xs
xsm
sm
md
lg

“ส.อ.ท.” หวั่นขาดตู้คอนเทนเนอร์-บาทแข็งฉุดส่งออกปีนี้พลาดเป้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ส.อ.ท.” หวั่นส่งออกปี 2564 อาจโตไม่เป็นไปตามเป้าหมาย 3-4% ได้หากปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ลากยาวถึงสิ้นปี ลุ้นรัฐเร่งหาทางออกร่วมกัน ขณะที่ค่าเงินบาทอาจซ้ำเติมหลังเริ่มหลุด 30 บาทต่อเหรียญสหรัฐ หวั่นแข็งค่าต่อเนื่อง ลุ้น ธปท.ดูแลใกล้ชิด

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ภาพรวมการส่งออกของไทยในปี 2564 คาดว่าจะยังคงสามารถเติบโตได้เมื่อเทียบกับปี 2563 แต่จะโตได้ในระดับ 3-4% ได้หรือไม่ยังคงต้องติดตามปัจจัยเสี่ยง 2 ประเด็นใกล้ชิด คือ 1. ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งหากลากยาวจนถึงสิ้นปีจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตที่ลดลง 2. ภาวะค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มจะแข็งค่ามากขึ้น จะมีส่วนบั่นทอนขีดความสามารถการส่งออกของไทยและมูลค่าการส่งออกรูปเงินบาทที่อาจลดลง

ทั้งนี้ ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ที่ขาดแคลนเดิมคาดว่าจะคลี่คลายในไตรมาแรกของปี 2564 แต่ล่าสุดมีการประเมินว่าอาจจะลากยาวไปจนถึงสิ้นปีนี้ ขณะเดียวกัน ค่าระวางเรือได้มีการปรับเพิ่มขึ้นแล้วเฉลี่ย 3-5 เท่าตัวเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะค่าระวางเรือ 40 ฟุตเฉลี่ยปรับขึ้นเป็น 8,530 เหรียญสหรัฐจากปี 2563 ที่ 2,483 ล้านเหรียญ หรือมีส่วนต่างเพิ่มขึ้น 6,096 เหรียญ เป็นต้น ซึ่งปัญหานี้จะทำให้การส่งออกไทยจะลดลงไม่น้อยกว่า 5,159 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.5 แสนล้านบาท หรือส่งออกหดตัวลง 2-2.2%

“แม้ว่าการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของหลายประเทศทั่วโลกเริ่มแล้วซึ่งจะมีส่วนสำคัญทำให้เศรษฐกิจโลกจะค่อยๆ ฟื้นตัวซึ่งจะเป็นผลดีต่อการส่งออกไทยในช่วงครึ่งปีหลัง แต่กรณีปัญหาการขาดตู้คอนเทนเนอร์ที่บางส่วนมองว่าจะข้ามปีไปจนถึงต้นปี 2565 จะเป็นแรงกดดันให้การส่งออกไทยชะลอตัวลงจากที่คาดหมายไว้เช่นกัน จึงเป็นประเด็นที่ขณะนี้รัฐและเอกชนกำลังทำงานใกล้ชิดโดยเฉพาะกับกระทรวงพาณิชย์ในการแก้ไขปัญหานี้อยู่ซึ่งยอมรับว่าขณะนี้ปัญหายังคงรุนแรง ซึ่งคู่แข่งเองก็เดือดร้อนเช่นกันไม่ต่างจากเรา” นายเกรียงไกรกล่าว

นอกจากนี้ สิ่งที่ยังคงกังวลคือปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งค่ามาเฉลี่ย 29.98-30 บาทต่อเหรียญสหรัฐ หลายฝ่ายประเมินว่าแนวโน้มเงินดอลลาร์สหรัฐจะอ่อนค่าลงอีกซึ่งจะส่งผลต่อค่าเงินบาทของไทยให้แข็งค่าต่อเนื่อง โดยเรื่องนี้ ส.อ.ท.ได้หารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ขอให้ดูแลไม่ให้ค่าเงินบาทแข็งค่าไปกว่าประเทศคู่แข่งเพราะจะยิ่งส่งผลกระทบให้การส่งออกไทยชะลอตัวได้อีก

“ค่าเงินบาทที่เอกชนอยากเห็นคือ 31-32 บาทต่อเหรียญสหรัฐ แต่เข้าใจว่าเป็นไปได้ยากจึงคาดหวังว่าจะไม่หลุดไปแตะ 29 บาทต่อเหรียญสหรัฐในเวลาอันรวดเร็วเกินไป หากแข็งค่าเร็วจะกระทบส่งออกมากยิ่งขึ้น” นายเกรียงไกรกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น