xs
xsm
sm
md
lg

ปี 63 ต่างชาติลงทุนไทย 252 ราย นำเงินเข้าหมื่นล้าน จ้างงาน 1.1 หมื่นคน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“พาณิชย์” เผยปี 63 ต่างชาติลงทุนในไทยภายใต้ พ.ร.บ.ต่างด้าวฯ รวม 252 ราย เพิ่ม 16.31% ญี่ปุ่นแชมป์ มีการนำเงินเข้ามาลงทุนกว่า 1 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่ทำธุรกิจให้บริการแก่บริษัทในเครือในกลุ่ม นายหน้าค้าปลีกค้าส่ง และบริการด้านคอมพิวเตอร์ ขุดเจาะปิโตรเลียม และการเงิน มีการจ้างแรงงานคนไทย 10,991 คน เพิ่ม 127% คาดปี 64 ธุรกิจดิจิทัล ธุรกิจเกี่ยวเนื่องอีคอมเมิร์ซ จะมีการลงทุนเพิ่มอีก
นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปี 2563 ที่ผ่านมาไทยมีนักลงทุนชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศภายใต้ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 (พ.ร.บ.ต่างด้าวฯ) จำนวนทั้งสิ้น 252 ราย เพิ่มจากปี 2562 ที่มีจำนวน 217 ราย หรือเพิ่มขึ้น 16.13% โดยญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนสูงสุดจำนวน 92 ราย คิดเป็น 36% รองลงมาคือ สิงคโปร์ จำนวน 38 ราย คิดเป็น 15% อันดับ 3 เนเธอร์แลนด์ และฮ่องกง มีนักลงทุนเข้ามาลงทุนจำนวนเท่ากัน 17 ราย คิดเป็น 17% อันดับที่ 4 เกาหลีใต้ จำนวน 10 ราย คิดเป็น 4% และอื่นๆ จำนวน 78 ราย คิดเป็น 31%

ประเภทธุรกิจที่นักลงทุนชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนมากที่สุด คือ ธุรกิจบริการให้แก่บริษัทในเครือในกลุ่ม เช่น บริการทางบัญชี บริการให้เช่าพื้นที่และสาธารณูปโภค รับจ้างผลิตสินค้า มีจำนวนเงินลงทุนทั้งสิ้น 4,279 ล้านบาท คิดเป็น 40% รองลงมาคือ ธุรกิจนายหน้า ค้าปลีก ค้าส่ง เช่น นายหน้าประกันชีวิตประกันวินาศภัย ค้าปลีกเครื่องจักร เครื่องกล อะไหล่ และอุปกรณ์สำหรับใช้ในอุตสาหกรรม ค้าส่งเคมีภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เงินลงทุน 994 ล้านบาท คิดเป็น 19% อันดับ 3 ธุรกิจบริการอื่น เช่น บริการด้านคอมพิวเตอร์ บริการขุดเจาะปิโตรเลียม บริการให้คำปรึกษาแนะนำ บริการทางการเงิน เงินลงทุน 456 ล้านบาท คิดเป็น 14% และหากรวมธุรกิจอื่นๆ ทั้งปี 2563 มีการนำเงินเข้ามาลงทุนรวมกว่า 10,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ การเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในไทยของนักลงทุนชาวต่างชาติทำให้เกิดการจ้างงานคนไทยกว่า 10,991 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่มีการจ้างงาน 4,829 คน หรือเพิ่มขึ้น 127% และยังมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศผู้เข้ามาลงทุนให้ด้วย

สำหรับปัจจัยที่สนับสนุนการลงทุนของต่างชาติมาจากนโยบายการส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ที่ออกมาต่อเนื่อง และยังมีมาตรการจูงใจเป็นพิเศษสำหรับการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) หรือการลงทุนในธุรกิจอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve และ New S-Curve รวมทั้งรัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การรับมือโควิด-19 ทำให้ต่างชาติมีความเชื่อมั่นที่จะเข้ามาลงทุน

ส่วนปี 2564 มั่นใจว่าชาวต่างชาติจะมีการเข้ามาลงทุนต่อเนื่อง โดยธุรกิจที่คาดว่าจะเติบโตส่วนใหญ่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภคในยุค New Normal โดยเฉพาะธุรกิจด้านดิจิทัล, e-Commerce และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องในระบบ supply chain เช่น ธุรกิจบริหารจัดการคลังสินค้า ธุรกิจพัฒนาเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน ธุรกิจบริการสั่งสินค้าออนไลน์ ธุรกิจบริการรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น