xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.สผ.ตั้งเป้าปี 73 ธุรกิจใหม่โกยกำไร 20% รุกหาพาร์ตเนอร์ถือหุ้น ‘Gas to Power’ ในเมียนมา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปตท.สผ.ตั้งเป้าปี 73 มีกำไรจากธุรกิจใหม่ 20% มาจากธุรกิจ Gas to Power และ ARV เตรียมหาพันธมิตรท้องถิ่นถือหุ้นในโครงการ Gas to Power ที่เมียนมา และหวังเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในโครงการโอมาน แอลเอ็นจีเป็น 5-10% เพื่อนำเข้าแอลเอ็นจีป้อนไทย

นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายในปี 2573 ปตท.สผ.จะมีกำไรจากธุรกิจใหม่ที่ไม่ใช่สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (Non-E&P) ประมาณ 20% ของกำไรรวมโดยมาจากธุรกิจการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ (Gas to Power) ราว 15% และบริษัทลูก คือ บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด (ARV) ที่ดำเนินธุรกิจเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์อีก 5%

สำหรับความคืบหน้าโครงการ Gas to Power ที่เมียนมา ปตท.สผ.จะร่วมทุนกับบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSCในการพัฒนาโรงไฟฟ้า ขณะเดียวกันจะหาพันธมิตรท้องถิ่นร่วมถือหุ้นเพิ่มด้วยเพื่อลดความเสี่ยงการดำเนินธุรกิจ โดย ปตท.สผ.จะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ พร้อมทั้งเจรจาสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) คาดว่าจะได้ข้อสรุปพันธมิตรใหม่ในปี 2564 และสัญญา PPA ในปีถัดไป

ทั้งนี้ เมื่อปลายปี 2563 ปตท.สผ.ได้ลงนามในหนังสืออนุญาตให้เริ่มดำเนินงาน (Notice to Proceed) ของโครงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติในเมียนมา มูลค่าการลงทุนรวม 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยนำก๊าซธรรมชาติจากโครงการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวเมาะตะมะ ซึ่ง ปตท.สผ.เป็นผู้ดำเนินการ มาใช้ในการผลิตไฟฟ้าในราคาที่เหมาะสมให้กับประเทศเมียนมา โดยเริ่มแรกจะนำก๊าซฯ จากโครงการซอติก้า และโครงการเมียนมา เอ็ม 3 มาใช้ในการผลิตไฟฟ้าในโครงการดังกล่าว

โครงการดังกล่าวจะดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม กำลังผลิต 600 เมกะวัตต์ เขตไจลัท และก่อสร้างระบบท่อขนส่งก๊าซฯ ทั้งในทะเลและบนบก จากเมืองกันบก-เมืองดอร์เนียน-เมืองไจลัท รวมระยะทางประมาณ 370 กิโลเมตร และการวางระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูงจากเขตไจลัทไปยังเขตลานทายาในภูมิภาคย่างกุ้ง คาดว่าการตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้ายในปี 2565 อาจล่าช้ากว่าแผนเล็กน้อย เนื่องจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ในเมียนมา และเหตุการณ์รัฐประหารในเมียนมา

นายพงศธรกล่าวว่า บริษัทฯ มีแผนปรับเพิ่มกำลังผลิตแหล่งลัง เลอบาห์ มาเลเซีย จากเดิม 500-700 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน เป็น 800-1,000 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน หลังจากขุดเจาะหลุมประเมินพบชั้นหินที่มีก๊าซธรรมชาติหนา 600 เมตร น่าจะเป็นแหล่งก๊าซฯ ขนาดใหญ่ โดยบริษัทเตรียมเจาะหลุมสำรวจเพิ่มอีก 3 หลุม

ส่วนตะวันออกกลาง บริษัทฯ มีแผนเจาะหลุมสำรวจเพิ่มเติมในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) และโอมานอีกประเทศละ 1 หลุม โดยบริษัทมีเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในโครงการโอมาน แอลเอ็นจี จากเดิมถือหุ้นอยู่ 2% เพิ่มเป็น 5-10% หลังจาก ปตท.สผ.เข้าไปถือหุ้น 20% ในแปลง Oman Block 61 ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซฯ บนบกที่มีปริมาณสำรองก๊าซฯ ขนาดใหญ่ในโอมานที่มีปริมาณก๊าซฯ ส่วนหนึ่งป้อนเข้าโครงการโอมาน แอลเอ็นจี

ทั้งนี้ หาก ปตท.สผ.ถือหุ้นในโครงการโอมาน แอลเอ็นจี ประมาณ 5-10% บริษัทนำเข้าแอลเอ็นจีจากโครงการนี้ป้อนให้ไทย นับเป็นการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้ประเทศเนื่องจากไทยต้องพึ่งพาแอลเอ็นจีในการผลิตไฟฟ้า

ในปี 2564 ปตท.สผ.มีแผนลงทุนเจาะหลุมสำรวจเพิ่ม 11 หลุม แบ่งเป็นมาเลเซีย 6 หลุม เม็กซิโก 3 หลุม ยูเออี 1 หลุม และโอมาน 1 หลุม


กำลังโหลดความคิดเห็น