xs
xsm
sm
md
lg

รฟม.โล่ง! ศาลจำหน่ายคดี “สีส้ม” เดินหน้าประมูลใหม่ ขายซอง เม.ย.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“รฟม.” ลุยประมูลสายสีส้มรอบใหม่หลังศาลจำหน่ายคดีบีทีเอสฟ้องร้อง ย้ำเปิดรับฟังความเห็นร่าง RFP ก่อนสรุปเสนอ กก.มาตรา 36 เคาะเกณฑ์คัดเลือก แจงคะแนนเทคนิคกับราคา 30-70 เพื่อประโยชน์ต่อโครงการและ รฟม. ด้าน “ศักดิ์สยาม” สั่ง รฟม.เตรียมพร้อมชี้แจงหลัง “บีทีเอส” ร้องนายกฯ กำชับยึด พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ทุกขั้นตอน

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า ในการประชุมหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม วันนี้ (9 มี.ค.) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้พูดถึงกรณี บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี ได้ยื่นหนังสือถึง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กรณีการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) โดยให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เร่งชี้แจงทำความเข้าใจกรณีที่เปิดประกวดราคาใหม่ เพราะการที่บีทีเอสไปยื่นหนังสือถึงนายกฯ อาจทำให้คนจะมองว่ามีการทำอะไรไม่ถูกต้องหรือไม่

ขณะนี้นายกฯ ยังไม่มีข้อสั่งการใดๆ มายังกระทรวงคมนาคม ทั้งนี้ได้กำชับ รฟม.ดำเนินการโดยยึดตามระเบียบและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด เพื่อสามารถอธิบายได้อย่างชัดเจนว่าได้ดำเนินการตามระเบียบอย่างไรบ้าง ซี่งในการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนนั้น การจัดทำร่างประกาศเชิญชวน ร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) เป็นอำนาจของคณะกรรมการตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ซึ่ง รมว.คมนาคมไม่มีอำนาจสั่งการใดๆ

สำหรับกรณีที่ บมจ.บีทีเอสซียื่นศาลปกครองกลางขอให้มีคำสั่งเพิกถอนประกาศหลักเกณฑ์การประมูลใหม่ หลัง รฟม.มีการเปิดประมูลไปแล้ว ในคดีหมายเลขดำที่ 2280/2563 คดีหมายเลขแดงที่.../25.. ล่าสุดศาลได้มีคำสั่งจำหน่ายคดีบางข้อหาเพราะเหตุแห่งการฟ้องคดีบางข้อหาหมดสิ้นไป ลงวันที่ 5 มีนาคม 2564 ทั้งนี้ ผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งจำหน่ายคดีบางข้อหา เพราะเหตุแห่งการฟ้องคดีบางข้อหาหมดสิ้นไปต่อศาลปกครองสูงสุด ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งศาล

ทั้งนี้ ยังเหลือประเด็นที่ศาลยังต้องพิจารณาต่อไป คือ กรณี บมจ.บีทีเอสซี ขอให้ศาลสั่งให้ รฟม.ชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 500,000 บาท จากการจ้างที่ปรึกษาทางด้านเทคนิคในการยื่นประมูลโครงการนั้นซึ่งขึ้นกับการพิจารณา

@รฟม.ยันเดินหน้าประมูลใหม่ ยันเน้นเทคนิคก่อสร้างเพื่อความปลอดภัยสูงสุด

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าฯ รฟม. กล่าวว่า จากที่ รฟม.ได้ยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลปกครองสูงสุด และศาลได้พิจารณาเห็นว่าเหตุแห่งการฟ้องคดี รวมถึงเหตุแห่งการพิจารณาเกี่ยวกับการขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองไม่มีอยู่ต่อไป และคดีนี้มิได้เป็นคดีที่เกี่ยวกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ การพิจารณาคดีต่อไปไม่เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม
 
ต่อมาวันที่ 9 ก.พ. 2564 คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ และ รฟม.ได้ยื่นคำร้องชี้แจงข้อเท็จจริงและขอให้จำหน่ายคดี และศาลปกครองกลางได้มีคำสั่ง ฉบับลงวันที่ 5 มี.ค. 2564 จำหน่ายคดีในข้อหาที่ฟ้องขอให้เพิกถอนหลักเกณฑ์การร่วมลงทุนที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยให้เหตุผลว่าเหตุแห่งการฟ้องคดีตามคำขอที่ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งพิพาทหมดสิ้นไป ไม่มีเหตุที่จะให้ศาลต้องมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพื่อออกคำบังคับตามมาตรา 72 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ต่อไปอีก และศาลยังได้มีคำสั่งให้คำสั่งศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2563 ที่ให้ทุเลาการบังคับตามหลักเกณฑ์ที่แก้ไขเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมครั้งที่ 1 สิ้นผลบังคับลงไปด้วย

ทั้งนี้ จากที่ รฟม.ได้ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2564 และได้เริ่มกระบวนการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนฯ ขึ้นใหม่อีกครั้ง ตามขั้นตอนใน พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ส่วนที่ 2 (การคัดเลือกเอกชน) ตามมาตรา 35 ซึ่งระบุให้หน่วยงานเจ้าของโครงการจัดทำร่างประกาศเชิญชวนร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) และร่างสัญญาร่วมลงทุน เสนอต่อคณะกรรมการคัดเลือกเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ
 
โดยมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง (Opinion Hearing) และนำความคิดเห็นมาพิจารณาประกอบการจัดทำเอกสาร ซึ่ง รฟม.ดำเนินการตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน พ.ศ. 2563
 
ซึ่งจะรับฟังความคิดเห็นของเอกชน ระหว่างวันที่ 2-16 มีนาคม 2564 โดยหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกนั้น รฟม.เห็นว่าจำเป็นต้องคำนึงถึงสภาพพื้นที่เส้นทางโครงการฯ ที่เอกชนผู้ร่วมลงทุนต้องดำเนินการด้วยเทคนิคก่อสร้างที่มีคุณภาพและความปลอดภัยสูงสุด จึงกำหนดวิธีประเมินคะแนนด้านเทคนิคและคุณภาพควบคู่คะแนนด้านผลตอบแทนและการลงทุน (Price-Performance) ซึ่งสอดคล้องกับประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เรื่อง รายละเอียดของร่างประกาศเชิญชวนฯ ร่างเอกสาร RFP และสาระสำคัญของร่างสัญญาฯ พ.ศ. 2563 โดยในข้อ 4(8) ที่ให้กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกที่ให้ระบุหลักเกณฑ์และวิธีการตัดสินเป็นคะแนนในทุกด้านทั้งด้านคุณภาพและด้านราคา
 
และช่วงปลายเดือน มี.ค.นี้จะนำร่างประกาศเชิญชวนฯ ร่างเอกสาร RFP และร่างสัญญาฯ รวมถึงผลการรับฟังความคิดเห็น เสนอคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนพิจารณาเห็นชอบฯ ตามหน้าที่และอำนาจในมาตรา 38 ต่อไป คาดว่าจะเปิดขายเอกสารประกวดราคาในเดือน เม.ย. 2564 ให้เอกชนจัดทำข้อเสนอเดือน พ.ค.-มิ.ย. 2564 จากนั้นจะประเมินข้อเสนอและได้ตัวผู้รับจ้างภายในเดือน ก.ค. 2564 และเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบผลการเจรจาภายในเดือน ส.ค. 2564 คาดว่าจะเปิดให้บริการสายสีส้มตะวันออกช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ในปี 2567 และด้านตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ ปี 2569

“การยกเลิกประมูลโดยไม่รอคำตัดสินของศาลเพื่อเร่งรัดโครงการ โดยขณะนี้การเปิดประมูลใหม่คาดว่าจะทำให้ล่าช้าจากกำหนดการเดิมประมาณ 1 เดือน ซึ่งประเมินผลกระทบน้อยกว่าหากเทียบกับการรอให้คดีสิ้นสุดที่ต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการกว่า 1 ปี ส่วนเกณฑ์การพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิค 30 คะแนน ด้านราคา 70 คะแนน เห็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อโครงการและ รฟม.มากที่สุด ซึ่ง รฟม.จะสรุปความเห็นเอกชนเสนอ กก.มาตรา 36 พิจารณาเห็นชอบ อย่างไรก็ตาม กรณีที่ประมูลแล้วมีเอกชนยื่นข้อเสนอ เพียงรายเดียวตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ สามารถเจรจาได้”

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย  (รฟม.)


กำลังโหลดความคิดเห็น