กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 29.85-30.10 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดอ่อนค่าที่ 29.97 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับยูโรและเยน ซึ่งได้รับแรงหนุนจากตัวเลขเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งเกินคาด ทางด้านธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เปิดเผยรายงานการประชุมโดยบ่งชี้ว่า ผู้เข้าร่วมการประชุมให้คำมั่นถึงการดำเนินนโยบายแบบผ่อนคลายต่อไปเพื่อช่วยสนับสนุนการจ้างงาน ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ แตะระดับสูงสุดในรอบ 1 ปีจากการคาดการณ์เงินเฟ้อที่สูงขึ้นและการกู้เงินภาครัฐ ส่วนอากาศที่หนาวจัดในสหรัฐฯ อาจส่งผลให้การกระจายวัคซีนล่าช้าบ้างในระยะสั้น
ส่วนเงินปอนด์แตะระดับแข็งค่าสุดในรอบเกือบ 3 ปีท่ามกลางความหวังเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และโอกาสน้อยลงที่ธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) จะใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบ ทั้งนี้ สัปดาห์ที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทย มูลค่า 2,500 ล้านบาท และ 5,400 ล้านบาท ตามลำดับ
ทั้งนี้ มองว่านักลงทุนจะให้ความสนใจกับการแถลงนโยบายต่อสภาของประธานเฟดวันที่ 23 กุมภาพันธ์ โดยคาดว่าจะมีการเน้นย้ำว่าแม้เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นตามแรงส่งทางด้านการเงินและการคลัง รวมถึงความคืบหน้าของการกระจายวัคซีน แต่สถานการณ์ยังคงห่างไกลสำหรับการเริ่มถอนนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย ขณะที่ตลาดจะรอฟังความเห็นของประธานเฟดเกี่ยวกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงนี้เช่นกัน เราประเมินว่าหากสัญญาณการตรึงนโยบายยังคงชัดเจนและต่อเนื่อง ขาขึ้นของค่าเงินดอลลาร์จะถูกจำกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่อัตราผลตอบแทนสูงขึ้นแต่ราคาสินทรัพย์เสี่ยงในภาพรวมไม่ได้ปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
สำหรับปัจจัยในประเทศ ตลาดจะติดตามข้อมูลการค้าเดือนมกราคมจากกระทรวงพาณิชย์ โดยคาดว่ายอดส่งออกไม่รวมทองคำจะขยายตัวต่อเนื่องสอดคล้องกับวัฏจักรการค้าโลก ทางด้านธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ โดยระบุว่า ผลกระทบของการแพร่ระบาดระลอกใหม่ฉุดรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการฟื้นตัวไม่ทั่วถึงยิ่งขึ้นซึ่งสร้างความเปราะบางให้แก่ตลาดแรงงาน ขณะที่ความไม่แน่นอนสูงและความเสี่ยงด้านขาลงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดย กนง.เห็นว่าควรเตรียมมาตรการทางการเงินและการคลังที่สอดคล้องกับแนวโน้มและความเสี่ยง