ส.อ.ท.เตือนทุกฝ่ายการ์ดต้องไม่ตก! ช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่คนในพื้นที่โซนสีแดงอาจไหลออกนอกพื้นที่ทำให้การแพร่กระจายจะมีมากขึ้น แนะปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัด ใส่หน้ากาก เว้นระยะห่าง ล้างมือ ชี้หากบานปลายอาจส่งผลกระทบต่อ ศก.ฟื้นตัวช้าขึ้น
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ส.อ.ท.มีความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ล่าสุดที่อาจขยายวงกว้างได้ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่จะมีการเดินทางท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น จึงวอนขอให้ทุกฝ่ายอย่าการ์ดตก โดยดำเนินมาตรการป้องกันการแพร่เชื้อโควิด-19 ตามที่กระทรวงสาธารณสุขและรัฐบาลแนะนำอย่างเคร่งคัด โดยเฉพาะการสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ เป็นต้น เพราะไม่เช่นนั้นการระบาดจะรุนแรงจนนำไปสู่ผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจในภาพรวมให้ฟื้นตัวช้าลงไปได้
“ขณะนี้รัฐบาลได้ประกาศ 5 พื้นที่สีแดง กรุงเทพฯ ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ นครปฐม หลัง “คลัสเตอร์สถานบันเทิง” ทำยอดการติดเชื้อของไทยเพิ่มขึ้นอย่างมาก ดังนั้นสิ่งที่กังวลคือช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่จะมีการหยุดยาวหลายคนในพื้นที่นี้อาจเดินทางไปยังพื้นที่อื่นๆ ที่เป็นสีส้ม สีเขียว แล้วหากไม่ดูแลป้องกันตนเองอย่างรัดกุมจะทำให้การแพร่ระบาดนี้ลามไปยังส่วนอื่นๆ ที่สุดอาจกลายเป็นโซนสีแดงเพิ่มขึ้น ซึ่งคงไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจภาพรวม” นายเกรียงไกรกล่าว
ทั้งนี้ ส.อ.ท.มีความกังวลต่อสถานการณ์ดังกล่าวเนื่องจากส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าไทยยังมีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพียง 3 แสนโดสเท่านั้น ยังถือว่าเป็นอัตราที่น้อยมากหากเทียบกับจำนวนประชากรทั้งหมดของประเทศ ดังนั้น กลุ่มเสี่ยงในพื้นที่สีแดงจึงต้องเข้มงวดเป็นพิเศษในการป้องกันการแพร่ระบาด ซึ่งหากละเลยไม่ทำตามที่รัฐและแพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัดการแพร่ระบาดจะรุนแรงกว่าทุกครั้งที่ผ่านมาๆ อาจนำไปสู่การล็อกดาวน์พื้นที่เพิ่มขึ้นซึ่งจะเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจที่กำลังจะฟื้นตัว และภาพเดิมๆ ในอดีตก็อาจจะกลับมาที่ธุรกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) จะยิ่งประสบปัญหาการขาดสภาพคล่องหนัก
นอกจากนี้ ภาระการคลังของไทยเอง จากการระบาดรอบที่ผ่านๆ มาที่ทำให้ต้องกู้เงินมาอัดฉีดกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นจำนวนมากก็จะยิ่งทำให้รัฐต้องหามาตรการมาอัดฉีดเศรษฐกิจหลังจากนี้เพิ่มขึ้นไปอีก ขณะที่การจัดเก็บรายได้รัฐบาลก็จะยิ่งไม่เข้าเป้าหมายมากขึ้นกว่าเดิม จากที่ล่าสุดคลังได้มีการรายงานการจัดเก็บรายได้เข้ารัฐสุทธิใน 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2564 (ตุลาคม 2563-กุมภาพันธ์ 2564) จัดเก็บได้ 842,187 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 105,521 ล้านบาท หรือ 11.1% และต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 145,064 ล้านบาท หรือ 14.7%