ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน มี.ค. 64 ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง หลังคนกังวลการแพร่ระบาดของโควิด-19 กระทบกำลังซื้อลดลง ท่องเที่ยวชะลอตัว และมีปัญหาการเมืองในประเทศ เผยการระบาดรอบใหม่ทำให้การบริโภคหดตัว 5-10% ยอดใช้จ่ายหาย 3-5 หมื่นล้านบาท
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน มี.ค. 2564 ที่สำรวจกลุ่มตัวอย่าง 2,249 คน ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันอยู่ที่ 32.9 ลดจาก 33.7 และดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตอยู่ที่ 55.8 ลดจาก 56.8 ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมอยู่ที่ระดับ 48.5 ปรับตัวลดลงจากเดือน ก.พ. 2564 ที่อยู่ที่ระดับ 49.4 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 42.5 ลดจาก 43.4 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำอยู่ที่ 45.3 ลดจาก 46.1 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 57.7 ลดจาก 58.7
“ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ลดลงแสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังคงเห็นสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังคงย่ำแย่จากโควิด-19 ทั้งในประเทศและทั่วโลก ส่งผลกระทบเชิงลบต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก ธุรกิจโดยทั่วไป และการจ้างงานในอนาคต โดยบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบัน และในอนาคตได้อย่างต่อเนื่อง”
สำหรับปัจจัยลบสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น ได้แก่ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ประกาศให้งดกิจกรรมสาดน้ำ ประแป้ง และปาร์ตี้โฟมทุกพื้นที่ในช่วงสงกรานต์ ส่งผลให้เกิดความกังวลต่อการระบาดของโควิด-19 กระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน การทำธุรกิจ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและบริการต่างๆ, คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2564 สู่ระดับ 3.0% จากเดิม 3.2% และความกังวลจากเสถียรภาพทางการเมืองและสถานการณ์ทางด้านการเมือง ตลอดจนการชุมนุมทางการเมือง ที่อาจส่งผลประเทศไทยจะต้องเผชิญปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองเหมือนอดีตที่ผ่านมา
ส่วนปัจจัยบวก ได้แก่ ภาครัฐดำเนินมาตรการเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ประกอบด้วยโครงการเราชนะ โครงการเรารักกัน โครงการคนละครึ่ง โครงการเราเที่ยวด้วยกัน โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีส่วนช่วยกระตุ้นกำลังซื้อให้ปรับตัวดีขึ้นทั่วประเทศ, กนง.มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 0.50% ต่อปี และราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้นหรือทรงตัวในระดับที่ดี โดยเฉพาะข้าว ยางพารา และมันสำปะหลัง ส่งผลให้เกษตรกรเริ่มมีรายได้สูงขึ้น กำลังซื้อในต่างจังหวัดเริ่มปรับตัวดีขึ้น
ทั้งนี้ การสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นในครั้งนี้ยังไม่ได้รวมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ล่าสุด แต่จากการติดตามสถานการณ์มองว่าการแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นจะส่งผลให้การจับจ่าย การบริโภคในภาพรวมของผู้บริโภคลดลง 5-10% หรือมูลค่าใช้จ่ายที่หายไปประมาณ 30,000-50,000 ล้านบาท เนื่องจากประชาชนกังวลมากขึ้น ชะลอการใช้จ่าย โดยคาดหวังว่าจากการแพร่ระบาดครั้งนี้จะสามารถควบคุมได้ภายใน 1-2 เดือนนับจากนี้
ส่วนการสำรวจการใช้จ่ายของผู้บริโภค เช่น การซื้อรถคันใหม่อยู่ที่ 46.2 การซื้อบ้านหลังใหม่อยู่ที่ 29.9 การใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวอยู่ที่ 40.8 การลงทุนธุรกิจอยู่ที่ 19.7 โดยส่วนใหญ่อยู่ในระดับต่ำ ซึ่งสะท้อนว่าประชาชนยังกังวลการใช้จ่ายจากปัญหาโควิด-19 ที่เกิดขึ้น