xs
xsm
sm
md
lg

PTTEP ชี้แผนรับมือเข้า พท.เอราวัณไม่ได้ จ่อดึงก๊าซฯ บงกช-อาทิตย์เพิ่มในปี 65

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปตท.สผ.เผยเตรียม 8 แท่นผลิตเข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณหากเชฟรอนฯ ไฟเขียว เพื่อรักษากำลังการผลิตก๊าซฯตามสัญญา PSC 800 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ยันหากเข้าพื้นที่ไม่ได้ก็จะดึงกำลังผลิตก๊าซในอ่าวไทยจากแหล่งบงกชและแหล่งอาทิตย์เข้ามาเสริม ควบคู่กับการนำเข้า LNG ในปี 2565

นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (PTTEP) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า ตามที่บริษัท ปตท.สผ.เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (ปตท.สผ.อีดี) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยได้ชนะการประมูลในโครงการ G1/61 หรือแหล่งเอราวัณ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2562 นั้น ปตท.สผ.เจรจากับกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน เพื่อให้ประสานงานในการเจรจาผู้รับสัมปทานแหล่งเอราวัณปัจจุบันเพื่อให้บริษัทฯ เข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณในการเตรียมความพร้อมในการผลิตก๊าซฯ ให้ได้อย่างต่อเนื่องหลังจาก ปตท.สผ.อีดีเข้าเป็นผู้ดำเนินการต่อในเดือน เม.ย. 2565 ควบคู่ไปกับการเจรจาบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ในฐานะผู้รับสัมปทานเอราวัณปัจจุบันเพื่อเข้าพื้นที่ดังกล่าวด้วย ล่าสุดบริษัทก็ยังไม่สามารถเข้าพื้นที่ดังกล่าวได้

ทั้งนี้ ปตท.สผ.มีความพร้อมจะเข้าไปติดตั้งแท่นผลิต 8 แท่น หากเชฟรอนฯ อนุมัติให้เข้าพื้นที่ได้ เพื่อให้สามารถดำเนินการผลิตก๊าซฯ จากแหล่งเอราวัณได้ตามสัญญา PSC พร้อมยืนยันว่าการติดตั้งแท่นดังกล่าวจะไม่รบกวนการดำเนินงานของผู้รับสัมปทาน รวมทั้งทยอยเปิดรับพนักงานบ้างแล้ว และเตรียมสัญญาขุดเจาะเพิ่มเติม

โดยบริษัทฯ เตรียมงบลงทุนสำหรับโครงการเอราวัณในปี (2564-2568) ไว้ที่ 400 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี เพื่อใช้สำหรับติดตั้งแท่นและเจาะหลุมผลิตเพิ่ม ขณะเดียวกันยังหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางรองรับในช่วงที่ยังไม่สามารถผลิตก๊าซจากแหล่งเอราวัณได้ตามแผน เบื้องต้นจะมาจากก๊าซในอ่าวไทย ได้แก่ แหล่งบงกช และแหล่งอาทิตย์ รวมทั้งการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เข้ามาเสริมด้วย

“หากบริษัทฯ ไม่สามารถเข้าพื้นที่ในแหล่งเอราวัณได้เชื่อว่าจะส่งกระทบต่อกำลังการผลิตก๊าซฯ ตามสัญญา PSC ที่ระบุไว้ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน เนื่องจากผู้รับสัมปทานปัจจุบันไม่ได้เจาะหลุมผลิตเพิ่มเติม ทำให้กำลังการผลิตก๊าซฯ ลดลง ดังนั้น ปตท.สผ.จึงได้เตรียมแผนรองรับไว้ โดยจะเร่งผลิตก๊าซฯ จากแหล่งบงกชและแหล่งอาทิตย์เพิ่มมากขึ้นคิดเป็น 80% ของก๊าซฯ ที่หายไปจากแหล่งเอราวัณ และจัดหาจากการนำเข้า LNG ที่เหลืออีกราว 20%”

โดยแหล่งอาทิตย์มีพร้อมที่จะผลิตเพิ่มขึ้นได้ 100 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน จากกำลังการผลิตตามสัญญา (DCQ) 220 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน และผลิตจริง 250ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ขณะที่แหล่งบงกชมีกำลังการผลิตตาม DCQ 870 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน แต่ผลิตจริง 940 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน 

แหล่งเอราวัณมีการผลิตก๊าซฯในปี 2563 อยู่ที่ 1.2 พันล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน แต่เนื่องจากปัจจุบันทางผู้รับสัมปทานปัจจุบันไม่ได้มีการเจาะหลุมผลิตเพิ่มเติมทำให้ปริมาณก๊าซฯ แหล่งเอราวัณลดลงไป คาดว่าปี 2565 ปริมาณการผลิตก๊าซฯ จากแหล่งเอราวัณจะหายไป 200-300 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน จากสัญญา PSC แหล่งเอราวัณต้องผลิตก๊าซฯ ได้ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ซึ่งปริมาณก๊าซฯ ที่หายไปนี้ ปตท.สผ.จะใช้เวลา 1-2 ปีจึงจะสามารถดันกลับมาผลิตได้ตามสัญญาหลัง ปตท.สผ.เข้าไปดำเนินการ
ทั้งนี้ ปตท.สผ.อีดี กับเชฟรอนฯ ได้ลงนามข้อตกลงเข้าพื้นที่ระยะที่ 1 ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2562 เพื่อให้  ปตท.สผ.อีดีเข้าสำรวจพื้นที่เท่านั้น แต่เมื่อเข้าสู่การเจรจาข้อตกลงเข้าพื้นที่ระยะที่ 2 เพื่อเข้าดำเนินการติดตั้งแท่นหลุมผลิตและเจาะหลุมผลิตซึ่งมีความจำเป็นต่อการเตรียมการผลิต ผู้รับสัมปทานปัจจุบันของแหล่งเอราวัณไม่ยินยอมให้เข้าดำเนินการดังกล่าว แม้ว่า ปตท.สผ.อีดีจะพยายามสรุปการทำข้อตกลงเข้าพื้นที่ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2563 โดยเข้าดำเนินการในพื้นที่ที่จะไม่กระทบต่อการผลิตของผู้รับสัมปทานปัจจุบัน รวมถึงยอมรับเงื่อนไขทั้งหมดในการเข้าพื้นที่ตามที่ผู้รับสัมปทานปัจจุบันต้องการ เช่น การรับผิดชอบค่าเสียหายทั้งหมดที่อาจเกิดขึ้นจากการทำงานของ ปตท.สผ.อีดี เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น