xs
xsm
sm
md
lg

โควิด-19 ระลอกใหม่ฉุดดัชนีเชื่อมั่นอุตฯประเดิม ม.ค.64 ดิ่งสุดรอบ 6 เดือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ส.อ.ท.เผยดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน ม.ค. 64 อยู่ระดับ 83.5 ลดลงจาก ธ.ค. 63 และลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และต่ำสุดในรอบ 6 เดือนจากการระบาดของโควิด-19ระลอกใหม่เสนอภาครัฐ 6 แนวทางรับมือทั้งเร่งจัดหาวัคซีนโควิด-19 ดูแลค่าเงินบาท เร่งแก้ตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน ปัดฝุ่นช้อปดีมีคืน

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
เปิดเผยผลสำรวจความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนมกราคม 2564 อยู่ที่ระดับ 83.5 ลดลงจาก 85.8 ในเดือนธันวาคม 2563 ซึ่งนับเป็นค่าดัชนีฯที่ปรับลดลงต่อเนื่องเดือนที่ 2 และเป็นค่าดัชนีที่ต่ำสุดในรอบ 6 เดือนนับตั้งแต่สิงหาคม 2563 โดยมีปัจจัยลบมาจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่นับตั้งแต่ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมาที่ทำให้มีผู้ติดเชื้อในประเทศเพิ่มขึ้นมากกว่าระลอกแรก ทำให้รัฐกำหนดพื้นที่ควบคุมทำให้อุปสงค์ในประเทศชะลอตัว ขณะที่การส่งออกยังประสบปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และค่าเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่อง

“ค่าดัชนีฯหากเทียบกับการระบาดโควิด-19 รอบแรกเมษายน 2563 ซึ่งลดลงอยู่ที่ 75.9 ก็ยังคงสูงกว่ารอบสองเนื่องจากภาคการผลิตไม่ได้หยุดชะงัก และยังมีปัจจัยบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐและมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19” นายสุพันธุ์ กล่าว

สำหรับดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 91.1 จากระดับ 92.7 ในเดือนธันวาคม 2563 เนื่องจากผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อโควิด-19 ระลอกใหม่ที่ยังไม่คลี่คลาย ขณะที่ภาครัฐยังไม่มีวัคซีนโควิด-19 ฉีดให้กับประชาชน ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ตลอดจนการค้าและการลงทุนไทยยังมีความไม่แน่นอน


นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า 1. ผู้ประกอบการได้มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ได้แก่ เร่งแก้ไขปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์เพื่อช่วยเหลือผู้ส่งออก 2. เร่งรัดการจัดซื้อและการแจกจ่ายวัคซีนโควิด-19 ของไทยให้ได้ตามกำหนดเวลาและปริมาณที่พอเพียงเพื่อให้ประชาชนและภาคธุรกิจสามารถดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้อย่างปกติ 3. เร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติและประเทศคู่ค้าเกี่ยวกับมาตรการควบคุมโควิด-19

4. ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดูแลค่าเงินบาทให้อยู่ในทิศทางเดียวกับประเทศในภูมิภาค เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันด้านราคา 5. ขอให้รัฐมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยเฉพาะมาตรการเสริมสภาพคล่อง จัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (Soft loan) อย่างเป็นรูปธรรมเพราะขณะนี้มีการปล่อยเงินกู้ซอฟต์โลนเพียง 1.22 แสนล้านบาท จากวงเงิน 5 แสนล้านบาท และ 6. ขอให้รัฐพิจารณาการนำโครงการช้อปดีมีคืนกลับมาใช้ในปี 2564 เพื่อกระตุ้นการบริโภคของประชาชนในกลุ่มที่ต้องเสียภาษี โดยคืนภาษีจากเดิมสูงสุด 3 หมื่นบาท เป็น 5 หมื่นบาท เพื่อนำมาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2564
กำลังโหลดความคิดเห็น