xs
xsm
sm
md
lg

โควิด-19 ระลอก 3 คาดฉุดเศรษฐกิจเสียหาย 2-3 แสนล้าน กระทบจีดีพี 1.24%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทยเผยผลสำรวจประธานและสมาชิกหอการค้าไทยประเมินโควิด-19 ระลอก 3 เศรษฐกิจเสียหาย 1 แสนล้านบาทต่อเดือน หากคุมได้ภายใน 2 เดือนจะเสียหาย 2-3 แสนล้าน กระทบจีดีพี 1.24% แต่ยังไม่ปรับเป้าจีดีพีปีนี้ มั่นใจรัฐบาลอัดมาตรการกระตุ้นต่อเนื่อง และได้แรงหนุนจากส่งออกโตจะช่วยผลักดันเศรษฐกิจ

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ศูนย์ฯ ได้สำรวจความคิดเห็นของประธานและสมาชิกหอการค้าไทยจำนวน 237 ตัวอย่าง เพื่อประเมินผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 ที่มีต่อเศรษฐกิจไทย พบว่าทำให้เม็ดเงินหายไปจากระบบเศรษฐกิจ 3,338 ล้านต่อวัน หรือ 100,140 ล้านบาทต่อเดือน ความต้องการแรงงานลดลง 148,933 คนต่อเดือน ส่งผลกระทบต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจหรือจีดีพี 0.62% ต่อเดือน โดยภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการของทั้งประเทศหายไปราว 1 แสนล้านบาทต่อเดือน แยกเป็นโซนสีแดง พื้นที่ควบคุมสูงสุด 18 จังหวัด หายไปราว 8.4 หมื่นล้านบาทต่อเดือน และโซนสีส้ม พื้นที่ควบคุม 59 จังหวัด หายไปราว 1.57 หมื่นล้านบาทต่อเดือน โดยหากรัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ภายใน 2 เดือนจะมีความเสียหายทางเศรษฐกิจ 2-3 แสนล้านบาท หรือกระทบจีดีพี 1.24%

“การระบาดรอบที่มาจากคลัสเตอร์สถานบันเทิงทำให้มีจำกัดเวลาเปิด-ปิด ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร ปิดสถานบันเทิง ห้ามขายแอลกอฮอล์ ซึ่งแม้ไม่ล็อกดาวน์ แต่ก็มีการคุมเข้มสูง ทำให้กระทบความเชื่อมั่น การจับจ่ายใช้สอย การท่องเที่ยว รายได้หายไป 10-20% สภาพคล่องทางการเงินแย่ กำไรหดหาย ก่อหนี้มากขึ้น ที่สำคัญคือ การไม่ฉีดวัคซีนตามแผนที่วางไว้”

ทั้งนี้ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวในอีก 15 เดือน หรือประมาณกลางปี 2565 และจะกลับมาเป็นปกติในปลายปี ซึ่งภาคเอกชนเสนอให้รัฐบาลต้องเร่งฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุดและเสริมสภาพคล่องให้เอกชนเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อให้ผ่านพ้นสถานการณ์ไปได้

นายธนวรรธน์กล่าวว่า ศูนย์ฯ ยังไม่ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยจากเดิมที่คาดไว้ 2.8% เพราะเชื่อว่ารัฐบาลจะอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเพื่อชดเชยผลกระทบจากโควิด-19 ที่หายไปราว 2-3 แสนล้านบาท ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือกระตุ้นกำลังซื้อประชาชน โดยเฉพาะโครงการคนละครึ่งเฟส 3 วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท และเมื่อเติมครึ่งหนึ่งของประชาชนก็ทำให้มีเงินหมุนในระบบ 1 แสนล้านบาท โดยคาดว่าจะเริ่มในปลายเดือน พ.ค. ส่งผลให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจในไตรมาส 3 และ 4 รวมทั้งยังมีโครงการอื่น ทั้งเราชนะ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เรารักกัน ประกอบกับการส่งออกปีนี้ขยายตัวดีขึ้น โดยคาดว่าจะขยายตัว 4-5% แต่รัฐบาลต้องดูแลให้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ที่ 31 บาทต่อเหรียญสหรัฐ เพื่อเป็นแรงหนุนการส่งออกชดเชยเศรษฐกิจของประเทศที่รายได้หดหายไปจากการท่องเที่ยวที่ยังไม่ฟื้นตัว




กำลังโหลดความคิดเห็น