“สุพัฒนพงษ์” ลั่นปีนี้ต้องปฏิบัติการเชิงรุกทุกฝ่าย พร้อมร่วมมือดึงการลงทุนหลังกระแสโลกเคลื่อนย้ายการลงทุนมายังภูมิภาคนี้ และไทยเป็นหนึ่งเป้าหมายสำคัญ ปักหมุดลงทุนในอีอีซีปี 2564 ให้ถึงเป้า 3 แสนล้านบาทหลังปี 2563 ลงทุนในอีอีซีแตะ 2.08 แสนล้านบาทชูอุตสาหกรรมเป้าหมาย
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ครั้งที่ 1/2564 โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า ที่ประชุมได้รับทราบภาพรวมการขอรับส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ได้แก่ จ.ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา รอบปี 2563 (ม.ค.-ธ.ค. 2563) ที่ผ่านมามีทั้งสิ้น 453 โครงการ มูลค่าลงทุนสูงถึง 2.08 แสนล้านบาท คิดเป็น 43% ของมูลค่าการขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งประเทศ และมีเป้าหมายปี 2564 ที่จะผลักดันให้เกิดการลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศรวมมูลค่า 3 แสนล้านบาทในอุตสาหกรรมเป้าหมาย
“เรายังเชื่อมั่นว่าการลงทุนจะเป็นไปตามเป้าหมาย และนี่คือภารกิจสำคัญที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันในการส่งเสริมให้เกิดขึ้นและเป็นการปฏิบัติการเชิงรุก แม้ว่าการลงทุนปี 2563 เมื่อเทียบกับปี 2562 อาจจะน้อยกว่าเพราะผลกระทบโควิด-19 แต่หากตัดโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินไปก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี เชื่อว่าทิศทางการเคลื่อนย้ายการลงทุนมายังภูมิภาคนี้ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่นักลงทุนให้ความสนใจ และเมื่อเร็วๆ นี้ได้มีโอกาสพบปะกับ 23 บริษัทขนาดใหญ่ในไทย เขาก็ยินดีที่จะร่วมลงทุนกับนักธุรกิจที่ยังไม่มีประสบการณ์มาลงทุนในไทย” นายสุพัฒนพงษ์กล่าว
ทั้งนี้ อีอีซีถือมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานรองรับไว้ชัดเจน เหลือเพียงท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ที่จะมีข้อสรุปในไม่ช้านี้ สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงที่ประชุม กบอ.รับทราบความคืบหน้า เป็นไปตามแผนคณะทำงานเร่งรัดฯ และมีความคืบหน้าต่อเนื่องเป็นลำดับ โดยการรื้อย้ายสาธารณูปโภคเพื่อเปิดพื้นที่ก่อสร้าง พร้อมสามารถส่งมอบพื้นที่ส่วนใหญ่ได้ภายในเดือนมีนาคม 2564 และการส่งมอบพื้นที่เวนคืน อยู่ในขั้นตอนการทำสัญญาซื้อขายโดย รฟท.ซึ่งจะส่งมอบพื้นที่อย่างช้าภายในเดือนกันยายน 2564
นอกจากนี้ กบอ.ยังรับทราบความก้าวหน้าโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (EFC) ช่วยเกษตรกรรายได้มั่นคง ผลไม้ไทยแข่งขันได้ทั่วโลกในพื้นที่อีอีซี ที่ทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเขตพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)ได้ลงนามร่วมกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และ บมจ.ปตท. ที่จะพัฒนาห้องเย็นเทคโนโลยี Blast freezer โดย ปตท.จะจัดหาแอลเอ็นจีที่จะแยกเป็นไนโตรเจนมาทำความเย็นเพื่อรักษาคุณภาพผลไม้ และต่อยอดไปยังอาหารทะเล และ กนอ.จัดหาพื้นที่สนับสนุนที่เริ่มต้นจะมีขนาด 4,000 ตัน คาดว่าจะเปิดดำเนินการระยะแรกภายใน 12 เดือน
นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า ที่ประชุมรับทราบถึงการร่วมมือพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) แหลมฉบัง ก้าวสู่ศูนย์กลางขนส่งสินค้านานาชาติที่ได้มีการ MOU ระหว่างการท่าเรือฯ กับบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ร่วมกันศึกษาแนวทางการลงทุน รูปแบบการให้บริการขนส่ง กำหนดแผนงานที่เหมาะสมการพัฒนาท่าเรือบก ในเขตพื้นที่ Amata Smart & Eco City ใน สปป.ลาว ไปยังท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อเชื่อมต่อระบบขนส่งและโลจิสติกส์ของไทยให้เป็นโครงข่ายการขนส่งสินค้า เปิดประตูการค้าให้ สปป.ลาว ที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล และสนับสนุนโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 โดยพัฒนาท่าเรือบกให้เป็นโครงข่ายเชื่อมโยงขนส่งสินค้า จากประเทศจีน สปป.ลาว และประเทศไทย ขับเคลื่อนท่าเรือแหลมฉบังก้าวสู่ศูนย์กลางการค้า การบริการ และการลงทุนโดยเฉพาะด้านระบบโลจิสติกส์ที่จะเชื่อมโยงกับนานาชาติ โดยความร่วมมือศึกษาการพัฒนาท่าเรือบกจะแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม 2564 นี้