รฟม.ยันเปลี่ยนเกณฑ์สีส้ม ทำตามประกาศ PPP ชี้เน้นเทคนิคเหตุผ่านพื้นที่สำคัญ ไม่อยากให้เสียหายแล้วต้องเยียวยาทีหลัง ยันยกเลิกดีกว่าปล่อยยืดเยื้อรัฐเสี่ยงเสียหายแบกดอกเบี้ยและภาระค่าดูแลโครงสร้างตะวันออกที่เสร็จก่อน แต่ไม่มีรถวิ่ง รวมกว่า 206 ล้าน/เดือน
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ชี้แจงถึงกรณีที่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจเกี่ยวกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร วงเงิน 1.28 แสนล้านบาท กรณีมีการปรับเกณฑ์พิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคควบคู่กับด้านราคา (เกณฑ์การประเมินใหม่) ว่า รฟม.ดำเนินตามตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ซึ่งมีสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เป็นเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (คณะกรรมการ PPP) โดยได้มีประกาศคณะกรรมการ PPP เรื่องหลักเกณฑ์การคัดเลือกเอกชน เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2563 กำหนดให้พิจารณาการคัดเลือกให้ใช้เกณฑ์และวิธีการตัดสินเป็นคะแนนในทุกด้าน ทั้งด้านคุณภาพ และด้านราคา (Price-Performance)
เป็นสาเหตุหลักที่ รฟม.และที่ปรึกษาโครงการได้พิจารณาทบทวนและนำเสนอคณะกรรมการมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ 2562 ทบทวนเปลี่ยนแปลงเกณฑ์การคัดเลือกให้สอดคล้องกับประกาศ คณะกรรมการ PPP และคณะ กก.มาตรา 36 มีมติเมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2563 เปลี่ยนเกณฑ์เป็นราคารวมกับเทคนิค 70-30 และขยายเวลาการยื่นซอง 45 วันเพื่อไม่ให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ ซึ่งเอกชนมีเวลาในการเตรียมเอกสารข้อเสนอไม่น้อยกว่า 70 วัน ซึ่งมากพอที่เอกชนจะปรับปรุงข้อเสนอให้สอดคล้องกับเกณฑ์การคัดเลือกใหม่
ทั้งนี้ เทคนิคและวิธีการก่อสร้างเป็นเรื่องสภาพแนวเส้นทางสายสีส้มตะวันตก ที่เป็นอุโมงค์ตลอดสายผ่านพื้นที่ผ่านย่านชุมชน ตั้งแต่ห้วยขวาง ประชาสงเคราะห์ ย่านประตูน้ำ เพชรบุรีตัดใหม่ ย่านเมืองเก่า ถนนราชดำเนินกลาง ซึ่งมีอาคารอนุรักษ์จำนวนมาก ผ่านสนามหลวง โรงละครแห่งชาติ ลอดแม่น้ำเจ้าพระยา ศิริราช สถานีรถไฟธนบุรี สิ้นสุดที่บางขุนนนท์ ตลอดแนวมีอาคารข้างเคียงที่อ่อนไหวต่อการขุดเจาะอุโมงค์ การก่อสร้างหากไม่ระวังสูงสุดอาจจะกระทบทำให้อาคารอนุรักษ์เสียหายได้ ซึ่งการบูรณะกลับคงไม่ได้ดีเหมือนเดิม
โดยในการพิจารณาเห็นว่า โครงการ PPP รถไฟฟ้าสายอื่นๆ ที่ผ่านมา การก่อสร้างทำให้เกิดอุบัติเหตุหลายครั้ง อีกทั้งมีน้ำรั่วเข้าสถานีใต้ดิน มีการทรุดตัวของอาคารข้างเคียงและไม่สามารถซ่อมแซมและเยียวยาผู้เสียหายได้ ซึ่งการก่อสร้างสายสีส้มแตกต่างจากสายอื่นเพราะมีความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายต่อโบราณสถานที่เป็นสมบัติของชาติที่มิอาจประเมินมูลค่าเสียหายได้ จึงต้องใช้เทคนิคการก่อสร้างวิศวกรรมและวิธีการก่อสร้างชั้นสูง เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายขึ้น
“โครงการ MRT ในอดีต รฟม.เคยใช้หลักเกณฑ์การคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโดยวิธีพิจารณาทางเทคนิค 50% ร่วมกับด้านราคา 50% ปรากฏให้ได้ผลงานก่อสร้างและบริการที่มีคุณภาพและความปลอดภัยสูงสุด โดยยังคงผลตอบแทนทางการเงินที่เหมาะสม รฟม.ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ในปัจจุบันภาวะเศรษฐกิจที่มีปัญหา ทำให้ผลตอบแทนด้านการเงินโครงการมีความสำคัญ จึงได้พิจารณา ใช้หลักเกณฑ์ในด้านราคา 70% เพื่อให้ได้ผลตอบแทนด้านการเงินในสัดส่วนที่สูง และเกณฑ์ด้านเทคนิค 30% เพื่อความปลอดภัยของประชาชนและเพิ่มคุ้มครองรักษาโบราณสถานต่างๆ ที่เป็นสมบัติของชาติไว้”
ส่วนการยกเลิกประกวดราคาและเปิดคัดเลือกใหม่นั้น จากที่มีเอกชนรายหนึ่งได้มีการยื่นฟ้อง รฟม.และคณะ กก.มาตรา 36 และศาลปกครองกลางมีคำสั่งทุเลาการบังคับใช้เกณฑ์ประเมินใหม่ชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น
ที่ผ่านมากระบวนการพิจารณาคดีทางปกครองจนถึงที่สุดนั้นต้องใช้เวลานานพอสมควร เช่น กรณีบริษัทเอกชนรายหนึ่งยื่นฟ้องการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ต่อศาลปกครองกลางในคดีพิพาททางด่วน เมื่อเดือน ก.ย. 2554 กระบวนการพิจารณาถึงที่สุดเมื่อเดือน ก.ย. 2561 ใช้เวลานานเกือบ 85 เดือน เมื่อเปรียบเทียบกรณีรอผลคดีถึงที่สุด ประกอบกับที่มีการยื่นเอกสารประมูลและซองข้อเสนอที่มีอายุ 270 วัน ซึ่งเวลาได้ล่วงเลยมาแล้วเกือบ 3 เดือน ขณะที่เวลายื่นข้อเสนอที่เหลืออาจไม่เพียงพอต่อระยะเวลาในการการพิจารณาคัดเลือก อีกทั้งไม่สามารถคาดได้ว่าคดีจะถึงที่สุดเมื่อใด
ขณะที่การเริ่มกระบวนการคัดเลือกใหม่จะช่วยแก้ปัญหาโดย รฟม.สามารถเร่งรัดดำเนินการคัดเลือกเอกชนได้ทันทีให้แล้วเสร็จภายใน 6-8 เดือน สามารถเปิดบริการได้ตามแผนเดิม ปี 2570 ทำให้มั่นใจในการให้บริการสาธารณะได้ตามเป้าหมาย ไม่มีปัญหาเหมือนโครงการอื่น เกิดประโยชน์ต่อรัฐและประชาชน เป็นการอาศัยอำนาจที่กำหนดในประกาศเชิญชวน RFP ข้อ 12.1 ข้อ 35.1 ซึ่งสอดคล้องตามประกาศคณะกรรมการ PPP เรื่องรายละเอียดของร่างประกาศเชิญชวน เอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน และสาระสำคัญของร่างสัญญาร่วมลงทุน พ.ศ. 2563 ข้อ 4 (9) และมาตรา 38 (7) แห่ง พ.ร.บ.ร่วมลงทุน พ.ศ. 2562 คณะ กก.มาตรา 36 ได้พิจารณาแล้วจึงมีมติให้ยกเลิกการคัดเลือกและเริ่มการคัดเลือกใหม่
นอกจากนี้ หากให้คดีถึงที่สุดและคัดเลือกเอกชนต่ออาจจะสร้างความเสียหายแก่รัฐมากกว่าเดือนละ 206 ล้านบาท เพราะจะต้องจ่ายค่าดอกเบี้ยเดือนละกว่า165 ล้านบาท และมีค่าดูแลรักษางานโยธา ส่วนตะวันออกที่จะก่อสร้างเสร็จก่อน แต่รอส่งมอบเอกชนเดือนละ 41 ล้านบาท ยังไม่รวมมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจที่ประชาชนต้องรอใช้บริการ ดังนั้น การยกเลิกประมูลจึงจำเป็นเพื่อป้องกันความเสียหายของโครงการและการเสียโอกาสทางเศรษฐกิจของประเทศมากกว่า
อย่างไรก็ตาม ศาลได้พิจารณา รฟม.ถอนอุทธรณ์แล้ว ส่วนคดีหลักที่ศาลปกครองยังไม่มีการพิจารณาออกมานั้น จะไม่กระทบต่อการเปิดประมูลใหม่ เนื่องจากเหตุแห่งการฟ้องคดีเรื่องการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนได้หมดสิ้นแล้ว เนื่องจากมีการยกเลิกคัดเลือกนั้นแล้วเหตุจึงหมดไป การฟ้องคดีน่าจะยุติลง ทั้งนี้จะเป็นดุลพินิจที่ศาลจะพิจารณาต่อไป
สำหรับกรอบเวลาเปิดประมูลใหม่นั้นจะจัดรับฟังความเห็นความสนใจการลงทุนของภาคเอกชน (Market Sounding) และสาระสำคัญของเอกสารการคัดเลือกเอกชน (RFP) ภายในเดือน ก.พ.นี้ จากนั้นคณะกรรมคัดเลือกฯจะเห็นชอบประกาศเชิญชวน, RFP และร่างสัญญาฯ และในเดือน มี.ค. 2564 รฟม.จะออกประกาศเชิญชวน และขายเอกสาร RFP และเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอในช่วง มี.ค.-พ.ค. 2564 หลังจากนั้นคณะกรรมการคัดเลือกฯ ประเมินข้อเสนอ-เจรจาต่อรอง ช่วง พ.ค.-ก.ค. 2564 ก่อนส่งต่อให้อัยการสูงสุดตรวจร่างสัญญาฯ และคาดว่าจะเสนอให้ ครม.พิจารณาเห็นชอบผลการคัดเลือกฯ และลงนามสัญญาภายใน ก.ค. 2564