็นปัญหาที่มีความยุ่งยากซับซ้อนมาก นั่นคือ กรณีที่มีชาวญี่ปุ่นหลายสิบคนถูกเกาหลีเหนือลักพาตัวไปในระยะหลายๆ สิบปีที่ผ่านมา กรณีนี้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นเรื่องสำคัญมาก ณ การประชุมซัมมิตเมื่อปี 2002 ระหว่าง จุนอิชิโร โคอิซูมิ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเวลานั้น กับ คิม จองอิล ผู้นำเกาหลีเหนือที่ล่วงลับไปแล้ว

ในส่วนที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับประเด็นปัญหาดังกล่าวนี้ ซูงะเสนอตัวพร้อมพบปะหารือกับ คิม จองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือคนปัจจุบันซึ่งเป็นบุตรชายของ คิม จองอิล โดยที่ไม่มีการตั้งเงื่อนไขล่วงหน้าใดๆ เพื่อที่จะสถาปนา “ความสัมพันธ์ที่ผลิดอกออกผล” กับโสมแดง

ในเรื่องเกี่ยวกับจีน เขากล่าวว่า “นโยบายของญี่ปุ่นคือการย้ำยืนกรานอย่างหนักแน่นในสิ่งที่ควรต้องมีการย้ำยืนกรานกัน และขอร้องอย่างแข็งขันต่อจีนให้มีการปฏิบัติการอย่างพิเศษเจาะจง” เขาบอกอีกว่าจีน “เป็นผู้ที่ถือกุญแจ” ไขสู่เกาหลีเหนือ

สำหรับเรื่องสิทธิมนุษยชนในพม่า, ฮ่องกง, และซินเจียง เขากล่าวว่า ญี่ปุ่นจะ “ส่งเสียงของตนออกมาอย่างหนักแน่น และทำงานร่วมกับประชาคมระหว่างประเทศ และแสวงหาการปฏิบัติการต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรม”

ท่ามกลางการพูดจาอ้างอิงกันอยู่บ่อยครั้งทั้งจากผู้นำอเมริกันและผู้นำญี่ปุ่น เกี่ยวกับเรื่อง “อินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง” ซูงะชี้ว่า ในแง่มุมที่กว้างขวางออกไปอีก ญี่ปุ่น “ต้องทำงานเพื่อสถาปนาความสัมพันธ์ที่มีเสถียรภาพกับหุ้นส่วนทั้งหลาย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีความสัมพัน์อันใกล้ชิดกับสหรัฐฯ”

ขณะที่เขาพูดถึง “ความผูกพันกันอย่างเหนียวแน่น” และ ความเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ “ที่แข็งแกร่งมั่นคง” อยู่นี้ ระยะเวลาไม่กี่ปีหลังๆ มานี้ ญี่ปุ่นยังได้หาทางร่วมมือกับทั้งสหภาพยุโรป, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, และสหราชอาณาจักร เพื่อการเป็นหุ้นส่วนกันด้านกลาโหม

“เราส่งเสริมสนับสนุนทั้งความเป็นพันธมิตรญี่ปุ่น-สหรัฐฯที่แข็งแกร่ง และทั้งการมุ่งเข้าถึงปัญหาในลักษณะพหุภาคีอย่างแข็งขันในเวลาเดียวกัน” ซูงะ กล่าว

นอกเหนือจากสหรัฐฯ, ญี่ปุ่น, และหุ้นส่วนอื่นๆ ในกลุ่มคว็อดแล้ว “อาเซียนและยุโรปก็กำลังมีความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ ในอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง” ซูงะ บอก เขาพูดถึงเรื่องนี้ว่า “เป็นการส่งเสริมให้กำลังใจ” และบอกว่า มันถึง “เวลาสำหรับการเปลี่ยนผ่านวิสัยทัศน์ให้กลายเป็นการกระทำ โดยผ่านกิจการต่างๆ และความร่วมมือกัน”

ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่า ไบเดน จะให้คำมั่นผูกพันอะไรหรือไม่ในการกลับเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership หรือ TPP) ข้อตกลงการค้าเสรีระดับภูมิภาคซึ่งทรัมป์ประกาศถอนตัวออกมาในปี 2017 การผละจากไปของสหรัฐฯได้ทิ้งให้ญี่ปุ่นต้องเข้าเทคโอเวอร์ความเป็นผู้นำของแผนการริเริ่มนี้ ซึ่งได้มีการรีแบรนด์กันใหม่โดยใช้ชื่อว่า ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement for TPP ใช้อักษรย่อว่า CPTPP) และเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2018

เรื่องนี้ชี้ให้เห็นถึงรูโหว่บางอย่างบางประการที่มีอยู่ในความเป็นพันธมิตรกันระหว่างญี่ปุ่นกับสหรัฐฯ

ญี่ปุ่นนั้นเข้าร่วมในข้อตกลงการค้าเสรีระดับภูมิภาคทั้ง CPTPP และทั้ง ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership หรือ RCEP) และระยะไม่กี่ปีหลังๆ มานี้ยังได้ลงนามในข้อตกลงการค้าเสรีระดับทวิภาคีกับทั้งสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักร ตามข้อมูลของ CSIS เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ประมาณ 10% ของการค้าของญี่ปุ่นเท่านั้นที่เป็นการค้าตามข้อตกลงการค้าเสรีทั้งหลาย แต่เวลานี้ตัวเลขดังกล่าวได้พุ่งพรวดขึ้นมาเป็นมากกว่า 80%

ถึงแม้โตเกียวกับวอชิงตันได้ลงนามในข้อตกลงการค้าขอบเขตจำกัดกันในสมัยของทรัมป์ แต่สหรัฐฯก็ไม่เคยเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงการค้าเสรีในขอบเขตกว้างขวางกว่านี้ใดๆ ที่ญี่ปุ่นเข้าร่วมด้วยเลย

เวลาเดียวกัน ถึงแม้ ซูงะ พูดชัดเจนว่าให้ความสำคัญแก่กลุ่มคว็อดที่เป็นกลุ่มพันธมิตรด้านความมั่นคง ทว่าทั้ง 4 ชาติที่เข้าร่วมกลุ่มอย่างไม่เป็นทางการนี้ ซึ่งได้แก่ สหรัฐฯ, ญี่ปุ่น, ออสเตรเลีย, และอินเดีย จะมีปฏิบัติการอะไรบ้างเพื่อตอบโต้ต้านทานจีน ยังคงมืดมัวไร้ความแจ่มแจ้ง

ซูงะ พาดพิงถึงจุดนี้ด้วย เมื่อเขาบอกกับที่ประชุมสัมมนาของ CSIS ว่า กลุ่มคว็อด “ควรแก้ไขรับมือกับความท้าทายต่างๆ ในระดับภูมิภาค และยึดมั่นปฏิบัติตามค่านิยมสากล ... ทีละก้าวๆ ... เพื่อสร้างผลงานอันหนักแน่นในเรื่องการใช้ความพยายามอย่างเป็นรูปธรรม” โดยนอกเหนือจากการยึดมั่นในความมั่นคงของการเดินเรือทะเล และการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพแล้ว กลุ่มนี้ยังควรร่วมมือกันในเรื่องเทคโนโลยีที่มีความสำคัญยิ่งยวดและเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศอีกด้วย เขาเสนอเช่นนี้

ไต้หวันที่กำลังเผชิญกับความเป็นไปได้สำหรับการที่จีนอาจจะใช้ความแข็งกร้าวเข้ารุกราน ถือเป็นพื้นที่สีเทาอีกพื้นที่หนึ่ง ซูงะ ไม่ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับประเด็นปัญหานี้ในการประชุมสัมมนาที่ CSIS

เมื่อถูกผู้สื่อข่าวสอบถามเรื่องเกี่ยวกับไต้หวัน ณ การประชุมแถลงข่าวร่วมภายหลังหารือกับไบเดน ซูงะตอบว่าเขาไม่มีความปรารถนาที่จะเปิดเผยรายะเอียด แต่กล่าวว่า “ความสำคัญของสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน เป็นบางสิ่งบางอย่างที่ทั้งญี่ปุ่นและสหรัฐฯต่างมีความเห็นพ้องร่วมกัน และเราย้ำยืนยันในเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่ง” (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://english.kyodonews.net/news/2021/04/cf5738621c34-suga-biden-to-meet-in-person-to-showcase-alliance-amid-chinas-rise.html)

ผู้เชี่ยวชาญหลายรายบอกกับเอเชียไทมส์เมื่อวันศุกร์ (16 เม.ย.) (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://asiatimes.com/2021/04/hard-strategic-realities-keep-us-and-japan-apart/) ว่า ไม่เหมือนกับเรื่องที่ญี่ปุ่นกับสหรัฐฯค่อนข้างเปิดเผยว่า มีการวางแผนการฉุกเฉินสำหรับรับมือกับวิกฤตการณ์ที่อาจเกิดขึ้นบนคาบสมุทรเกาหลี ทว่าชาติพันธมิตรทั้งสองกลับไม่มีข้อตกลงความเข้าใจเบื้องต้นใดๆ เตรียมพร้อมเอาไว้ เพื่อรับมือกับภาวะฉุกเฉินในไต้หวัน

พวกผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ยังชี้ว่า ขณะที่สหรัฐฯสามารถปฏิบัติการได้อย่างมีพลังอำนาจ เมื่อเป็นเรื่องการตอบโต้จีนในปริมณฑลทางการทหารและทางเศรษฐกิจ แต่สภาพความเป็นจริงทางการพาณิชย์และทางการเมืองกลับกีดขวางไม่ให้ญี่ปุ่นสามารถปฏิบัติการในปริมณฑลเดียวกันเหล่านี้ด้วยความแข็งขันในทำนองเดียวกัน

และถึงแม้ในการประชุมสัมมนาของ CSIS ซูงะ ได้อ้างอิงถึงความร่วมมือไตรภาคี ซึ่งรวมเอาเกาหลีใต้เข้ามาด้วย แต่พวกผู้เชี่ยวชายเหล่านี้ชี้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างโซลกับโตเกียวที่เต็มไปด้วยคลื่นลมแรงมาโดยตลอด สร้างความหงุดหงิดผิดหวังให้แก่สหรัฐฯซึ่งพยายามที่จะร่วมมือประสานกิจกรรมต่างๆ ในภูมิภาคนี้

นายกรัฐมนตรีโยชิฮิเดะ ซูงะ ของญี่ปุ่น รับฟัง ขณะประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯพูดในที่ประชุมแถลงข่าวที่สวนกุหลาบของทำเนียบขาว ภายหลังทั้งสองฝ่ายเจรจาหารือกันเมื่อวันศุกร์ (16 เม.ย.)

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ เจรจาหารือกับ นายกรัฐมนตรีโยชิฮิเดะ ซูงะ ของญี่ปุ่น ที่ทำเนียบขาวเมื่อวันศุกร์ (16 เม.ย.)
กำลังโหลดความคิดเห็น