เพชรบุรี - อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เปิดโต๊ะเจรจา 5 ตัวแทนชาวกะหร่าง กรณี ยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร ขณะที่ชาวกะหร่างยื่น 7 ข้อเสนอ พร้อมยืนยันขออยู่ที่เดิม ด้านภาคีเซฟแก่งกระจานป่าของโลก ร้องพนักงานไม่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
วันนี้ (25 ก.พ.) นายจงคล้าย วรพงศธร ผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายประกิต วงศ์ศรีวัฒนกุล รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นายณัฐวุฒิ เพ็ชร์พรหมศร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี พร้อมด้วยนายพิชัย วัชรวงษ์ ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี
ตั้งโต๊ะเจรจาและรับฟังปัญหาการบุกรุกป่าจากชาวกะหร่างบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน ที่ศาลาพอละจี บ้านบางกลอย หมู่ที่ 1 ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี โดยมีนายประเสริฐ พร้อมด้วยตัวแทนชาวกะหร่างอีก 4 คน และมีนายนิรันด์ พงษ์เทศ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 บ้านบางกลอย พร้อมด้วยชาวบ้าน ร่วมเจรจา โดยมีฝ่ายปกครอง ภาคีเครือข่าย และสื่อมวลชนร่วมเป็นสักขีพยาน
นายจงคล้าย เผยว่า จากการที่คณะทำงานแก้ไขปัญหากรณีบ้านบางกลอย-ใจแผ่นดิน ที่นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ตั้งขึ้น ลงพื้นที่ทำงานหาข้อมูลข้อเท็จจริงในพื้นที่ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และเจ้าหน้าที่ได้ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ตรวจสอบพื้นที่จากทางอากาศและได้บันทึกภาพไว้ และเมื่อนำมาประเมินเบื้องต้น พบว่า มีการบุกรุกป่าบริเวณ บ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดินเพิ่มมากขึ้น ทั้งที่มีการลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อแก้ไขปัญหากรณีดังกล่าวกันแล้ว
แต่พบว่า มีพื้นที่ป่าถูกบุกรุกป่าด้วยการแผ้วถาง และเผาป่ากว่า 120 ไร่ และเห็นที่ชัดที่สุดคือ ตามซอกเขาหลายจุด จุดละประมาณ 15 ไร่เศษ จากนั้นเจ้าหน้าที่หลายฝ่ายได้เปิดยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร ระหว่างวันที่ 22-24 ก.พ. โดยเจ้าหน้าที่สนธิกำลังกว่า 80 นาย ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปลงจุดบุกรุกป่าต้นน้ำบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน พร้อมเข้าร่วมเจรจาโดยใช้หลักละมุนละม่อม ปราศจากความรุนแรง โน้มน้าวให้ชาวกะหร่างลงมาที่บริเวณบ้านบางกลอยล่าง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่รัฐจัดสรรพื้นที่ไว้ให้ชาวกะหร่างทำกิน เพื่อแก้ไขปัญหาการบุกรุกป่า
นายจงคล้าย วรพงศธร ผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ เผยว่า การเดินทางมาเจรจาในครั้งนี้ เบื้องต้นเพื่อมารับฟังปัญหาและความต้องการที่ชาวกะหร่าง ร้องขอ หากการร้องขอนั้นสามารถทำได้เลยก็จะทำ แต่สิ่งไหนที่ไม่สามารถรับปากในวันนี้ได้ก็จะนำไปรายงานให้คณะทำงานได้ประชุมหาทางแก้ไขเพื่อให้ปัญหายุติลง ขณะที่ ตัวแทนชาวกะหร่าง ได้ยื่นหนังสือข้อเจรจาให้แก่เจ้าหน้าที่โดยมีวัตถุประสงค์ 7 ข้อ คือ
1.พวกเราชาวบ้านบางกลอยขอยืนยันที่จะอยู่พื้นที่เดิมที่เคยอยู่มาก่อน 2.คนที่ไม่มีความประสงค์จะกลับขึ้นไป ขอให้ช่วยเหลือเรื่องพื้นที่ทำกิน 3.การปฏิบัติยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชรที่เจ้าหน้าที่ดำเนินการเมื่อวันที่ 22- 23 ก.พ.ที่ผ่านมา สร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้านเนื่องจากอุปกรณ์ส่องสว่างได้รับความเสียหาย
4.ขอให้เจ้าหน้าที่หยุดปฏิบัติการในช่วงนี้ จนกว่ากระทรวงทรัพยากรฯ จะส่งคณะทำงานมา 5.ขอให้เจ้าหน้าที่ และบางสื่อเสนอข่าวกล่าวหาว่าพวกเราไม่ใช่คนไทย 6.ให้มีกระบวนการพิสูจน์สิทธิทั้งภาครัฐและนักวิชาการ กรณีเรื่องการทำไร่หมุนเวียน 7.จะรอจนกว่าคณะทำงานที่ส่งมาจากกระทรวง ซึ่งอาจจะได้ข้อยุติซึ่งข้อเรียกร้องดังกล่าว นายจงคล้าย ยืนยันว่า จะนำเสนอให้คณะทำงานได้รับทราบและนำไปปฏิบัติเพื่อลดปัญหาการบุกรุกป่าต้นน้ำเพชรต่อไป
ขณะเดียวกัน ประธานองค์กรอนาคตเพชรบุรี และภาคีเซฟแก่งกระจานป่าของโลกได้เดินทางไปยื่นร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน สภ.แก่งกระจาน กล่าวหาว่าพบเห็นการกระทำความผิดอาญาโดยมีนายนอแอ๊ มีมิลูก นายคออี้ พร้อมพวกกลับขึ้นไปบุกรุกพื้นที่พิพาท ณ ปัจจุบันซึ่งเป็นพื้นที่ที่ศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาแล้วว่า เป็นพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อาจเป็นการละเมิดมาตรา 16 พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ 2504 ซึ่งถือเป็นการกระทำความผิดทางอาญา จึงได้มาร้องทุกข์กล่าวโทษให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนและดำเนินคดีต่อกลุ่มบุคคลดังกล่าวซึ่งมีทั้งตัวการและผู้สนับสนุนการกระทำความผิด โดยมีการแบ่งหน้าที่กันทำอันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562