xs
xsm
sm
md
lg

ไฟเขียวด่วน"เอกชัย–บ้านแพ้ว" ส่วนต่อขยายเมืองทองฉลุย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ผู้จัดการรายวัน360 - ครม.เห็นชอบ มอเตอร์เวย์ช่วงเอกชัย – บ้านแพ้ว วงเงิน 1.97 หมื่นล้าน ใช้เงินกองทุนมอเตอร์เวย์ก่อสร้างงานโยธา “ศักดิ์สยาม” สั่งเร่งตอกเข็มในปีนี้ เปิดบริการเต็มรูปแบบต้นปี 68 เห็นชอบ รฟม.แก้ไขสัญญาร่วมลงทุน รถไฟฟ้าสีชมพูต่อขยาย ช่วงศรีรัช-เมืองทองธานี อีก 2 สถานี ลงทุนอีก 4.2 พันล้าน ด้านรฟม.เร่งเวนคืน

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 9 ก.พ. มีมติเห็นชอบให้กรมทางหลวง (ทล.) ก่อสร้างโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 82 สายบางขุนเทียน - บ้านแพ้ว ช่วงเอกชัย - บ้านแพ้ว ในส่วนของงานโยธา วงเงินค่าก่อสร้าง 19,700 ล้านบาท ระยะทาง 16.4 กม. ระยะดำเนินการ3 ปี (2564-2567) โดยใช้เงินกองทุนค่าธรรมเนียมมอเตอร์เวย์ดำเนินการ

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีกำชับให้ ระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียม แบบ M-Flow และต้องไม่เกิดปัญหาทำให้รายได้ลดลง โดยจะแก้ไขปัญหาจราจรถนนพระราม 2

รูปแบบการก่อสร้างเป็นทางยกระดับอยู่บนเกาะกลางของทางหลวงถนนพระราม 2 ขนาด 6 ช่องจราจร ทิศทางละ 3 ช่องจราจร มีจุดขึ้นลง 4 แห่ง คือ ด่านมหาชัย ด่านสมุทรสาคร1 ด่านสมุทรสาคร2 และด่านบ้านแพ้ว ค่าธรรมเนียมผ่านทางคือ รถยนต์ 4 ล้อ ค่าแรกเข้า 10 บาท เพิ่ม 2 บาทต่อกิโลเมตร, 6 ล้อ แรกเข้า 16 บาท เพิ่ม 3.2 บาทต่อกิโลเมตร และ รถมากกว่า 6 ล้อ แรกเข้า 23 บาท เก็บเพิ่ม 4.6 บาทต่อกิโลเมตร

โดยจะก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจโดยมีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ เท่ากับ 23,264 ล้านบาท อัตราผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ 19.7 %

โอดยอัตราผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) 2.6% แต่เมื่อพิจารณาผลตอบแทนทางการเงินของโครงการตลอดทั้งสายคือช่วงบางขุนเทียน-เอกชัย-บ้านแพ้ว พบว่ามีความเหมาะสมและมีความคุ้มค่าต่อการลงทุนทางการเงิน โดยมี FIRR 7.1%

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวว่า โครงการก่อสร้างงานโยธาช่วงบางขุนเทียน-เอกชัย-บ้านแพ้ว ระยะทางรวม 24.7 กม. แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ช่วงบางขุนเทียน-เอกชัย ระยะทาง 8.3 กม. ปัจจุบัน อยู่ระหว่างก่อสร้าง ใช้งบประมาณ 10,500 ล้านบาท

ระยะที่ 2 ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว ระยะทาง 16.4 กม. ใช้เงินทุนค่าธรรมเนียมผ่านทาง (กองทุนมอเตอร์เวย์) วงเงิน 19,700 ล้านบาท

สำหรับการก่อสร้างงานระบบ และบำรุงรักษา จะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP ใช้เทคโนโลยีการจัดเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น M-Flow ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ 23,264 ล้านบาท และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจ 100,000 ล้านบาท

เคาะรถไฟฟ้าสีชมพูต่อ 2 สถานีเข้าเมืองทองฉลุย

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 9 ก.พ. มีมติเห็นชอบการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนการออกแบบและก่อสร้างงานโยธา การจัดหาระบบรถไฟฟ้า การให้บริการการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุง โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูช่วงแคราย-มีนบุรี ส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี ระยะทางประมาณ 3 กม. มี 2 สถานี วงเงินลงทุน 4,230.09 ล้านบาท มีผลตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจ (EIRR) 12.9% ผลตอบแทนด้านการเงิน (FIRR) 7.1% ระยะเวลาก่อสร้าง 37 เดือน เปิดให้บริการ เดือนกันยายน 2567ประมาณการผู้โดยสาร ณ ปีที่เปิดให้บริการ 13,785 คน-เที่ยว/วัน

กระทรวงคมนาคมได้รายงานว่า ได้ส่งเอกสารแนบท้ายร่างสัญญาร่วมลงทุนฯโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯฉบับแก้ไข ให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณา ซึ่งแจ้งผลการพิจารณากลับมาว่า เอกสารแนบท้ายดังกล่าวเป็นเอกสารทางเทคนิคในสาระสำคัญ ไม่ใช่เอกสารทางกฎหมาย สำนักงานอัยการสูงสุดจึงไม่อาจตรวจพิจารณาได้ และเป็นหน้าที่ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่จะต้องตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วน ของเอกสารแนบท้ายสัญญาไม่ขัดหรือแย้งกับสัญญา ที่สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณาซึ่ง สำนักงานอัยการสูงสุดก็ไม่มีข้อขัดข้องแต่อย่างใด ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า อยู่ในอำนาจที่ครม.จะพิจารณาให้ความเห็นชอบการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนฯ ได้

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี ทางรฟม. และบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด หรือ NBM ผู้รับสัมปทาน ได้ดำเนินการเจรจาต่อรองเงื่อนไขต่างๆ เพื่อแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการ พร้อมทั้งเสนอคณะกรรมการ(บอร์ด) รฟม. และ คณะกรรมการกำกับดูแลฯ พิจารณาตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง รฟม.และ NBM ได้ลงนามสัญญาร่วมลงทุนการออกแบบและก่อสร้างงานโยธา การจัดหาระบบรถไฟฟ้า การให้บริการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงรักษา โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2560 ซึ่งสัญญา ได้ระบุไว้ว่า ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมสัญญานี้คู่สัญญาต้องเจรจาเงื่อนไขต่างๆที่จำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมใหม่ แต่ต้องไม่ทำให้รฟม.ได้รับสิทธิตามสัญญาน้อยกว่าที่ได้รับอยู่เดิม

หลังจากที่การแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนแล้วเสร็จ รฟม.จะดำเนินการจัดกรรมสิทธิ์ และการขอใช้พื้นที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งมอบให้ผู้รับสัมปทานดำเนินการก่อสร้างส่วนต่อขยายตามแผนงานต่อไป

สำหรับสาระสำคัญของการแก้ไขสัญญาประกอบด้วย 1. NBM ยอมรับ การก่อสร้าง ปรับปรุงรูปแบบสถานีศรีรัช และรับผิดชอบค่าก่อสร้างที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงงานทั้งหมด 2. NBM ยังคงชำระค่าตอบแทนให้แก่รฟม. ตามสัญญาโครงการส่วนหลัก และจะชำระผลตอบแทนเพิ่มเติมกรณีรวมโครงการส่วนหลักและส่วนต่อขยายให้แก่รฟม.โดยอ้างอิงปริมาณผู้โดยสารในสัญญาโครงการส่วนหลัก

3. NBM ยอมรับการกำหนดอัตราค่าโดยสารและการปรับอัตราค่าโดยสารของโครงการส่วนต่อขยายให้สอดคล้องตามหลักการในสัญญาโครงการส่วนหลัก 4. การดำเนินโครงการส่วนต่อขยายจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อระยะเวลาดำเนินการตามสัญญาโครงการส่วนหลัก

5. ให้รฟม.มีส่วนแบ่งผลตอบแทนจากการเชื่อมต่อกับอาคารและพื้นที่ของเมืองทองธานี NBM จะดำเนินการภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยต้องได้รับการอนุมัติเป็นลายลักษณ์อักษรจากรฟม.ก่อน และสิทธิในรายได้จากการพัฒนาเชิงพาณิชย์รวมถึงการเชื่อมต่อ เป็นไปตามสัญญาส่วนหลัก และ 6. ผู้รับสัมปทานมีหน้าที่รับผิดชอบค่าใช้จ่ายอื่นๆที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า คาดว่ารฟม.จะสามารถลงนามกับ กลุ่ม NBM ได้เร็วๆนี้ และกำชับให้ดำเนินก่อสร้างสายหลักตามแผนงานซึ่งจะเสร็จและเปิดให้บริการในเดือนต.ค. 2565 ส่วนต่อขยายจะเสร็จในปี 2566 โดยในปีแรกที่สีชมพูเปิดบริการ คาดว่าจะมีผู้โดยสาร 190,000 คนและเพิ่มเป็นกว่า 1ล้านคน/วันในปีสุดท้าย (ปีที่ 30)


กำลังโหลดความคิดเห็น