xs
xsm
sm
md
lg

“ศักดิ์สยาม” สั่งเร่งผุด “มอเตอร์เวย์คู่รถไฟ” 9 เส้นทาง-ปี 64 นำร่อง “ชุมพร-ระนอง” และ “แหลมฉบัง-โคราช”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
“ศักดิ์สยาม” สั่งเร่งผุด “มอเตอร์เวย์คู่รถไฟ” 9 เส้นทาง ลุยศึกษาแผนแม่บท MR-Map โครงข่ายเหนือ-ใต้, ออก-ตก ครอบคลุมทุกภูมิภาค เชื่อมพื้นที่เศรษฐกิจ และชายแดน ตั้งเป้าลดเวนคืน ลั่นปี 64 นำร่อง ชุมพร-ระนอง, แหลมฉบัง-โคราช

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุมติดตามผลการดำเนินงานการพัฒนาโครงข่าย MR-MAP ว่า คณะทำงานการบูรณาการพัฒนาโครงข่ายทางรถไฟร่วมกับทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองที่กระทรวงคมนาคมแต่งตั้ง โดยมีรองปลัดกระทรวงคมนาคมด้านโครงสร้างพื้นฐานเป็นประธาน ได้สรุปผลการประชุมที่สำคัญ ได้แก่ ระเบียงเส้นทาง MR-Map จำนวน 9 เส้นทาง แบ่งเป็นแนวเหนือใต้ (N-S) จำนวน 3 เส้นทาง ระยะทางรวม 2,620 กม. ได้แก่ 1. เชียงราย-สงขลา ระยะทาง 1,660 กม. 2. หนองคาย-แหลมฉบัง ระยะทาง 490 กม. 3. บึงกาฬ-สุรินทร์ ระยะทาง 470 กม.

แนวตะวันออก-ตะวันตก (E-W) จำนวน 6 เส้นทาง ระยะทางรวม 2,380 กม. ได้แก่ 1. ตาก-นครพนม ระยะทาง 710 กม. 2. กาญจนบุรี-อุบลราชธานี ระยะทาง 830 กม. 3. กาญจนบุรี-สระแก้ว ระยะทาง 310 กม. 4. กาญจนบุรี-ตราด ระยะทาง 220 กม. 5. ชุมพร-ระนอง ระยะทาง 120 กม. 6. ภูเก็ต-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 190 กม.

นอกจากนี้ คณะทำงานได้มอบหมายให้กรมทางหลวง (ทล.) เป็นผู้ทำหน้าที่ในการจ้างศึกษาจัดทำแผนยุทธศาสตร์การลงทุนพัฒนาโครงข่าย MR-Map โดยกำหนดกรอบระยะเวลาดำเนินการศึกษาให้แล้วเสร็จภายในปี 2564 และออกแบบโครงการนำร่อง (Pilot Project) จำนวน 3 เส้นทาง จากนั้นให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ ได้แก่ กรมทางหลวง และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) วางแผนงานเพื่อเริ่มทำการเวนคืน และเริ่มก่อสร้างในปี 2565-2566

ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้กรมทางหลวงดำเนินการศึกษาเพิ่มเติมให้ครอบคลุมทั้ง 9 เส้นทาง และสามารถดำเนินการให้ถึงขั้นตอนการให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) รวมทั้งจัดลำดับความสำคัญ ตลอดจนกำหนดกรอบการดำเนินงานโครงการ และแผนปฏิบัติการ (Action Pan) แต่ละเส้นทางให้ชัดเจน และได้เน้นย้ำให้ความสำคัญต่อการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน ทั้งนี้ ให้มีการบูรณาการแผน เร่งรัดดำเนินการให้แล้วเสร็จ รวมทั้งศึกษาและรวบรวมข้อกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างถูกต้องตามหลักธรรมาภิบาล

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 8 ม.ค. 2564 ทล.ได้ลงนามสัญญาจ้างที่ปรึกษาจัดทำแผนแม่บท MR-Map ระยะเวลาศึกษา 8 เดือน หรือสิ้นสุดในเดือน ก.ย. 2564 โดยวัตถุประสงค์ศึกษาความเหมาะสมและจัดทำแผนบูรณาการโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองกับระบบราง ได้แก่ รถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ รถไฟสายใหม่ เพื่อลดผลกระทบการเวนคืนและการแบ่งแยกพื้นที่ของประชาชน พร้อมดำเนินการศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้น (Pre-feasibility study) ของเส้นทางนำร่อง 3 เส้นทาง

ทั้งนี้ กรอบแนวคิดในการศึกษาพัฒนาโครงข่ายมอเตอร์เวย์ร่วมกับโครงข่ายทางรถไฟ จะมีทั้งที่มีแนวเขตทางถนนและเขตทางรถไฟอยู่แล้วในปัจจุบัน และการพัฒนาเส้นทางใหม่ การปรับเส้นทางมอเตอร์เวย์เข้าหาทางรถไฟที่มีอยู่หรือปรับเส้นทางรถไฟเข้าหามอเตอร์เวย์ หรือกรณีเป็นเส้นทางใหม่ทั้งคู่จะบูรณาการออกแบบและเวนคืนไปพร้อมกัน ซึ่งจะทำให้เกิดประสิทธิภาพ ประหยัดงบประมาณ ใช้เขตทางร่วมกันเพื่อลดพื้นที่การเวนคืน และลดปัญหาการแบ่งแยกชุมชน

โดยประมาณกลางเดือน ก.พ.จะทำการคัดเลือก 3 เส้นทางนำร่องที่มีความเหมาะสม โดยจะมีการศึกษาความหมาะสมโครงการ และการออกแบบเบื้องต้นเสร็จในเดือน ก.ค. และสรุปแผนแม่บท MR-Map ในเดือน ก.ย. 2564 พร้อมรับฟังความคิดเห็นทุกภาคส่วน ก่อนการสรุปผลการศึกษาช่วงปลายปี 2564

ทั้งนี้ ที่ปรึกษาจะคัดเลือก 3 เส้นทางนำร่องจากเบื้องต้น 4 เส้นทาง ได้แก่ ชุมพร-ระนอง ซึ่งจะรองรับพัฒนาแลนด์บริดจ์และระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC) รฟท.ได้ออกแบบเบื้องต้นแล้ว, เส้นทางแหลมฉบัง-นครราชสีมา ระยะทาง 280 กม. รองรับพื้นที่ EEC และเชื่อมโยงพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งกรมทางหลวงได้ออกแบบแนวมอเตอร์เวย์ไว้แล้ว สามารถออกแบบรถไฟแนวใหม่เกาะไปตามแนวมอเตอร์เวย์โดยใช้เขตทางร่วมกัน

เส้นทางนครราชสีมา-อุบลราชธานี เชื่อมโยงอีสานตอนใต้ ระยะทาง 310 กม. เชื่อมต่อมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา พัฒนาไปตามแนวเส้นทางรถไฟที่มีอยู่เดิม, เส้นทางนครราชสีมา-ขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 360 กม. จะมีการบูรณาการของ 3 โครงการ ทั้งมอเตอร์เวย์เข้ากับรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูง เส้นทางนครราชสีมา-หนองคาย




กำลังโหลดความคิดเห็น