xs
xsm
sm
md
lg

บีทีเอสดับเครื่องชน! จ่ออุทธรณ์-ฟ้องเพิ่ม ยัน รฟม.ล้มประมูล “สีส้ม” ผิด กม.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บีทีเอสเตรียมยื่นอุทธรณ์หลังศาลจำหน่ายคดีฟ้อง รฟม.เปลี่ยนเกณฑ์สายสีส้ม และจ่อฟ้องเพิ่มเหตุยกเลิกประมูล ชี้ไม่มีอำนาจตามกฎหมาย “สุรพงษ์” ไม่ตอบร่วมประมูลใหม่หรือไม่ ชี้เกณฑ์ผ่านเทคนิคใช้ราคาตัดสินดีที่สุด งาน PPP สัญญายาว หากคุณภาพไม่ดีเอกชนต้องรับความเสี่ยง

วันนี้ (10 มี.ค.) นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี และ พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย ที่ปรึกษา ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ปโฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ได้แถลงข่าวความคืบหน้าเรื่อง “การดำเนินงานรถไฟฟ้าสายสีส้ม” โดยนายสุรพงษ์กล่าวว่า วันที่ 9 มี.ค. 64 บริษัทฯ ได้ส่งจดหมายถึงนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ประธานคณะกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และประธานคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ขอให้ตรวจสอบการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เนื่องจาก รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ได้ร่วมกันเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาบริษัทได้ทำหนังสือสอบถาม และขอความเป็นธรรมถึงบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการรวม 5 ฉบับ แต่ไม่ได้รับการชี้แจง การตรวจสอบความไม่เป็นธรรมแต่อย่างใด ซึ่งบริษัทฯ เห็นว่าการดำเนินการของ รฟม.น่าจะไม่ถูกต้องทั้งข้อกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้อง

นายสุรพงษ์กล่าวว่า ขณะนี้ทีมกฎหมายของบริษัทฯ อยู่ระหว่างพิจารณายื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองกลางที่ได้จำหน่ายคดีที่บริษัทฯ ยื่นฟ้อง รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกมาตรา 36 ซึ่งยังมีเรื่องประเด็น ชดใช้ค่าเสียหาย 5 แสนบาท อีกทั้งยังสามารถยื่นอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วัน นอกจากนี้ ยังมีการพิจารณาประเด็นใหม่ที่ รฟม. ยกเลิกการประกวดราคาและทำการเปิดประกวดราคาใหม่ รวมถึงเปิดรับฟังความคิดเห็นเอกชนร่าง RFP ใหม่เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยมีเวลาพิจารณาและยื่นฟ้องศาลใหม่ภายใน 90 วัน

ขณะเดียวกันยังมีกรณีที่บริษัทยื่นฟ้องที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ฟ้องผู้ว่าฯ รฟม.และบุคคลที่เกี่ยวข้อง ในข้อหาความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157, 165 ซึ่งวันที่ 15 มี.ค.นี้ศาลจะมีคำสั่งรับเรื่องไว้พิจารณาหรือไม่

ส่วนกรณีที่ รฟม.เปิดประมูลใหม่ บริษัทฯ จะเข้าร่วมหรือไม่นั้น นายสุรพงษ์กล่าวว่า ยังตอบไม่ได้ ต้องขอดูทีโออาร์ และรายละเอียดอื่นๆ ก่อน อีกทั้งการจะร่วมประมูลหรือไม่อยู่ที่การพิจารณาของคณะกรรมการบริษัทฯ ด้วย อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าการใช้หลักเกณฑ์เดิมมีความเหมาะสม โดยพิจารณาจากซองเทคนิคก่อน และตัดสินที่ซองราคา ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นโครงการร่วมลงทุน (PPP) ดังนั้นเอกชนคู่สัญญาจะต้องอยู่คู่กับภาครัฐอีกนาน คุณภาพก่อสร้างและประสิทธิภาพการบริการ หากไม่ดีเป็นความเสี่ยงของเอกชนทั้งสิ้น

“บีทีเอสไม่ต้องการแสดงออกในลักษณะของการโต้แย้งกับหน่วยงานของรัฐผ่านสื่อ เราพยายามร้องขอความเป็นธรรมและดำเนินตามกระบวนการกฎหมายที่มี แต่จนถึงขณะนี้เราพบว่ามีความพยายามเบี่ยงเบนข้อเท็จจริง ซึ่งอาจทำให้บีทีเอสเกิดความเสียหาย ดังนั้น ในวันนี้เราจึงมีความจำเป็นต้องชี้แจงความจริงทั้งหมด สิ่งที่ดำเนินการมาและสิ่งที่กำลังดำเนินการต่อไปเพื่อให้ทุกคนเข้าใจในสิ่งที่ถูกต้อง”

พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย ที่ปรึกษา ประธานกรรมการ บีทีเอส กล่าวว่า การประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มนั้น มีความผิดปกติในขั้นตอนที่กำลังรอให้เอกชนยื่นข้อเสนอ เมื่อมีบริษัทเอกชนที่ร่วมซื้อซองทำหนังสือไปถึงผู้ว่าการ รฟม. และผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ขอให้พิจารณาเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การพิจารณาผู้ชนะการประมูล โดยอ้างเหตุผลถึงหลักเกณฑ์ และความเสี่ยงสูง ของการขุดเจาะอุโมงค์ลอดแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งผ่านพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ชั้นใน จะต้องใช้เทคนิคการออกแบบทางวิศวกรรมและวิธีการก่อสร้างขั้นสูงเพื่อลดผลกระทบที่มีต่อประชาชนในด้านต่างๆ และการที่ ผอ.สคร.ทำหนังสือถึง รฟม.แจ้งว่า เรื่องดังกล่าวเป็นอำนาจของคณะ กก.คัดเลือกมาตรา 36 ตรงนี้เป็นพิรุธ เนื่องจาก สคร.มีฐานะเป็นเลขานุการคณะกรรมการ PPP หากมีปัญหาเกิดขึ้นต้องเสนอคณะกรรมการ PPP พิจารณา

ขณะที่คณะ กก.คัดเลือกมาตรา 36 ไม่มีอำนาจแก้ไขหลักเกณฑ์การคัดเลือก โดยมีหน้าที่เห็นชอบร่าง RFP เท่านั้น ซึ่งตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุน ปี 62 กระบวนการประกวดราคาตั้งแต่ขายซอง รับซอง ประเมินข้อเสนอ และเสนอ ครม.อนุมัติ ต้องเดินหน้าให้จบไม่สามารถย้อนหลังได้ และจากการตรวจสอบตั้งแต่มาตรา 1-70 ไม่มีมาตราใดให้อำนาจเปลี่ยนเปลง ยกเว้นประกาศคณะกรรมการ PPP ข้อ 9 ที่ระบุกรณีขายซองแล้ว ถึงกำหนดรับซองแต่ไม่มีผู้ยื่น หรือมีผู้ยื่นแต่ไม่ผ่านเกณฑ์ จึงจะเปลี่ยนแปลงได้ แต่หากมีการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญจะต้องเสนอ ครม.พิจารณา ซึ่งสายสีส้มยังไม่ถึงขั้นตอนนั้น จึงไม่เข้าข่ายข้อ 9 ดังนั้นการกระทำของ รฟม.และคณะ กก.มาตรา 36 ถือว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย

“รฟม.อ้างสงวนสิทธิ์ตาม RFP ข้อ 12.1 ต้องบอกว่า สิทธิ์ กับอำนาจทางกฎหมาย เป็นคนละเรื่องกัน ซึ่งการยกเลิกประมูลของ รฟม.ไม่ได้อ้างอิงข้อกฎหมายใน พ.ร.บ.ร่วมลงทุน รวมถึงการยกเลิกประมูล เปิดรับฟังความเห็นร่าง RFP ใหม่ ก็ไม่มีกฎหมายรองรับ หาก รฟม.ยังดึงดันต่อ ไม่เลือกใช้วิธีที่ถูกต้อง ปีนี้ก็ประมูลไม่เสร็จ บริษัทจะฟ้องต่อไป วันนี้เรากับ รฟม.พูดคนละเรื่อง เราพูดเรื่องไม่ทำตามกฎหมาย รฟม.พูดเรื่อง Price Performance มีกฎหมายให้ทำ แต่ รฟม.ไม่ทำ การที่ รฟม.ทำแบบนี้เพื่ออะไร ใครสั่งให้ทำ ใครได้ประโยชน์”

อย่างไรก็ตาม การที่บริษัทฯ ยื่นหนังสือถึงนายกฯ ประธานบอร์ด PPP รมว.คมนาคม และประธานบอร์ดรฟม.เพื่อให้ตรวจสอบการกระทำของผู้ว่าฯ รฟม.และผู้เกี่ยวข้อง และสั่งการให้ รฟม.หยุดการกระทำใดๆ จนกว่าศาลจะมีคำสั่ง เราเชื่อว่าเมื่อมีการตรวจสอบโครงการต้องหยุด ต้องถามว่าหาก รฟม.เดินหน้าประมูลเสนอ ครม.อนุมัติ เท่ากับต้องการดึงผู้ใหญ่มาร่วมรับผิดด้วยหรือไม่ เราเห็นว่าเรื่องนี้ต้องมีจุดจบ ต้องมีคนลงมาแก้ปัญหา

นายสุรพงษ์  เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี

พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย ที่ปรึกษา ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ปโฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)


กำลังโหลดความคิดเห็น