ส.อ.ท.เกาะติดสถานการณ์โลกยังคงขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และเซมิคอนดักเตอร์ หวั่นกระทบการส่งออกไทย เร่งผลักดันเพิ่มช่องทางการส่งออกแบบไม่ต้องพึ่งตู้คอนเทนเนอร์เป็นทางเลือกช่วงขาดแคลน กลุ่มยานยนต์เร่งสต๊อกเซมิคอนดักเตอร์ กลุ่มไฟฟ้าฯ กังวลตู้คอนเทนเนอร์ขาดทำต้นทุนพุ่ง
นายศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร รองประธานสายงานเศรษฐกิจและวิชาการ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท.ได้ติดตามสถานการณ์การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และเซมิคอนดักเตอร์อย่างใกล้ชิด เพราะขณะนี้ยังคงเป็นปัญหาที่อุตสาหกรรมทั่วโลกและไทยกำลังได้รับผลกระทบทั้งในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะในระดับของชิ้นส่วนและอะไหล่ฯ ซึ่งหากยืดเยื้ออาจจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยได้ ดังนั้น ล่าสุด ส.อ.ท.จึงได้หารือร่วมกับภาครัฐที่จะศึกษาเพิ่มช่องทางการส่งออกแบบไม่ต้องใช้ตู้คอนเทนเนอร์ เช่น เรือสินค้าเทกองหรือ Bulk cargo หรือเรือแบบดั้งเดิม (Conventional type) เพื่อเป็นทางเลือกเมื่อตู้สินค้าขาดแคลน
“ก่อนหน้านี้เอกชนได้เสนอรัฐให้แก้ตู้สินค้าขาดโดยให้มีการผ่อนคลายกฎระเบียบ เช่น การแก้กฎกระทรวงเรื่องการอนุญาตให้เรือสินค้าขนาด 400 เมตรสามารถเข้าเทียบท่า จากเดิมที่อนุญาตเรือ 300 เมตร และไทยมีพื้นที่ในเรือเพื่อการขนส่งเพิ่มขึ้น จากเดิมที่จำกัดอยู่ประมาณ 9,000 ตู้ เพิ่มเป็น 25,000 ตู้ เป็นต้น” นายศุภรัตน์กล่าว
ส่วนกรณีของการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งถือเป็นชิ้นส่วนสำคัญในการผลิตอุปกรณ์ต่างๆ ในโลกปัจจุบัน เช่น สมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ และยานยนต์ โดยเฉพาะยานยนต์ไฟฟ้าที่ต้องใช้เซมิคอนดักเตอร์จำนวนมาก ทางกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ในไทยได้เร่งเพิ่มสต๊อกสินค้าเอาไว้ใช้ในการผลิตจากทางกลุ่มผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่มีอยู่เพียงไม่กี่รายในโลก เช่น ที่ไต้หวัน ญี่ปุ่น จีน และอเมริกา อย่างไรก็ตาม เซมิคอนดักเตอร์ที่กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ใช้นั้นคนละประเภทกับทางกลุ่มไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ แต่ทั้งสองก็ผลิตจากแหล่งเดียวกัน ดังนั้น เซมิคอนดักเตอร์ขณะนี้จึงถือว่าอยู่ในภาวะตึงตัว ดังนั้น เมื่อเร็วๆ นี้กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ได้ประชุมเพื่อประเมินสถานการณ์เพื่อหาทางออกต่อไป
นางกนิษฐ์ เมืองกระจ่าง รองประธานและประธานกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม ส.อ.ท. กล่าวว่า มีแนวโน้มที่อุตสาหกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ฯ ปี 2564 จะสามารถเติบโตได้ประมาณ 5-10% จากปี 2563 โดยเฉพาะจากการส่งออกที่มีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวจากการที่หลายประเทศได้เริ่มมีการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่จะทำให้ทิศทางเศรษฐกิจโลกทยอยปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับมีโรงงานในไทยที่ก่อสร้างเสร็จและเริ่มเปิดการผลิตใหม่ที่จะทำการส่งออกมากขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องติดตามใกล้ชิดคือการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่ขณะนี้ยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญเนื่องจากจีนมีการส่งสินค้าล่วงหน้ารับตรุษจีนก่อนหยุดยาวแต่หลังจากนี้น่าจะคลี่คลายลง แต่ภาพรวมก็ทำให้การส่งออกไทยมีต้นทุนเพิ่มขึ้นจากค่าบริการที่ต้องจ่ายแพงกว่าเดิมถึง 3 เท่าตัว โดยผู้ส่งออกรายใหญ่พอที่จะจ่ายเพิ่มได้แต่รายกลางและเล็กจะลำบาก ซึ่งมองว่าปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์คงจะไม่ลาวยาวไปถึงสิ้นปี
ส่วนกรณีของการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ยอมรับว่ามีบางชิ้นส่วนที่กระทบต่ออุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ฯ ที่ปัจจุบันเป็นระบบ IoT หรือ Internet of Things มากขึ้นขณะนี้ยังไม่ได้กระทบมากนักมีเพียงบางส่วนที่เลื่อนส่งมอบ เช่น จาก 4 เดือนขยายเป็น 6 เดือน และผู้ผลิตก็ได้เร่งการผลิตมากขึ้นแล้ว มองว่าการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์กระทบมากกว่าเพราะกระทบทั้งการส่งออกและนำเข้าชิ้นส่วนบางส่วนด้วย