xs
xsm
sm
md
lg

เนื้อหมู-ไก่ กินได้...ปลอดภัย ไร้โควิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คนไทยทุกคนมีประสบการณ์และได้เรียนรู้ตั้งแต่เมื่อครั้งปิดตลาดกุ้ง สมุทรสาครแล้วว่า “อาหาร” ไม่ว่าจะเป็นกุ้ง หอย ปู หรือปลานั้น ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัส เพียงปรุงสุก...เราทุกคนก็สามารถรับประทานอาหารทะเลเหล่านั้นได้อย่างปลอดภัย หมู-ไก่ ก็เช่นกัน ดังนั้น การพบผู้ติดเชื้อในโรงงานชำแหละสุกร จังหวัดปทุมธานี เมื่อเร็วๆ นี้ก็ไม่ควรจะมีคนกังวลไปถึงการรับประทานเนื้อหมู เนื้อไก่แล้ว

ขณะเดียวกัน ภาครัฐที่กำกับดูแลเรื่องการผลิตเนื้อหมู-เนื้อไก่ อย่างกรมปศุสัตว์ ก็ได้ย้ำความมั่นใจแก่ประชาชนแล้วว่า เนื้อหมูสามารถบริโภคได้อย่างปลอดภัย โดยมีงานวิจัยยืนยันว่าสัตว์เศรษฐกิจทั้งหมู ไก่ และเป็ด ไม่สามารถติดโรคโควิด-19 ได้ และสินค้าปศุสัตว์ที่กรมปศุสัตว์รับรองทั้งหมดนั้น “มีความปลอดภัย” และ “ไม่ใช่พาหะโรคโควิด-19” แน่นอน

เนื่องด้วยความเข้มงวดในการตรวจสอบตลอดห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่โรงงานผลิตอาหารสัตว์ ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ โรงฆ่าสัตว์ โรงงานแปรรูป ไปจนถึงสถานที่จัดจำหน่ายที่จะต้องมีกระบวนการ หลักเกณฑ์ และการป้องกันโควิด-19 อย่างเข้มงวด เน้นการสวมใส่อุปกรณ์ป้องกัน การล้างทำความสะอาดเครื่องมือและอุปกรณ์ การเว้นระยะห่างรวมทั้งการนำตัวอย่างผลิตภัณฑ์จากสัตว์ไปตรวจสอบ

ที่ผ่านมาตัวอย่างสินค้าปศุสัตว์ในสถานที่จำหน่ายทั่วประเทศที่ทำการตรวจสอบมากกว่า 1,600 ตัวอย่าง ผลปรากฏว่าไม่มีสินค้าปศุสัตว์ใดที่ให้ผลโควิดเป็นบวก ซึ่งหมายความว่า “สินค้าปศุสัตว์ไม่มีการปนเปื้อนของเชื้อโควิด-19” ผู้บริโภคจึงมั่นใจได้ในมาตรฐานการผลิตสินค้าที่กรมปศุสัตว์ควบคุมดูแลอยู่


ขณะเดียวกัน กรมฯ ยังขอความความร่วมมือให้ผู้ประกอบการร้านอาหาร และผู้บริโภคที่ประกอบอาหารเอง ให้เลือกซื้อสินค้าปศุสัตว์ จากสถานที่จำหน่ายที่มีตราสัญลักษณ์ “ปศุสัตว์ OK” ซึ่งจะช่วยตอกย้ำความมั่นใจได้ว่า เนื้อหมู เนื้อไก่ ที่จำหน่ายในสถานที่นั้น มีที่มาจากแหล่งผลิตที่กรมฯ ให้การรับรองมาตรฐาน และสามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาได้

ประเด็นสำคัญที่สุดคือวิธีการปรุงอาหารให้สุกก่อนรับประทาน เพราะเชื้อโควิด-19 ถูกทำลายได้ด้วยความร้อนที่อุณหภูมิ 56 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 30 นาที หากต้มให้เดือดที่อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส เชื้อโควิดทั้งหมดจะถูกทำลายทันที เพียงเท่านี้ก็รับประทานอาหารได้อย่างมั่นใจ

สอดคล้องกับ การที่องค์การระหว่างประเทศหลายหน่วยงาน ทั้งองค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations : FAO) และหน่วยงานด้านอาหาร (United States Food and Drug Administration : USFDA) ต่างยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า “อาหารไม่ใช่แหล่งแพร่เชื้อโควิด-19” และในกรณีที่เนื้อสัตว์จะปนเปื้อนเชื้อโควิดจากผู้ป่วยก็มีความเป็นไปได้ยากที่จะทำให้เกิดการแพร่กระจายของโรค เนื่องจากเชื้อไม่สามารถเพิ่มจำนวนในเนื้อสัตว์ และเชื้อโควิด-19 เป็นเชื้อไวรัสที่มีความทนทานต่อสภาวะแวดล้อมได้ต่ำ รวมถึงถูกทำลายได้ง่าย ปริมาณของเชื้อไวรัสจึงไม่เพียงพอที่จะก่อโรคได้ จึงยิ่งไม่น่ากังวลใดๆ

เพียงแค่เน้นเลือกซื้อ “หมูสด-ไก่สด” จากผู้ผลิตมาตรฐานและแหล่งผลิตที่เชื่อถือได้ ตลอดจนได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์หรือเลือกจากแบรนด์ที่มีชื่อเสียง ซึ่งมีมาตรฐานการป้องกันโควิดในระดับสูง แล้วนำไป “ปรุงให้สุก” เท่านั้นเอง

บทความโดย อุษณีย์ รักษ์กสิกิจ นักวิชาการด้านปศุสัตว์


กำลังโหลดความคิดเห็น