รฟม.เปิดรับฟังความคิดเห็นเอกชนร่างประกาศเชิญชวน ร่างเอกสารประมูล และร่างสัญญาร่วมลงทุน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ผ่านเว็บไซต์ ส่งความเห็นใน 19 มี.ค. 64 ใช้เกณฑ์ประเมินรวมคะแนนข้อเสนอซอง 2 (เทคนิค) และซอง 3 ผลตอบแทนสัดส่วน 30-70
วันนี้ (3 มี.ค.) กองสื่อสารองค์กร สำนักผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) แจ้งว่า ด้วย รฟม.มีความประสงค์จะดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนเพื่อนำความคิดเห็นดังกล่าวมาพิจารณาประกอบการจัดทำร่างประกาศเชิญชวน ร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน และร่างสัญญาร่วมลงทุนของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ความตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นบริษัทที่ดำเนินกิจการบริหารการเดินรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน สถาบันการเงิน ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายระบบรถไฟฟ้า บริษัทก่อสร้าง นักลงทุนภาคเอกชน และภาคเอกชนทั่วไปที่สนใจในโครงการทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ในการนี้ ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดเอกสารการรับฟังความคิดเห็นประกอบด้วย สรุปสาระสำคัญของร่างประกาศเชิญชวน ร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน และร่างสัญญาร่วมลงทุน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และแบบสอบถามการรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน ได้ที่ https://www.mrta.co.th ตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม 2564 ถึงวันที่ 16 มีนาคม 2564
โดยกรอกข้อคิดเห็นของท่านตามแบบสอบถาม และจัดส่งให้ รฟม.ผ่านทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ของ รฟม. (orlhearing@mrta.co.th) ตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 2564 ถึงวันที่ 19 มีนาคม 2654
รฟม.หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาจัดทำร่างประกาศเชิญชวน ร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน และร่างสัญญาร่วมลงทุนของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ให้เกิดความเหมาะสมและความสำเร็จในการดำเนินโครงการต่อไป
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)
รายงานข่าวแจ้งว่า ในข้อมูลสำหรับการรับฟังความเห็นเอกชนนั้น กำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือก โดยผู้ยื่นข้อเสนอต้องจัดทำข้อเสนอ 4 ซองเหมือนการประมูลก่อนหน้านี้ คือ ซองที่ 1 ข้อเสนอด้านคุณสมบัติ ซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิค ซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน ซองที่ 4 ข้อเสนออื่นๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการให้บริการและการดำเนินงานของ รฟม.
หลักเกณฑ์ในการพิจารณาข้อเสนอ 1. ตรวจสอบเอกสารหนังสือมอบอำนาจ หลักประกันซอง รวมถึงความถูกต้องของเอกสารข้อเสนอตามที่ระบุไว้ หากไม่ถูกต้องครบถ้วน รฟม.จะไม่พิจารณาข้อเสนอและส่งคืน 2. พิจารณาข้อเสนอซองที่ 1 หากไม่ผ่านจะไม่เปิดข้อเสนอซองที่ 2
3. พิจารณาข้อเสนอซองที่ 2 ด้านเทคนิค และข้อเสนอซองที่ 3 ด้านการลงทุนและผลตอบแทน เป็นเรื่องความน่าเชื่อถือ ความครบถ้วนถูกต้อง และผลตอบแทนทางการเงิน โดยจะมีคะแนนเต็ม 100 คะแนน แบ่งเป็นข้อเสนอซองที่ 2 ทางเทคนิค 30 คะแนน ข้อเสนอด้านการลงทุนผลตอบแทน 70 คะแนน และนำคะแนนซองที่ 2 และซองที่ 3 มารวมกัน ผู้ได้คะแนนรวมสูงสุดจะผ่านการประเมิน
สำหรับคุณสมบัติด้านเทคนิค ต้องมีประสบการณ์ในการออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดินด้วยหัวเจาะ (Tunnel Boring Machine) งานออกแบบและก่อสร้างสถานีใต้ดิน งานออกแบบและก่อสร้างทางวิ่งแบบไม่ใช้หินโรยทาง และต้องมีประสบการณ์ในการจัดหาและติดตั้งระบบรถไฟฟ้า ต้องมีประสบการณ์ในการบริการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า
โดยเอกชนผู้ร่วมทุนมีหน้าที่ดำเนินการ ระยะที่ 1 ส่วนที่ 1 ออกแบบ จัดหา ผลิต ติดตั้ง และทดสอบระบบ และทดลองการเดินรถไฟฟ้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออก มีระยะเวลาดำเนินการไม่เกิน 3 ปี 6 เดือน นับจากวันแจ้งให้เริ่มงาน ส่วนที่ 2 ออกแบบและก่อสร้างงานโยธา ออกแบบและก่อสร้างระบบรางวิ่ง จัดหา ผลิต ติดตั้ง และทดสอบระบบรถไฟฟ้าและทดลองการเดินรถไฟฟ้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันตก โดยมีระยะเวลาดำเนินการไม่เกิน 6 ปี นับจากวันแจ้งให้เริ่มงาน
ระยะที่ 2 : ให้บริการเดินรถไฟฟ้าและบำรุงรักษาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ระยะเวลา 30 ปี และมีสิทธิในการพัฒนาเชิงพาณิชย์ตามกำหนดในสัญญา 3. จัดหาเงินทุนเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงาน 4. จัดเก็บค่าโดยสาร และจ่ายเงินตอบแทนให้ รฟม.ตามกำหนดในสัญญา 5. โอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตามสัญญาให้ รฟม.ตั้งแต่วันเปิดให้บริการ