xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มชาติพันธุ์เชียงใหม่เดินขบวน Save บางกลอย ยื่นหนังสือจี้นายกฯ ให้ความเป็นธรรม-หยุดคุกคาม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เชียงใหม่ - กลุ่มชาติพันธุ์และประชาชนเชียงใหม่ร่วม “Save บางกลอย” ตั้งแถวเดินขบวนไปศาลากลางจังหวัด ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเรียกร้องความเป็นธรรมและให้ จนท.รัฐหยุดคุกคามกะเหรี่ยงบางกลอย พร้อมเปิดทางให้กลับเข้าไปใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ตามเดิม


รายงานจากจังหวัดเชียงใหม่แจ้งว่า ช่วงบ่ายวันนี้ (25 ก.พ. 64) ที่บริเวณหน้าสวนหลวง ร.9 ถนนโชตนา ตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ประชาชนกลุ่มชาติพันธุ์กว่า 100 คนนัดรวมตัวชุมนุมกันเพื่อเดินขบวนเรียกร้องขอความเป็นธรรมและให้เจ้าหน้าที่ยุติการคุกคามประชาชนกรณีกลุ่มกะเหรี่ยงในพื้นที่บ้านบางกลอย อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ที่เจ้าหน้าที่ชุดพญาเสือและเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเข้าดำเนินการจับกุมดำเนินคดี รวมทั้งขับไล่ออกจากพื้นที่ โดยกลุ่มผู้ชุมนุมได้เดินขบวนกันไปยังศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่

ทั้งนี้ เมื่อเดินขบวนถึงศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ ทางตัวแทนกลุ่มผู้ชุมนุมได้ยื่นหนังสือเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรี โดยผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ให้เจ้าหน้าที่หยุดคุกคามชาวบ้านและนำกำลังออกจากพื้นที่ทั้งหมด รวมทั้งอนุญาตให้ชาวบ้านกลับเข้าไปใช้ชีวิตดังเดิมและขออนุญาตให้เจ้าหน้าที่จัดสรรที่ดินทำไร่หมุนเวียนให้กลุ่มกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวด้วย ซึ่งนายศรัณยู มีทองคํา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นตัวแทนรับมอบหนังสือเรียกร้องดังกล่าว และรับดำเนินการตามขั้นตอนอย่างเร่งด่วน จากนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมที่รวมตัวกันอยู่นานประมาณ 30 นาทีได้แยกย้ายกันกลับอย่างสงบ


สำหรับปัญหาพื้นที่บ้านบางกลอยนั้น ถือเป็นปมขัดแย้งระหว่างหน่วยงานรัฐกับชาวบ้านกะเหรี่ยงบางกลอย หลังจากเมื่อ พ.ศ. 2539 เจ้าหน้าที่ได้มีการขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน โดยเจ้าหน้าที่ได้มีการขึ้นไปอพยพชาวบ้านลงมา แต่ชาวบ้านไม่มีที่ดินทำกินจึงได้กลับขึ้นไปอาศัยอยู่จุดเดิม จนกระทั่งในปี 2554 เจ้าหน้าที่ได้มีการอพยพชาวบ้านและได้มีการเผาสิ่งปลูกสร้าง ยุ้งฉางเก็บข้าว จนทำให้เกิดปัญหาเรื้อรังระหว่างเจ้าหน้าที่กับชาวบ้าน

ภายหลังศาลปกครองสูงสุดชี้ว่าเป็นการใช้อำนาจเกินขอบเขตต้องจ่ายชดเชยให้ชาวบ้าน แต่อย่างไรก็ตาม ศาลชี้ว่าชาวบ้านไม่มีสิทธิอาศัยในพื้นที่นี้ แต่ชาวบ้านยังคงมีการลักลอบเข้าไปอาศัยในพื้นที่ดังกล่าว และยืนยันว่าอาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวมาก่อนรัฐจะประกาศเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในปี 2524 จากนั้นได้มีการเจรจากันมาแล้วหลายครั้งแต่ยังไม่เป็นผลสำเร็จ






กำลังโหลดความคิดเห็น