"เมตะ คอร์ปอเรชั่น" ปีนี้เน้นการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ลดค่าใช้จ่าย และไม่มีแผนลงทุนเพิ่ม ขณะมีงานในมือมูลค่า 1,700 ล้านเหรียญสหรัฐ หากสถานการณ์เป็นไปตามการคาดการณ์จะทยอยรับรู้รายได้ช่วงไตรมาสที่ 2-4 ของปี 64 ต่อเนื่องถึงกลางปี 65 มูลค่า 6,000 ล้านบาท เดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้ามินบูเฟส 2-3 พร้อมกับการบำรุงรักษาในส่วนที่เริ่มจำหน่ายไฟฟ้าไปแล้วควบคู่กัน
นายศุภศิษฏ์ โภคินจารุรัศมิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ META เผยถึงแผนการดำเนินงานและทิศทางของธุรกิจในปีนี้ว่าปัจจุบันตามแผนของบริษัทคือ การก่อสร้างโรงไฟฟ้ามินบูกำลังเดินเข้าสู่เฟส 2-3 แล้ว หลังจากเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์เฟส 1 จำนวน 50 เมกะวัตต์ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ในระยะนี้ทางบริษัทได้ก่อสร้างพัฒนาโครงการในระยะที่ 2-3 พร้อมกับการบำรุงรักษาในส่วนที่เริ่มจำหน่ายไฟฟ้าไปแล้วควบคู่กัน ในโครงการนี้ META มีพันธมิตรทั้งบริษัท SCN, ECF และ PEH
“แน่นอนว่าโรงไฟฟ้ามินบูได้รับการชำระค่าไฟจากทางพม่าอย่างต่อเนื่อง ตามจำนวนไฟฟ้าที่สามารถผลิตและจำหน่ายได้จริง โดยในส่วนโครงการมินบูปัจจุบัน ผลิตไฟฟ้าได้ตามเป้าหมายประมาณ 80% ของกำลังการผลิต” นายศุภศิษฏ์ กล่าว
นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจพลังงานอื่นๆ เช่น ที่ประเทศญี่ปุ่น และฟิลิปปินส์ยังคงพัฒนาไปอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยที่ญี่ปุ่น META ทำธุรกิจพลังงานทางเลือก พลังงานชีวมวล ขนาด 100 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าโซลาร์ที่ฟิลิปปินส์ ซึ่งมีพันธมิตรอย่าง M2DC มาร่วมพัฒนาโครงการด้วย ทั้ง 2 แห่งดำเนินการไปได้ตามแผนที่วางไว้”
เนื่องด้วยปีที่ผ่านมา ทั่วโลกต่างเผชิญกับปัญหาโรคระบาดที่ทำให้เศรษฐกิจหยุดชะงัก จึงไม่อยากให้นำผลการดำเนินงานในช่วงปีที่ผ่านมา มาเทียบกับแนวโน้มปีนี้ที่กำลังปรับตัวคืนสู่สภาวะปกติ ปัจจุบันบริษัทมี Backlog ในปี 64 มูลค่า 1,700 ล้านเหรียญสหรัฐ หากสถานการณ์ทุกด้านเป็นไปตามการคาดการณ์ บริษัทจะทยอยรับรู้รายได้ในช่วงไตรมาสที่ 2-4 ของปี 64 ต่อเนื่องถึงกลางปี 65 หรือมูลค่าประมาณ 6,000 ล้านบาท แน่นอนว่าจะสร้างให้มีผลกำไรที่น่าพอใจ
“สำหรับกลยุทธ์สำคัญในปีนี้ บริษัทจะเน้นการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ลดค่าใช้จ่าย ยังไม่มีการลงทุนเพิ่มเติม และให้ความสำคัญกับ backlog ที่พม่า ญี่ปุ่น และฟิลิปปินส์ นอกจากนี้ ยังคงให้ความสนใจการพัฒนาโครงการในประเทศด้วยเช่นเดียวกัน และให้ความสำคัญการบริหารกระแสเงินสดของบริษัทผ่านเครื่องมือทางการเงิน เช่น หุ้นกู้ เป็นต้น ซึ่งในการลงทุนไม่ปิดกั้น แต่มองภาพรวมสถานการณ์โลกและประเทศเป็นหลัก บวกกับสถานการณ์การเงินของบริษัท ไม่อยากให้เกิดวิกฤตการณ์การเงินเพิ่มเติม” นายศุภศิษฏ์ กล่าว