xs
xsm
sm
md
lg

BPP ลั่นกลางปีนี้ปิดดีล M&A โรงไฟฟ้าก๊าซฯ ที่สหรัฐฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บ้านปู เพาเวอร์เผยอยู่ระหว่างตรวจสอบสถานะกิจการเพื่อเข้าซื้อกิจการ หรือ M&A โรงไฟฟ้าก๊าซฯ หลายโครงการ มั่นใจครึ่งปีแรกปิดดีลได้ 2 โครงการทั้งในสหรัฐฯ และต่างประเทศ ตั้งงบลงทุนปีนี้ 200-300 ล้านเหรียญสหรัฐ

นายกิรณ ลิมปพยอม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) (BPP) เปิดเผยความคืบหน้าการเข้าซื้อกิจการ (M&A) โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติในสหรัฐฯ เพื่อต่อยอดธุรกิจให้เกิด Synergy กับบริษัทแม่ คือ บมจ.บ้านปู (BANPU) ที่ถือหุ้นในแหล่งก๊าซธรรมชาติจากชั้นหินดินดาน (Shale Gas) จำนวน  2 แหล่งในสหรัฐฯ ได้แก่ แหล่งบาร์เนตต์ (Barnett) ที่รัฐเทกซัส และแหล่งมาร์เซลลัส (Marcellus) ที่รัฐเพนซิลเวเนีย ว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการตรวจสอบวิเคราะห์สถานะของกิจการ (Due Diligence) เพื่อดำเนินการซื้อกิจการ (M&A) โรงไฟฟ้าก๊าซฯ ที่รัฐเพนซิลเวเนีย จำนวน 2 โครงการ คาดว่าจะมีความชัดเจนและปิดดีลในสหรัฐฯ ได้อย่างน้อย 1 โครงการภายในครึ่งแรกปี 2564

ทั้งนี้ บริษัทยังได้ทำ Due Diligence โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่การใช้เทคโนโลยี High Efficiency, Low Emissions (HELE) อีก 2 โครงการ ส่วนใหญ่เป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซฯ เป็นเชื้อเพลิง เนื่องจากเป็นเชื้อเพลิงสะอาด โดยเน้นการลงทุนในประเทศที่มีฐานธุรกิจเดิมอยู่ คาดว่าจะได้ข้อสรุปในครึ่งแรกปีนี้เช่นกัน


ส่วนการลงทุนหรือเข้าซื้อกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนทั้งลมและพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มเติมในปีนี้ก็อยู่ระหว่างการพิจารณาหลายโครงการ ดังนั้น โอกาสที่จะลงทุนหรือเข้าซื้อกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนในปีนี้ 100-200 เมกะวัตต์ก็มีความเป็นไปได้มาก เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายขยายกำลังผลิตจากพลังงานหมุนเวียนถึง 800 เมกะวัตต์ภายในปี 2568

ขณะเดียวกัน บริษัทสนใจลงทุนโครงการโซลาร์ฟาร์มของกองทัพบก 3 หมื่นเมกะวัตต์ เนื่องจากเป็นเป้าหมายที่บริษัทมุ่งเน้นพลังงานหมุนเวียน แต่ทั้งนี้ต้องรอดูนโยบาย เงื่อนไขกติกา รวมทั้งค่าไฟฟ้าที่ชัดเจนก่อน

ทั้งนี้ บ้านปู เพาเวอร์ตั้งงบลงทุนในปีนี้อยู่ที่ 200-300 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 6,000-9,000 ล้านบาทเพื่อใช้ลงทุน M&A โรงไฟฟ้า และการลงทุนโครงการต่อเนื่องตามแผนงานที่ได้อนุมัติไว้ โดยมีอัตราหนี้สินต่อทุนอยู่ที่ (D/E) 0.07 เท่า ทำให้บริษัทมีศักยภาพในการสร้างหนี้เพื่อลงทุนโครงการต่างๆ ได้อีกมาก


ในปีนี้บริษัทจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ที่จะจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ (COD) จากโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มที่ญี่ปุ่นจำนวน 2 โครงการ คือ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เคนเซนนุมะ (Kesennuma) และชิราคาวะ (Shirakawa) ในญี่ปุ่น กำลังผลิตรวม 30 เมกะวัตต์ และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมหวินเจา (Vinh Chau) ระยะที่ 1 ในเวียดนาม กำลังผลิต 30 เมกะวัตต์ รวมทั้งโครงการใหม่ที่ได้จาก M&A เน้นโรงไฟฟ้าที่ผลิตเชิงพาณิชย์เพื่อที่จะสร้างกระแสเงินสดให้บริษัทได้ทันที

ทั้งนี้ บ้านปู เพาเวอร์ วาง 3 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่ 1. ผนึกพลังร่วมภายในกลุ่มบ้านปู ใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางธุรกิจของบ้านปู (Banpu Ecosystem) ในการเข้าถึงเทคโนโลยี ฐานลูกค้าและคู่ค้า และแบ่งปันความเชี่ยวชาญด้านพลังงานอย่างไร้รอยต่อ เช่น การต่อยอดธุรกิจซื้อขายไฟฟ้า (Energy Trading) และธุรกิจเทคโนโลยีพลังงานในประเทศที่มีศักยภาพ 2. มุ่งแสวงหาโอกาสการลงทุนในประเทศแถบเอเชีย-แปซิฟิกที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจและมีความต้องการพลังงานไฟฟ้าสูง โดยเน้นการลงทุนในโครงการที่ดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้วที่สามารถสร้างกระแสเงินสดทันที กับการลงทุนในโครงการที่ใกล้จะแล้วเสร็จ (Brownfield) และ 3. ผลักดันการเติบโตของธุรกิจพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีพลังงานผ่านการลงทุนในบ้านปู เน็กซ์ เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจในตลาดใหม่ๆ และนำนวัตกรรมมาต่อยอดพัฒนากระบวนการผลิตไฟฟ้าของบ้านปู เพาเวอร์ต่อไป

สำหรับปี 2563 บริษัทมีผลกำไรสุทธิจำนวน 3,702 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 25 จากปีก่อนหน้า และมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จำนวน 5,230 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 จากปีก่อน เนื่องจากปี 2563 บริษัทรับรู้โรงไฟฟ้าใหม่ที่จ่ายไฟเข้าระบบเพิ่มขึ้น ทั้งโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มที่ญี่ปุ่น 2 โครงการ และการเข้าซื้อโรงไฟฟ้าพลังงานลมเอลวินหมุยยินในเวียดนามที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว และการก่อสร้างแล้วเสร็จของโรงไฟฟ้าซานซีลู่กวง (SLG) ในจีน กำลังผลิตตามสัดส่วนการลงทุน 396 เมกะวัตต์ โดยปัจจุบัน SLG อยู่ในระหว่างการทดสอบความพร้อมเพื่อเตรียมการจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ในไตรมาส 1/2564


กำลังโหลดความคิดเห็น