รฟม.เซ็นสัญญาฉบับแก้ไข NBM “รถไฟฟ้าสีชมพู” ต่อเข้าเมืองทอง 3 กม. “อนุทิน” ยันค่าโดยสารรวมสีชมพูไม่เกิน 42 บาท ด้าน รฟม.เร่งเวนคืน คาดเริ่มตอกเข็ม ก.ค.นี้ บีทีเอสพร้อมเร่งก่อสร้าง เล็งเปิดให้บริการพร้อมสายหลักช่วงสถานีศูนย์ราชการ
วันนี้ (23 ก.พ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาร่วมลงทุนการออกแบบและก่อสร้างงานโยธา การจัดหาระบบรถไฟฟ้า การให้บริการการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงรักษา โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ฉบับแก้ไข กรณีโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี ระหว่างการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โดยนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. และบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) โดยนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการ NBM โดยมีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงคมนาคม และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นสักขีพยาน
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และผลักดันให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมและขนส่งอย่างเต็มที่ โดยกำหนดไว้ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี ซึ่งโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี มีความก้าวหน้าให้เห็นเป็นรูปธรรมมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของงานก่อสร้าง และงานระบบรถไฟฟ้า และเพื่อยกระดับโครงข่ายเส้นทางของระบบขนส่งมวลชนทางรางให้มีศักยภาพเพิ่มมากขึ้น รัฐบาลจึงได้อนุมัติให้บรรจุโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ส่วนต่อขยายช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี ในแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล
การลงนามสัญญาร่วมลงทุนฯ ระหว่าง รฟม.กับ NBM ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ ส่วนต่อขยายนี้จะเพิ่มศักยภาพการเดินทางด้วยระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน โดยค่าโดยสารของรถไฟฟ้าสีชมพูทั้งระบบจะไม่เกิน 42 บาท
ด้านนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม.กล่าวว่า สายสีชมพูต่อขยายช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี มีวงเงินลงทุนประมาณ 4,000 ล้านบาท โดย NBM เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งหมด รวมถึงค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และภาครัฐได้รับสิทธิและผลตอบแทนที่ดีกว่าเงื่อนไขเดิม โดยจะมีการเวนคืนอยู่ 2 จุด คือ บริเวณสถานีศรีรัช เพื่อขยายสถานีรองรับส่วนต่อขยาย และพื้นที่ใต้ทางด่วนบางส่วน โดยจะใช้ลักษณะรอนสิทธิ์ มีวงเงินเวนคืนประมาณ 200 ล้าน
สำหรับแนวเส้นทางส่วนต่อขยายมีจุดเริ่มต้นบนถนนแจ้งวัฒนะ เชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ สายหลัก ที่สถานีศรีรัช ก่อนเลี้ยวขวาวิ่งเข้าสู่พื้นที่เมืองทองธานี ไปตามถนนแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 39 ขนานกับทางพิเศษอุดรรัถยา ผ่านวงเวียนเมืองทองธานี (สถานี MT-01) และวิ่งต่อเนื่องไปยังจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณทะเลสาบเมืองทองธานี (สถานี MT-02) รวมระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร มีรูปแบบเป็นโครงสร้างยกระดับ ประกอบด้วย 2 สถานี ใช้เวลาก่อสร้าง 37 เดือน ซึ่ง รฟม.จะออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (NTP) ประมาณเดือน ก.ค.-ส.ค. 2564 ก่อสร้างจะแล้วเสร็จเปิดให้บริการได้ในปี 2567 คาดว่าจะมีปริมาณผู้โดยสาร 13,785 คน/เที่ยว/วัน
สำหรับความคืบหน้าโครงการสายสีเหลืองส่วนต่อขยาย ช่วงแยกรัชดา-ลาดพร้าว-แยกรัชโยธินนั้น ผู้ว่าฯ รฟม.กล่าวว่ายังอยู่ในการเจรจากับผู้รับสัมปทาน คือ กลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ หากได้ข้อยุติจะเสนอ ครม.เพื่อเห็นชอบร่างแก้ไขสัญญาเช่นเดียวกับสายสีชมพูต่อไป โดยเชื่อว่าจะยังสามารถเจรจาได้ ยังไม่ใช่ทางตันที่จะเจรจารายละเอียดผลกระทบร่วมกัน
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี กล่าวว่า ในระหว่างนี้บริษัทฯ จะเร่งเตรียมความพร้อม เมื่อ รฟม.ออกหนังสือ NTP จะเริ่มก่อสร้างได้ทันที และจะเร่งก่อสร้างให้เร็วที่สุด หากเป็นไปได้จะให้ส่วนต่อขยายพร้อมกับส่วนเส้นทางหลักที่จะเปิดเดินรถส่วนสุดท้ายไปถึงสถานีศูนย์ราชการนนทบุรี
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู รฟม.ได้ทำสัญญาร่วมลงทุนฯ กับ NBM และเริ่มดำเนินงานก่อสร้างตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2561 ปัจจุบันการก่อสร้างงานโยธาคืบหน้า 69.51% และเปิดให้บริการประชาชนได้ภายในปี 2565 คาดว่าจะมีผู้โดยสารประมาณ 200,000 คน/วัน