“ไทยออยล์” พร้อมก้าวสู่องค์กร 100 ปี หลังครบ 60 ปี เดินหน้าโครงการ Beyond CFP ต่อยอดสู่ปิโตรเคมีในสายโอเลฟินส์ โดยหวังร่วมทุนโรงงานโอเลฟินส์ในกลุ่มประเทศอาเซียน แทนการสร้างโรงงานเองเพื่อให้รวดเร็วและประหยัดงบลงทุน ทำให้พอร์ตกำไรธุรกิจเข้าสู่สมดุลใน 10 ปีข้างหน้า โดยมีสัดส่วนกำไรธุรกิจโรงกลั่น 40% ปิโตรเคมี 40% ไฟฟ้า 15% และธุรกิจใหม่อีก 5%
นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยว่า บริษัทมีแผนที่จะเดินหน้าโครงการ Beyond CFP เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ต่อยอดจากการดำเนินโครงการพลังงานสะอาด (CFP) ที่เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพโรงกลั่นและขยายกำลังการกลั่นจาก 2.75 แสนบาร์เรล/วัน เป็น 4 แสนบาร์เรล/วัน แล้วเสร็จในปี 2566 ทำให้ไทยออยล์เป็นบริษัทพลังงานและเคมีภัณฑ์ที่แข็งแกร่งและยั่งยืน
ทั้งนี้ ไทยออยล์จะนำผลพลอยได้จากโครงการ CFP มาเป็นวัตถุดิบ (Feedstock) เพิ่มขึ้นปีละประมาณ 2.2 ล้านตัน แบ่งเป็นก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ประมาณ 6 แสนตัน มี Light naphtha ประมาณ 7 แสนตันต่อปี ซึ่งจะใช้เป็นวัตถุดิบในสายโอเลฟินส์ และมี Heavy naphtha ประมาณ 9 แสนตันต่อปี ซึ่งจะใช้เป็นวัตถุดิบในสายอะโรเมติกส์ ปัจจุบันไทยออยล์ก็มีบริษัทลูก คือ บริษัท ไทยพาราไซลีน จำกัด (TPX) อยู่แล้ว ซึ่งวัตถุดิบ Heavy naphtha ที่เพิ่มขึ้นจะใช้ในการขยายกำลังผลิตของไทยพาราไซลีนได้
ขณะเดียวกัน ก็จะนำ Feedstock ทั้ง LPG และ Light naphtha ไปต่อยอดโรงโอเลฟินส์ โดยมองโอกาสเข้าไปร่วมทุนกับพันธมิตรที่มีการลงทุนโรงโอเลฟินส์อยู่แล้ว แทนที่จะลงทุนสร้างใหม่เองหลังโครงการ CFPแล้วเสร็จซึ่งใช้เวลานานและเงินลงทุนสูง ส่วนวัตถุดิบแนฟทาจะขายให้โครงการโอเลฟินส์ที่ร่วมทุนหรือขายตรงเข้าไปในตลาด นับเป็นการต่อยอดแนฟทาเข้าสู่ Value chain ไปโอเลฟินส์เร็วขึ้น
“การต่อยอดหลังโครงการ CFP ที่เราอยากจะทำภายใต้หลัก 4P คือ Partnership เพื่อที่จะได้ fast track ใน Value chain ของโอเลฟินส์ ซึ่งจริงๆ แล้วเมื่อจบโครงการ CFP เราค่อยไปลงทุนในโรงงานโอเลฟินส์ก็ได้ แต่เราคิดว่าแทนที่จะมารอเวลาเสร็จอีก 2 ปีบวกด้วยลงทุนโรงโอเลฟินส์จาก naphtha ต้องใช้เวลาอีก 4-5 ปี กว่าเราจะมีโอเลฟินส์ขาย 7-8 ปี เราคิดว่ามันนานไป ตอนนี้นโยบายของเราคือเราจะ fast track เพราะว่าเราไม่ได้สนใจ upstream แต่เราสนใจ downstream ของโอเลฟินส์ เพื่อไปต่อยอด Value chain”
นายวิรัตน์กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 เป็นโอกาสดีในการเข้าไปร่วมลงทุนในโรงโอเลฟินส์ในต่างประเทศแถบอาเซียนที่มีตลาดและความต้องการสูง เนื่องจากในประเทศไทยขณะนี้มีกำลังการผลิตโอเลฟินส์ล้นประเทศเนื่องจากซัปพลายมากกว่าดีมานด์ และส่วนหนึ่งต้องส่งออก คาดว่าจะสรุปความชัดเจนในการเลือกพันธมิตรร่วมลงทุนได้เร็วสุดภายในปีนี้
ส่วนการลงทุนธุรกิจขั้นปลาย (downstream) ของโอเลฟินส์ยังต้องประเมินการตอบรับของตลาดเป็นหลักว่ามีความต้องการระดับใด ซึ่งในประเทศไทยหากตลาดยังมีขนาดเล็กอาจไม่คุ้มค่า ก็อาจจะต้องมองหาการลงทุนในต่างประเทศแทน ซึ่งในส่วนนี้บริษัทก็สนใจกลุ่มผลิตภัณฑ์ชนิดพิเศษ (Specialty) หรือผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าเพิ่ม
ปัจจุบันบริษัทมีกระแสเงินสดอยู่ที่ 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 60,000 ล้านบาท ซึ่งพร้อมที่จะรองรับโอกาสขยายการลงทุนในอนาคต ขณะที่โครงการ CFP ปัจจุบันมีความคืบหน้าแล้ว 60-70% แม้ว่าการลงทุนจะล่าช้าออกไปจากแผนเดิมเนื่องจากติดผลกระทบจากโควิด-19 ในช่วงปีที่ผ่านมา แต่บริษัทพยายามเร่งรัดการลงทุนและจัดลำดับความสำคัญในการลงทุนใหม่เพื่อให้โครงการเดินหน้าได้เร็วขึ้น และเสร็จตามกำหนดในปี 2566 นับเป็นการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
สำหรับธุรกิจไฟฟ้า บริษัทมองว่าเป็นธุรกิจที่มีอนาคต มีผลตอบแทนที่มั่นคงเนื่องจากไฟฟ้าเป็นธุรกิจสาธารณูปโภค โดยบริษัทตั้งเป้าหมายจะมีสัดส่วนกำไรอยู่ที่ 15-20% ใน 10 ปี (ปี 2573) ซึ่งจะมาจากการเติบโตของบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จํากัด (มหาชน) หรือ GPSC ที่ไทยออยล์ถือหุ้นอยู่ 20% โดย GPSC มีเป้าหมายจะขยายกำลังผลิตไฟฟ้าเพิ่มเป็น 6,000 เมกะวัตต์ภายในปี 2573 และการเติบโตของบริษัท ท็อป เอสพีพี จำกัด ในเครือไทยออยล์ ที่จะขยายการลงทุนธุรกิจไฟฟ้ารองรับการเติบโตของไทยออยล์ในอนาคต ซึ่งปัจจุบันมีกำลังผลิตไฟฟ้าประมาณ 240 เมกะวัตต์
นอกจากนี้ บริษัทยังมองหาโอกาสในธุรกิจใหม่ (New Business) โดยตั้งเป้าหมายจะมีกำไร 5% ของพอร์ตธุรกิจ ซึ่งจะมุ่งไปใน 2 ด้าน คือ Green Business เช่น การที่บริษัทได้เข้าไปลงทุนในธุรกิจเอทานอลกับพันธมิตร คือ บริษัท ทรัพย์ทิพย์ จำกัด (SAPTHIP) และบริษัท อุบล ไบโอ เอทานอล (UBE) ซึ่งพันธมิตรทั้ง 2 ราย ยังมีแผนต่อยอดการเติบโตธุรกิจนอกจากการขายเอทานอลไปสู่โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) รับซื้อไฟฟ้าไม่เกิน 150 เมกะวัตต์ ที่ภาครัฐจะเปิดให้ยื่นเสนอโครงการในเดือน เม.ย.นี้ด้วย
สำหรับ New Business บริษัทจะมองหาโอกาสเข้าไปลงทุนใน Corporate Venture Capital (CVC) และสตาร์ทอัพ โดยจะมุ่งเน้นใน 3 ด้าน คือ 1. Manufacturing Technology 2. Better-Living Technology 3. Mobility and New Energy ปัจจุบันได้เข้าไปลงทุนแล้ว 2 กองทุนในสหรัฐฯ และอิสราเอล รวมถึงได้เข้าไปลงทุนในสตาร์ทอัพ โดยปีนี้บริษัทมีแผนจะเข้าไปลงทุนในสตาร์ทอัพเพิ่มเติม
บริษัทปรับพอร์ตกำไรจากธุรกิจใน 10 ปีข้างหน้าเพื่อให้สมดุลมากขึ้น โดยมีสัดส่วนของโรงกลั่น 40% ธุรกิจปิโตรเคมี 40% ธุรกิจไฟฟ้า 15% และธุรกิจใหม่อีก 5% เพื่อให้ไทยออยล์เป็นองค์กรที่มีอายุถึง 100 ปี จากปีนี้จะมีอายุครบ 60 ปี