“คมนาคม” เคาะฟีดเดอร์ 24 เส้นทางเชื่อมต่อสถานีรถไฟสีแดง บางซื่อ, หัวลำโพง, มักกะสัน สั่ง ขบ.และ ขสมก.ทำโครงข่ายค่าโดยสารไม่เกิน 15 บาทตลอดสาย เร่งหารือจังหวัดปทุมธานีแก้ปัญหาการเข้าออกสถานีรังสิต
นางจันทิรา บุรุษพัฒน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานอนุกรรมการเปิดให้บริการและการบริหารโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) และสถานีกลางบางซื่อ ด้านการสื่อสารสาธารณะ เปิดเผยว่า เนื่องจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะมีการปรับปรุงแผนการเดินรถไฟทางไกลโดย ปรับลดขบวนรถที่เข้าสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) เหลือ 22 ขบวน/วัน และบริหารจัดการเดินรถในช่วงเวลาเร่งด่วนให้มีระยะห่างที่เหมาะสมและไม่กระทบต่อจราจรบริเวณจุดตัดถนน โดยกระจายบางขบวนไปนอกเวลาเร่งด่วนแทน ซึ่งจะต้องเร่งวิเคราะห์ถึงผลกระทบในภาพรวมและผู้ใช้บริการ
โดย รฟท.จัดทำตารางหยุดรถที่สถานีต่างๆ ให้มีความชัดเจน เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการเพื่อจัดทำระบบเชื่อมต่อการเดินทาง (Feeder) รองรับได้สอดคล้องกับเที่ยวรถไฟ
สำหรับอัตราค่าโดยสารสายสีแดง ต่ำสุด 14 บาท สูงสุดไม่เกิน 42 บาท และมีส่วนลดราคาให้แก่บัตรโดยสารรายเดือน บัตรโดยสารร่วม บัตรนักเรียน บัตรผู้สูงอายุ และกลุ่มผู้พิการ โดยให้ รฟท. และ บริษัทรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) เตรียมความพร้อมเรื่องบัตรโดยสารก่อนเปิดให้บริการอย่างไม่เป็นทางการ (แบบ Soft Opening) ในเดือนกรกฎาคม 2564
สำหรับการเชื่อมต่อระหว่างสถานีกับระบบ Feeder นั้น ได้มอบให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จัดทำเส้นทางเดินรถโดยสารประจำทาง (รถเมล์) เบื้องต้น 24 เส้นทาง เพื่อรองรับการเดินทางเข้าสู่สถานีกลางบางซื่อ และให้พิจารณาเส้นทางการเชื่อมต่อระหว่างสถานีมักกะสันกับสถานีหัวลำโพง โดยใช้ทางด่วนของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และขอให้ ขสมก.พิจารณากำหนดอัตราค่าโดยสารให้ต่ำที่สุด รวมถึงขอให้ กทพ.พิจารณาปรับลดอัตราค่าผ่านทางสำหรับรถโดยสารฟีดเดอร์
นอกจากนี้ อาจต้องพิจารณาปรับปรุงเส้นทางรถโดยสารในปัจจุบันให้ครอบคลุมทุกสถานีของรถไฟสายสีแดง โดยเฉพาะเส้นทางที่เชื่อมต่อกับสถานีหัวลำโพง, อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ, หมอชิต โดยกำหนดอัตราค่าโดยสารไม่เกิน 15 บาทตลอดเส้นทาง รวมถึงมี Shuttle Bus รอบสถานีกลางบางซื่อ และให้ รฟท. และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เจรจาเพื่อยกเว้นค่าแรกเข้าระหว่างรถไฟฟ้าสายสีแดงกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน
สำหรับการปรับปรุงการเชื่อมต่อสถานีรังสิต มอบให้ ขบ.และ ขสมก.ร่วมกับจังหวัดปทุมธานีพิจารณาแนวเส้นทางการให้บริการของ ขสมก.ให้มีความเชื่อมโยงระหว่างสถานีรังสิตกับอู่รถโดยสารบริเวณสถานีตลาดรังสิต รวมถึงจุดจอดรถตู้ฟิวเจอร์พาร์ค และสถานี บขส. รวมถึงพิจารณาใช้ระบบ Feeder และให้กรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) และ รฟท.ร่วมพิจารณาการปรับปรุงถนนเข้าสถานีรังสิต (ฝั่งปทุมธานี) ให้สามารถเข้า-ออกได้โดยสะดวก
อย่างไรก็ตาม เมื่อเปิดรถไฟสายสีแดง และสถานีกลางบางซื่อ จะกำหนดจุดเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสารและสินค้า (Gateway/Hub) ของรฟท.ใหม่ โดยจุดเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสาร สายเหนือ และสายอีสาน เปลี่ยนถ่าย ที่สถานีรังสิต ,สายใต้เปลี่ยนถ่ายที่สถานีตลิ่งชัน, สายตะวันออก เปลี่ยนถ่าย สถานีมักกะสัน
ส่วนจุดเปลี่ยนถ่ายสินค้า สายเหนือ สายอีสาน เปลี่ยนถ่ายสถานีเชียงราก, สายใต้เปลี่ยนถ่ายสถานีวัดงิ้วราย