ผู้จัดการรายวัน 360 - ตลาดหนังสือหวังฟื้นกลับมาโต 25% แตะ 15,000 ล้านบาท หลังนักเขียนแห่ขายผลงานเองไม่ผ่านสำนักพิมพ์ ดันช่องทางออนไลน์กินส่วนแบ่ง 30% จาก 6% พบนิยายสายวายมาแรง เกิดขึ้นใหม่ 1-3 สำนักพิมพ์ต่อเดือน ล่าสุด Pubat พร้อมจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 49 ในเดือน เม.ย.นี้ คาดเม็ดเงินกลับมาสะพัด 200-250 ล้านบาทเช่นที่เคยจัดมา
นางสาวโชนรังสี เฉลิมชัยกิจ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (Pubat) เปิดเผยว่า ปี 2564 นี้มองว่าจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 เริ่มคลี่คลายจากการเริ่มมีการฉีดวัคซีนและการใช้ชีวิตแบบนิวนอร์มัล (new normal) ที่ผู้บริโภคเริ่มคุ้นเคยแล้ว จึงเชื่อว่าในปี 2564 นี้ตลาดรวมหนังสือจะมีมูลค่าขยับมาอยู่ที่ 15,000 ล้านบาท โตจากปีก่อนได้ 25% ซึ่งเป็นผลหลักๆ มาจากการเกิดหนังสือใหม่เปิดตัวมากขึ้น ไม่มีการล็อกดาวน์ และคนเข้าใจในสถานการณ์โควิด-19
นอกจากนี้ยังพบด้วยว่ากลุ่มหนังสือวรรณกรรมสายวายเติบโตขึ้นอย่างมาก เฉลี่ยเปิดตัวใหม่ 1-3 สำนักพิมพ์ต่อเดือน และกลุ่มนักเขียนที่หันมาขายผลงานเองโดยไม่ผ่านสำนักพิมพ์ ทั้งในรูปแบบหนังสือทำมือ หรือขายผ่านรูปแบบอีบุ๊ก เป็นต้น ขณะที่ในส่วนของสำนักพิมพ์เองพร้อมกลับมาเปิดหนังสือปกใหม่มากยิ่งขึ้น จากปีก่อนหนังสือออกใหม่หายไปกว่า 50%
ในปีนี้เชื่อว่าหนังสือที่ได้รับความนิยมจากนักอ่านยังคงเป็นการ์ตูน วรรณกรรม รองลงมาคือ หนังสือเกี่ยวกับการพัฒนาตนเอง ความรู้ รวมถึงกลุ่มประวัติศาสตร์การเมือง
ทั้งนี้ ในปี 2563 ที่ผ่านมา เดิมคาดการณ์ว่าตลาดหนังสือรวมจะมีมูลค่าที่ 18,000 ล้านบาท แต่จากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ทำให้หดลงเหลือ 12,000 ล้านบาท ต่ำสุดในรอบ 10 ปีนับตั้งแต่ปี 2554 ที่ผ่านมาที่มีมูลค่าสูงถึง 25,000 ล้านบาท สูงสุดของตลาดหนังสือ จากนั้นในปี 2558 เจอดิจิทัลดิสรัปชัน ลดลงเหลือ 20,000 ล้านบาท จนมาถึงปี 2562 เหลือ 18,000 ล้านบาท ส่วนจะกลับมาอยู่ในระดับเดิมที่ 20,000-25,000 ล้านบาทได้นั้นขึ้นอยู่กับภาวะการเงินในกระเป๋า รวมถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และการเปิดประเทศที่จะส่งผลรวมให้เศรษฐกิจฟื้นตัว
“ภาพรวมตลาดหนังสือในปี 2563 เกิดจากการล็อกดาวน์ ร้านหนังสือถูกปิด ทำให้ในช่องทางออนไลน์โต ทั้งในรูปแบบอีบุ๊กที่โตขึ้น 100% จากสัดส่วน 5% เป็น 10% ของมูลค่าตลาดหนังสือรวม และแบบอีคอมเมิร์ซที่โตขึ้น 5-6 เท่าตัว ส่งผลให้การขายผ่านช่องทางออนไลน์รวมเพิ่มเป็น 30% ของตลาดหนังสือรวมในปีที่ผ่านมา”
ขณะที่แพลตฟอร์มอีบุ๊กที่ยอดขายดี 3 อันดับแรก คือ 1. Meb 2. ookbee และ 3. kawebook.com นอกจากนี้ยังพบด้วยว่าช่องทางการซื้อหนังสือในปี 2563 มีการซื้อจากร้านหนังสือ 81% งานหนังสือ 61% ออนไลน์แบบสั่งเป็นเล่ม 51% และแบบอีบุ๊ก 20% (จากการทำสำรวจข้อมูล ซึ่ง 1 คนตอบได้หลายช่องทาง)
อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ทั่วโลกมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกัน จากปัจจัยหลักอย่างการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาและการดิสรัปต์ของเทคโนโลยี ส่งผลให้ผู้ประกอบการธุรกิจสิ่งพิมพ์นั้นต้องปรับตัว ขณะเดียวกัน สำนักพิมพ์เล็กๆ ที่มีกลุ่มผู้อ่านชัดเจนในเนื้อหาเฉพาะทางก็มีการเติบโตมากขึ้น ที่สำคัญคือความท้าทายใหม่ที่คู่แข่งขันไม่ใช่ธุรกิจเดียวกันอีกต่อไปแล้ว แต่คือกิจกรรมความบันเทิงอื่นๆ ที่เข้ามาดึงดูดความสนใจของผู้บริโภค โดยเฉพาะโซเชียลมีเดียที่กินเวลาของนักอ่านไปเป็นจำนวนมากต่อวัน จึงจำเป็นมากที่สำนักพิมพ์หรือผู้ผลิตเนื้อหาต้องสร้างเนื้อหาน่าสนใจมากพอที่จะดึงดูดความสนใจจากนักอ่าน ตลอดจนใช้เครื่องมือใหม่ๆ กระตุ้นการขาย เช่น ช่องทางโซเชียลมีเดียที่เข้าถึงผู้คนได้ทันที พอดแคสต์ หรือยูทูป เป็นต้น
นางสาวโชนรังสีกล่าวต่อว่า ในปีก่อนที่ทางสมาคมฯ ได้จัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติในรูปแบบออนไลน์ทั้งหมด ทำให้มียอดขายภายในงานทำได้เพียง 36 ล้านบาท หรือหายไปกว่า 80% โดยค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการซื้อหนังสือต่อคน 500-1,000 บาท ขณะที่ช่องทางออนไลน์มียอดการใช้จ่ายถึง 650 บาทต่อคน จากปกติการจัดงานสัปดาห์หนังสือแต่ละครั้งมียอดขายภายในงานเฉลี่ยอยู่ที่ 200-250 ล้านบาท
ส่วนในปีนี้ทางสมาคมฯ ได้เตรียมจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติขึ้นในรูปแบบเดิมอีกครั้ง ซึ่งถือเป็นงานสัปดาห์หนังสือครั้งที่ 49 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 19 โดยจะจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 17-25 เมษายน 2564 ณ อีเวนต์ฮอลล์ 98-99 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค (BITEC) ภายใต้ธีม “อ่านเท่” สร้างค่านิยมให้คนรู้สึกว่าการอ่านให้เป็นหนึ่งในไลฟ์สไตล์ของชีวิต มีสำนักพิมพ์เข้าร่วมงาน 223 ราย จำนวน 615 บูท ใน 7 โซน ได้แก่ Book Wonderland, หนังสือทั่วไป, การศึกษา, หนังสือเด็ก, หนังสือเก่า, หนังสือต่างประเทศ และนิยาย ซึ่งจะมีหนังสือใหม่ภายในงานกว่า 1,200 ปก ร่วมด้วยนิทรรศการ งานอบรมสัมมนา และกิจกรรมที่น่าสนใจบนเวทีที่หมุนเวียนกันไปทุกวัน คาดว่าจะมียอดขายภายในงานได้กว่า 200-250 ล้านบาท