กกร.เตรียมหารือวันที่ 7 เม.ย. ประเมินทิศทางเศรษฐกิจไทย พร้อมติดตามความคืบหน้าแผนบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 หวังรัฐเร่งระดมฉีดให้ประชาชนโดยเร็วเพื่อขับเคลื่อน ศก.และผ่อนคลายมาตรการก่อนลุยเปิดประเทศเต็มรูปแบบ ม.ค. 65 ตามแผนที่กำหนดไว้ ชี้ ยิ่งเปิดได้เร็วก็จะทำให้ ศก.ฟื้นเร็ว เชื่อมั่นรัฐจะควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 คลัสเตอร์ใหม่ได้
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ประกอบด้วย ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และ สมาคมธนาคารไทย วันที่ 7 เมษายนนี้ จะมีการหารือภาพรวมเศรษฐกิจไทย รวมถึงติดตามความคืบหน้าของแผนการบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 ของรัฐ ซึ่งเห็นว่ายังเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องเร่งฉีดให้กับประชาชนโดยเร็วเพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) 30 มี.ค.ที่เห็นชอบแผนเปิดประเทศ ตามที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ จากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) เสนอแนวทางผ่อนคลายมาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยว 4 ระยะ ซึ่งจะเปิดประเทศเต็มรูปแบบ ม.ค. 2565 เป็นต้นไป
“ขณะนี้มีการแพร่กระจายโควิด-19 ที่เป็นคลัสเตอร์ใหม่ ซึ่งยังเชื่อมั่นว่า มาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลออกมาจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้เช่นที่ผ่านๆ มา แต่สิ่งสำคัญยังอยากเห็นการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับคนไทยโดยเร็ว เพราะยิ่งเร็วก็จะยิ่งดีและจะทำให้การเปิดประเทศเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามที่รัฐวางไว้จะตามมาเร็วด้วย โดยเฉพาะหากไทยฉีดได้หมดเร็วโอกาสที่ไทยจะเปิดท่องเที่ยวกับประเทศที่เสี่ยงต่ำ หรือ Travel Bubble ก็จะมีมากขึ้น ซึ่ง ส.อ.ท.เห็นด้วยอย่างยิ่งต่อแนวทางการเปิดประเทศดังกล่าวเพราะยิ่งเปิดได้เร็วเศรษฐกิจก็จะเริ่มค่อยๆ กลับมารัฐบาลเองก็จะสามารถกำหนดมาตรการดูแลเศรษฐกิจเท่าที่จำเป็น” นายสุพันธุ์ กล่าว
ปัจจุบันรัฐบาลได้มีแผนบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 ไว้แล้ว โดยล่าสุดทางสาธารณสุขได้รับคำยืนยันวัคซีนซิโนแวคล็อตสุดท้าย 1 ล้านโดส จะส่งถึงไทยภายในกลาง เม.ย.นี้ และยังประสบความสำเร็จในการเจรจาสั่งซื้อวัคซีนเพิ่มเติมจากซิโนแวคเพิ่มอีก 5 แสนโดส ซึ่งเป็นวัคซีนเพิ่มเติมไว้รับมือเฉพาะหน้าระหว่างรอวัคซีนจากแอสตร้าเซนเนก้าที่ผลิตในประเทศไทย ซึ่งทยอยออกมาฉีดให้ประชาชนในเดือน มิ.ย. เดือนละ 5-10 ล้านโดส
พร้อมกับได้เปิดให้ภาคเอกชนที่ต้องการนำเข้าวัคซีนโควิด-19 เข้ามาในประเทศได้เช่นกัน โดยวัคซีนจะต้องผ่านการขึ้นทะเบียนกับสำนักงานสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่ง อย.ได้มีการทยอยอนุมัติการขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 ต่อเนื่อง เช่น วัคซีนโควิด-19 จากบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด, โคโรนาแวค จากบริษัท ซิโนแวค ไบโอเทค จำกัด จาก สาธารณรัฐประชาชนจีน, จอนห์สันแอนด์จอนห์สัน, แอสตร้าเซนเนก้า ที่ผลิตในประเทศอิตาลี เป็นต้น
“การฉีดวัคซีนให้กับประชาชนหากเป็นไปได้เห็นว่าควรเร่งพิจารณาฉีดกับกลุ่มที่มีผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เร็วขึ้น เช่น ธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจบริการ พ่อค้า แม่ค้า เป็นต้น ซึ่งคนเหล่านี้ทำงานใกล้ชิดกับคนหมู่มาก หากมีการรีบฉีดก็จะป้องกันการแพร่ระบาดได้เร็วขึ้น และเศรษฐกิจก็จะไม่ชะงักเมื่อมีปัญหาการแพร่ระบาด ส่วนภาวะเศรษฐกิจโดยรวม หากรัฐควบคุมไม่ให้การแพร่ระบาดคลัสเตอร์ใหม่กระจายเป็นวงกว้าง โดยอยู่ในวงจำกัดก็จะไม่กระทบมากนัก ประกอบกับแนวโน้มที่หลายประเทศเริ่มมีการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทำให้เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวโดยสะท้อนการส่งออกที่เพิ่มขึ้นในเดือน ก.พ. 64 ซึ่งที่ผ่านมา กกร.ได้ประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยปี 2564 จะขยายตัวในกรอบ 1.5-3.5% การส่งออกขยายตัวได้ร้อยละ 3-5% ขณะที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในกรอบ 0.8-1.0%” นายสุพันธุ์ กล่าว