ศูนย์ข่าวศรีราชา - ผอ.ทลฉ.เผยมาตรการเข้มในการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ในพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง พร้อมตั้งรับผลกระทบที่เกิดขึ้น ทั้งเรื่องของผลประกอบการ และจำนวนตู้สินค้าเปล่าที่หายไปจากระบบ
ร.ต.ต.มนตรี ฤกษ์จำเนียร ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง กล่าวถึงผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดระลอกใหม่ ว่า สถานการณ์ดังกล่าวเริ่มมีปัญหาตั้งแต่ต้นปี 2562 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ส่งผลกระทบในหลายด้าน ทั้งด้านผลประกอบการ โดยสถิติในปี พ.ศ.2562 ยอดตู้ประมาณ 8 ล้าน 7 หมื่นตู้ แต่ในปี พ.ศ.2563 ประมาณ 7.6 ล้าน TEU โดยทำให้ยอดตู้หายไปประมาณ 4 แสนตู้ หรือประมาณ 5%
โดยจำนวนตู้ที่หายไปนั้นเกิด 2 ปัจจัยหลัก คือ เรื่องตู้เปล่าที่สั่งเข้ามาในประเทศหายไปกว่า 2แสน TEU โดยตู้ที่มีสินค้าที่เข้ามาในประเทศ แต่เมื่อเปิดตู้ดูพบว่าเป็นตู้เปล่า ซึ่งจะหายไปประมาณ 2 แสนกว่า TEU เช่นกัน รวมแล้วหายไปจำนวน 489,000 TEU โดยท่าเรือจะต้องติดตามปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสาเหตุที่ตู้หายไปนั้น เบื้องต้นเกิดจากประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องกับการป้องกันโรคไวรัสโควิด-19 เช่น หน้ากาก เจล ถุงมือยาง ถุงมือแพทย์ต่างๆ
เมื่อผลิตแล้วจะส่งไปยังประเทศปลายทาง แต่ละประเทศนั้นก็มีปัญหาไวรัสโควิด-19 เช่นกัน ซึ่งเมื่อส่งไปแล้วสินค้าดังกล่าวนำออกไปจำหน่ายได้ช้า แต่มีออเดอร์สั่งเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ตู้สินค้าไปกองที่ประเทศปลายทาง นอกจากนั้น บริษัทต่างๆ ก็ทำงานไม่เต็มที่ ทำให้การลำเลียงตู้สินค้ากลับมาช้า และหมุนเวียนตู้สินค้าไม่ทัน แต่ต้นทางยังต้องส่งสินค้าไปจำหน่ายต่อเนื่อง เพราะความต้องการยังสูง
ร.ต.ต.มนตรี กล่าวอีกว่า ปัญหาดังกล่าวเมื่อสะสมนานหลายเดือน ทำให้ยอดตู้ไม่มีการหมุนเวียน จึงทำให้ตู้สินค้าในระบบน้อยลง ทำให้การขนส่งแพงขึ้นตามกลไกตลาด ขณะนี้ท่าเรือแหลมฉบัง ได้มีการประสานงานกับสายการเดินเรือแต่ยังล่าช้า เนื่องจากการสถานการณ์โควิด-19 จึงยังไม่สามารถเจรจาได้เต็มที่ทำให้เกิดปัญหาดังกล่าว ล่าสุด ภาครัฐกำลังเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหา ซึ่งขณะนี้กระทรวงคมนาคมมีนโยบายให้ลดอัตราค่าภาระตู้เปล่าที่นำเข้ามาประมาณตู้ละ 1,000 บาท
สำหรับมาตรการป้องกันไวรัสโควิด-19 ในท่าเรือแหลมฉบังนั้น ได้มีการเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด คือ ลูกเรือที่จะเข้ามาต้องมีการตรวจวัดอุณหภูมิทุกคน ทุกวัน ห้ามเกิน 37.3 องศา ก่อนที่จะเข้าท่า ส่วนเรือสินค้าที่ไม่ได้แจ้ง และเข้ามาเทียบท่า หากพบจะต้องหยุดขนถ่ายสินค้าและต้องถูกกักตัวทันที พร้อมดำเนินการตามมาตรการเฝ้าระวังและป้องกัน ส่วนกรณีเรือสินค้าจอดขนถ่ายสินค้าอยู่ที่บริเวณท่าเรือ หากตรวจพบจะต้องเคลื่อนย้ายคนในเรือ และตรวจคัดกรองตามขั้นตอน พร้อมรายงานให้ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีทราบ
สำหรับพนักงานของท่าเรือแหลมฉบังและผู้ประกอบการที่ใช้บริการในท่าเรือนั้น โดยทางท่าเรือมีการติดตั้งแอปไทยชนะ ในทุกอาคาร นอกจากนั้น ยังขอความร่วมมือพนักงานทุกคนติดตั้งแอปหมอชนะ เพื่อจะได้ทราบการเคลื่อนไหวในแต่ละวัน พร้อมปฏิบัติตามข้อกำหนดของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดอย่างเคร่งครัด