กระทรวงการคลัง ผนึกกระทรวงอุตสาหกรรม และ ส.อ.ท.เร่งขับเคลื่อน Made in Thailand หลังคลอดกฎบังคับให้หน่วยงานรัฐที่มีงบจัดซื้อจัดจ้างกำหนด TOR ต้องซื้อวัสดุหรือสินค้าที่ผลิตในไทย 60% เว้นเหล็กต้อง 90% รุกยึดตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ 1 ล้านล้านบาท บูมเศรษฐกิจ “สุริยะ” มั่นใจดึงลงทุน ตปท.เข้าไทย
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า รัฐได้ร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในการกำหนดนโยบาย Made in Thailand ซึ่งกระทรวงการคลังได้ออกกฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2563 ด้วยการกำหนดให้หน่วยงานรัฐต้องจัดซื้อจัดจ้างสินค้าที่ผลิตภายในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 60% ของวัสดุที่ใช้ยกเว้นเหล็กที่ไม่น้อยกว่า 90% ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2563 คาดว่าจะมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจของไทยและทำให้ผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) เข้มแข็งขึ้นเพราะแต่ละปีหน่วยงานรัฐทั่วประเทศจะมีงบประมาณในการจัดซื้อจัดจ้างกว่า 1.77 ล้านล้านบาท
“ขณะนี้กรมบัญชีกลางได้ทำหนังสือไปยังส่วนราชการทุกหน่วยงานแล้ว หลังจากนี้จะได้ทยอยออก TOR จัดซื้อจัดจ้างตามขั้นตอนต่อไปแต่ละหน่วยงานที่ต้องสอดรับกับกฎหมายที่กำหนด หากเป็นไปได้ก็อยากจะให้เป็น Made in Thailand for Thai People เพื่อให้คนไทยได้เห็นถึงศักยภาพสินค้าไทยได้มากขึ้นและจะเป็นเม็ดเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้เยอะมาก” นายอาคมกล่าว
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันมีโรงงานอุตสาหกรรมที่จดทะเบียนต่อกรมโรงงานอุตสาหกรรมประมาณ 60,000 โรง รวมทั้งกลุ่มเอสเอ็มอีที่เป็นซัปพลายเชนอีกเป็นจำนวนมาก ตลอดจนเชื่อมโยงไปยังแรงงานอีกกว่า 5 ล้านคนจะมีโอกาสเพิ่มรายได้จาก Made in Thailand ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในการนำเม็ดเงินมาหมุนเวียนในธุรกิจ พร้อมฟื้นฟูภาระหนี้สินที่อาจเกิดขึ้นในช่วงโควิด-19 นอกจากนี้ นโยบายดังกล่าวยังมีส่วนสำคัญที่จะส่งเสริมให้เกิดการย้ายฐานการลงทุนจากต่างประเทศมายังไทยมากขึ้นในอนาคต โดยคาดว่าจะเห็นผลภายใน 1 ปี
“เดิมไม่มีการกำหนดใน TOR ทำให้การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเปิดทางให้เกิดการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเข้ามา แต่เมื่อมีนโยบาย Made in Thailand ผ่านกฎกระทรวงของคลังล่าสุดก็จะทำให้สินค้าที่เคยต้องนำเข้ามาตัดสินใจมาลงทุนในไทยแทน ซึ่งมาตรการของคลังดังกล่าวหากคิดเป็น 60% ที่กำหนดจัดซื้อจัดจ้างสินค้าไทยก็จะมีมูลค่าถึง 1 ล้านล้านบาท จากงบจัดซื้อจัดจ้างกว่า 1.77 ล้านล้านบาท” นายสุริยะกล่าว
ดึงแสนรายการสินค้าเข้าสู่ MiT
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า ส.อ.ท.ได้เตรียมพร้อมการรับขึ้นทะเบียนสินค้า Made in Thailand หรือ MiT ด้วยการเปิดให้ลงทะเบียนตั้งแต่ ม.ค. 64 ขณะนี้ขึ้นทะเบียนแล้ว 800 ราย และอยู่ในไปป์ไลน์อีก 1,000 ราย ซึ่งภายใน 1 เม.ย.นี้จะทำเป็นแพลตฟอร์มจะทำให้มีการลงทะเบียนได้มากขึ้น โดยตั้งเป้าหมายปี 2564 จะมีผู้ยื่นรับรอง MiT ไม่ต่ำกว่า 100,000 รายการสินค้า เป็นโอกาสสำคัญในการสร้างหรือเพิ่มยอดขายให้ผู้ประกอบการ
“24 มี.ค.นี้ ส.อ.ท.จะจัดสัมมนาให้ความรู้เรื่องดังกล่าวโดยจะมีกรมบัญชีกลางมาชี้แจงผ่านระบบ Zoom ซึ่งจะมีการเก็บค่าใบรับรองขึ้นทะเบียน MiT 250 บาทต่อใบ แต่ระยะ 6 เดือนแรกคิดที่ 200 บาท” นายสุพันธุ์กล่าว
สำหรับกลุ่มสินค้า Made in Thailand ที่มีโอกาสเข้าสู่การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ เช่น วัสดุครุภัณฑ์สำนักงาน, ครุภัณฑ์การศึกษา, จอมอนิเตอร์, เฟอร์นิเจอร์, ชุดยูนิฟอร์ม, อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องปรับอากาศ, อุปกรณ์ไฟฟ้าและพลังงาน, วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในงานก่อสร้าง อาทิ เหล็ก, ปูนซีเมนต์ เป็นต้น