องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO ระบุว่าแม้ปัจจุบันโลกผลิตอาหารได้เพียงพอกับจำนวนประชากรโลก แต่ยังคงมีประชากรโลกมากกว่า 3 พันล้านคน ที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งอาหารที่ดีต่อสุขภาพได้ และเสี่ยงต่อภาวะความไม่มั่นคงทางอาหาร
ระบบอาหารที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Food Systems (SFS) ซึ่งระบบอาหารที่ให้ความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการแก่ทุกคน ทั้งในมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม นั่นคือการผลิตต้องทำให้มีกำไรตลลอด (ความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ) ก่อประโยชน์ในวงกว้างสำหรับสังคม (ความยั่งยืนทางสังคม) และมีผลกระทบเชิงบวกหรือเป็นกลางต่อสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ (ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม) ทำให้ SFS กลายเป็นหัวใจสำคัญของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ที่องค์การสหประชาชาติ (United Nations : UN) เร่งผลักดันให้เกิดขึ้น เพื่อสร้าง ความมั่นคงทางอาหาร (Food security) อาหารปลอดภัย (Food Safety) และโภชนาการที่ดี สำหรับคนรุ่นต่อๆไป
ไทยในฐานะที่เป็นประเทศเกษตรกรรมและผู้ผลิตอาหารที่สำคัญ และเป็นผู้ส่งออกอาหารอันดับที่ 13 ของโลก ที่กำหนดวิสัยทัศน์ของประเทศเดินหน้าสู่ “ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมาย SDGs โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับการส่งเสริมเกษตรกรให้มีระบบการผลิตที่เข็มแข็งอย่างยั่งยืน เพื่อให้คนไทยสามารถเข้าถึงอาหารที่เพียงพอและดีต่อสุขภาพ และยังสามารถส่งออกอาหารคุณภาพเพื่อผู้บริโภคทั่วโลก
ก่อนจะได้อาหารปลอดภัยที่ป้อนให้ผู้บริโภคชาวไทยและทั่วโลกนั้น หนึ่งในห่วงโซ่ที่สำคัญคือ “ฟาร์มเลี้ยงสัตว์” ที่มีกิจกรรมเกิดขึ้นมากมาย และเป็นตัวชี้วัดหนึ่งของระบบอาหารที่ยั่งยืน ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการพัฒนามาตรฐานการเลี้ยงสัตว์และการป้องกันโรคสัตว์อย่างต่อเนื่อง อาทิ แผนยุทธศาสตร์เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตเชื้อดื้อยา ด้วยการลดใช้ยาปฏิชีวนะในภาคปศุสัตว์อย่างจริงจัง ใช้ยาสำหรับการรักษาเท่าที่จำเป็น โดยการรักษาสัตว์ป่วย ไม่ใช้ยาอย่างพร่ำเพรื่อ และการนำหลักสวัสดิภาพสัตว์ หรือ Animal Welfare มาประยุกต์ใช้ ด้วยแนวคิดที่ว่าหากสัตว์ในฟาร์มมีสวัสดิภาพที่ดีจะสร้างเสริมสุขภาพพื้นฐานที่ดี ย่อมนำไปสู่ระบบอาหารที่ยั่งยืนตามมา
ทั้งสองประเด็นที่กล่าวมานี้ ถือเป็นหัวใจสำคัญของการเลี้ยงสัตว์เพื่อความยั่งยืน ทั้งในแง่ Food Safety และ Food security ที่เกิดจากพื้นฐานการดูแลสัตว์ในฟาร์มเลี้ยงให้มีชีวิตที่ดีขึ้น โดยเฉพาะในแง่การพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์ของฟาร์มในระบบอุตสาหกรรม หากสัตว์มีความเป็นอยู่ที่ดี ย่อมไม่เครียด ไม่ป่วย จึงไม่จำเป็นต้องใช้ยาในการรักษา นอกจากตัวสัตว์จะได้รับสวัสดิภาพแบบเต็มร้อยแล้ว ในแง่ของเกษตรกรและผู้ประกอบการเอง ยังสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านการรักษาสัตว์ และเพิ่มรายได้จากความเสียหายของตัวสัตว์ที่ลดลง และยังมีส่วนสนับสนุนอาหารปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค รวมถึงปริมาณผลผลิตสัตว์เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค
ในภาคผู้ผลิตของไทยที่ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาการเลี้ยงสัตว์ให้สอดคล้องกับหลักสวัสดิภาพสัตว์ รวมถึงการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุสมผล คือ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ที่ออกนโยบายนำไปสู่การดำเนินการอย่างเข้มข้น จริงจัง และเป็นรูปธรรม เพื่อให้ได้เนื้อสัตว์ที่เป็นต้นทางวัตถุดิบที่มีมาตรฐานและความปลอดภัย พร้อมส่งมอบอาหารปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภค ตอบสนองความต้องการของตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
กิจกรรมต่างๆ ภายในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ของบริษัท และฟาร์มของเกษตรกรในโครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ จึงถูกพัฒนาและยกระดับการเลี้ยงสัตว์ตามแนวปฏิบัติสวัสดิภาพสัตว์สากลภายใต้ “หลักอิสระ 5 ประการ” หรือ Five Freedoms เพื่อป้องกันความหิวและกระหาย ความไม่สบายกาย ความทุกข์ทรมาน การบาดเจ็บ และสนับสนุนการแสดงออกทางพฤติกรรมตามธรรมชาติของสัตว์ ทั้งในฟาร์มไก่เนื้อ ไก่ไข่ เป็ด สุกร และสัตว์น้ำ
ยกตัวอย่างเช่น ในฟาร์มสุกรที่ปรับปรุงรูปแบบการเลี้ยงแม่สุกรอุ้มท้องในคอกขังรวม ปรับเปลี่ยนวิธีการจัดการโดยพยายามลด ละ เลิก การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของสุก ด้วยการริเริ่มยกเลิกการตอน-การตัดเขี้ยว-การตัดหาง-การตัดใบหูลูกสุกร ปัจจุบันฟาร์มบริษัทในประเทศมาเลเซียและไต้หวันไม่มีการตัดหรือกรอฟันแล้ว 100%
สำหรับการเลี้ยงไก่เนื้อ ไม่มีการตัดจะงอยปาก 100% โดยเลี้ยงในพื้นที่กว้างขวางและเพิ่มวัสดุจิกเล่นในโรงเรือน ทำให้ไก่ได้คุ้ยเขี่ยและแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติอย่างเต็มที่
ขณะที่การเลี้ยงแม่พันธุ์ไก่ไข่ ได้เดินหน้าผลิตไข่ไก่จากการเลี้ยงแบบปล่อยอิสระ-เคจฟรี หรือ CP Selection Cage Free Egg นำร่องที่ “ฟาร์มวังสมบูรณ์” อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี จนกลายเป็นฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่แห่งแรกของไทย ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานฟาร์มไก่ไข่แบบไม่ใช่ใช้กรง (Cage Free) จากกรมปศุสัตว์ ถือเป็นฟาร์มต้นแบบที่พร้อมแบ่งปันการเรียนรู้การผลิตสินค้าปศุสัตว์ที่คำนึงถึงสวัสดิภาพสัตว์ให้แก่เกษตรกรที่สนใจ
ส่วนธุรกิจสัตว์น้ำ ได้นำนวัตกรรมเทคโนโลยีชีวภาพสำหรับธุรกิจเพาะฟักและอนุบาลลูกกุ้งมาใช้ ทำให้แม่พันธุ์กุ้งสร้างและวางไข่ได้เองตามธรรมชาติ จึงไม่จำเป็นต้องตัดก้านตา (Female Non Eystalk Ablation)
การให้ความสำคัญกับการพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์ในฟาร์มระบบอุตสาหกรรม ไปพร้อมๆ กับการผลักดันการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลเพื่อป้องกันโรคในสัตว์อย่างมีประสิทธิภาพ ถือเป็นหนึ่งในทางออกของระบบอาหารที่ยั่งยืน และมีส่วนช่วยแก้ไขวิกฤตเชื้อดื้อยา นำไปสู่อาหารปลอดภัยของมวลมนุษยชาติอย่างแท้จริง