ศาลปกครองจำหน่ายคดีเพิกถอนประกาศเกณฑ์ประมูลใหม่ หลังรัฐล้มประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม เหลือปมค่าเสียหาย ชี้เอกชนยึดคดีไทยทีวี ฟ้องขอคืนค่าสัมปทานไม่ได้ แจงคดีกะเหรี่ยงบางกลอย แค่วางหลัก จนท.รัฐยึดมาตรการ ไม่ได้บอกอยู่เขตอุทยานได้
วันนี้ (9 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการแถลงข่าวผลการดำเนินงาน 20 ปี ศาลปกครอง นายจำกัด ชุมพลวงศ์ รองโฆษกศาลปกครอง กล่าวชี้แจงกรณีรัฐบาลล้มประมูลโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่มีการฟ้องคดีอยู่ในศาลปกครองว่า คดีนี้ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนประกาศหลักเกณฑ์การประมูลใหม่ หลัง รฟม.มีการเปิดประมูลไปแล้ว ซึ่งเมื่อวันที่ 5 มี.ค.ที่ผ่านมาศาลได้มีคำสั่งจำหน่ายคดีในประเด็นที่ บมจ.บีทีเอสซี ขอให้เพิกถอนประกาศหลักเกณฑ์การประมูลใหม่ดังกล่าว เพราะหมดเหตุที่ศาลจะต้องวินิจฉัยเนื่องจากรัฐบาลได้มีการยกเลิกการประมูลและเปิดการประมูลโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าดังกล่าวใหม่ แต่ยังเหลือประเด็นที่ศาลต้องพิจารณาต่อไป คือ กรณี บมจ.บีทีเอสซี ขอให้ศาลสั่งให้ รฟม.ชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 500,000 บาท จากการจ้างที่ปรึกษาทางด้านเทคนิคในการยื่นประมูลโครงการดังกล่าวเท่านั้น
ส่วนที่วานนี้ (8 มี.ค.) ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้ กสทช.คืนเงินค่าใบอนุญาตสัมปทานทีวีดิจิทัลให้กับบริษัท ไทยทีวี จำกัด หลังยกเลิกสัญญาสัมปทาน แม้เหตุผลที่ศาลใช้ประกอบการพิพากษาดังกล่าวมาจากปัญหาการบริหารจัดการที่ไม่พร้อมของ กสทช.ในเวลานั้น ซึ่งผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลในปัจจุบันคงไม่สามารถนำมาเป็นเหตุในการฟ้องขณะนี้เพื่อขอคืนค่าสัมปทานเหมือนกรณีบริษัท ไทยทีวี จำกัด ได้ เพราะหากมีการฟ้อง ศาลก็ต้องพิจารณาเงื่อนไขในการรับความเดือดร้อนเสียหาย รวมทั้งปัจจุบันก็มีคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ให้ผู้ประกอบการสามารถคืนสัมปทานได้โดยได้รับเงินชดเชย
ด้าน น.ส.สายทิพย์ สุขคติพันธ์ รองโฆษกศาลปกครอง กล่าวชี้แจงกรณีที่มีการนำคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดไปอ้างในทำนองศาลพิพากษาว่ากะเหรี่ยงบ้านบางกลอยมีสิทธิที่จะกลับไปอยู่บ้านบางกลอยบน และบ้านใจแผ่นดิน ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ว่าข้อเท็จจริงชาวบ้านมาฟ้องคดีขอให้ศาลสั่งให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชดใช้ค่าเสียหายจากกรณีเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ รื้อถอนเผาทำลายสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินที่บ้านบางกลอยบน และบ้านใจแผ่นดิน โดยศาลก็ได้มีคำพิพากษายึดตาม พ.ร.บ.อุทยาน พ.ศ. 2504 ว่าชาวบ้านไม่ได้มีหลักฐานการครอบครองที่ดินก่อนการประกาศเขตอุทยานฯ และในคำพิพากษาศาลได้ระบุว่า ถึงแม้จะอยู่ในเขตอุทยานฯ แต่การใช้อำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ก็ต้องอยู่ภายใต้หลักบริหารงานทางปกครอง ต้องใช้มาตรการหนักเบาตามลำดับขั้นเพื่อให้มีผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด จึงนำไปสู่คำพิพากษาให้กรมอุทยานฯ ชดใช้ค่าเสียหายเท่านั้น คำพิพากษาดังกล่าวจึงไม่ได้มาจากการฟ้องคดีโดยตรงว่าชาวบ้านมีสิทธิที่จะอยู่ในเขตที่กำหนดว่าเป็นเขตอุทยานฯ หรือไม่ หากมีการฟ้องในประเด็นนี้ ศาลก็ต้องมีการนำสืบพยานหลักฐานในอีกลักษณะหนึ่ง