xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มคนม.33เฮ! รัฐทุ่ม4หมื่นล.เยียวยา-เร่งดึงทุนนอกกระตุ้นศก.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ผู้จัดการรายวัน360- "บิ๊กตู่" เรียกถกทีมเศรษฐกิจหารือ หารือแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ การลงทุน "สุพัฒนพงษ์" รับปี 64 ยังต้องประคองตัว "บีโอไอ–อีอีซี" ตั้งเป้ากระตุ้นการลงทุน 4 แสนล้าน พร้อมเตรียมปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้อนักลงทุนต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจในไทย ดึง "ชโยทิต กฤดากร" หัวหน้าทีมปฏิบัติการเชิงรุก ทาบทามนักลงทุน ขณะที่รัฐทุ่มงบ 4 หมื่นล้านบาท เยียวยาผู้ประกันตน โครงการ "ม.33เรารักกัน" กว่า 9 ล้านคน ยกเว้นผู้มีเงินฝากเกิน 5 แสนบาท ยึดแนว "เราชนะ" ทยอยจ่ายเป็นรายสัปดาห์ คาดเริ่มจ่ายได้ มี.ค.นี้

วานนี้ (3ก.พ.) ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรียกทีมเศรษฐกิจเข้าหารือ โดยมีนายสุพัฒนพงศ์ พันธุ์มีเขาว์ รองนายกฯ และรมว.พลังงาน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ดำรง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ร่วมหารือ

ภายหลังการประชุม พล.อ.ประยุทธ์ โพสต์เฟซบุ๊ก "ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha" ว่า ในที่ประชุมมีการหารือ 2 เรื่องสำคัญ เรื่องแรก คือ มาตรการบรรเทาภาระค่าครองชีพให้กับผู้ประกันตน ตามมาตรา 33 ประกันสังคม ผมได้เห็นชอบในหลักการให้ช่วยเหลือผู้ประกันตนให้ครบทุกคน โดยจะเร่งนำเสนอให้ ครม. พิจารณาโดยเร็ว เรื่องที่ 2 เกี่ยวกับมาตรการส่งเสริมการลงทุนให้กับนักลงทุนชาวไทย และชาวต่างชาติ รวมทั้งการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ภายหลังวิกฤตโควิด และมาตรการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจครับ

จะเห็นได้ว่า เราพยายามอย่างหนักที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และขณะเดียวกันเราก็มุ่งมั่นที่จะมองไปข้างหน้าเพื่อวางทิศทางเศรษฐกิจหลังโควิด ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้เพราะความร่วมมือทุกภาคส่วน ความพยายามของพวกเราทุกคนจะต้องประสบผลแน่นอนครับ #รวมไทยสร้างชาติ #ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวภายการหารือว่า เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ได้มารายงานความคืบหน้า และให้ความมั่นใจในตัวเลขการดูแลเรื่องการลงทุนในประเทศ ซึ่งปี 64 เป็นอีกปีสำคัญที่เราต้องประคับประคองเศรษฐกิจ ก่อนที่จะมุ่งหน้าเติบโตในปี 65 โดยปีหน้า จะมีการเตรียมการ 2 เรื่อง คือเรื่องการลงทุนว่าจะมีมากน้อยแค่ไหน โดยทั้งอีอีซี และ บีโอไอ ตั้งเป้ารวมกันประมาณ 400,000 ล้านบาท ที่จะมีการลงทุนในปีนี้ กับภาคเอกชน

ส่วนของการเดินหน้าธุรกิจใหม่ๆ เราจะใช้เวลาในปีนี้ ดึงดูดอุตสาหกรรมใหม่ๆ เป็นปฏิบัติการเชิงรุก โดยมีการรายงานถึงผู้ที่สนใจจะมาลงทุนในประเทศ ทั้งบรรดาหอการค้าประเทศต่างๆ และทูตจากหลายประเทศที่มีความสนใจ แต่เรามีบางประเด็นต้องปรับปรุงแก้ไข เช่น กฎระเบียบ กฎกติกา เพื่อเอื้อต่อการเข้ามาทำธุรกิจในประเทศ เช่น การเข้ามาอยู่อาศัยในราชอาณาจักร การขอวีซ่า การขออนุญาตทำงาน การจัดตั้งสำนักงานภูมิภาคในประเทศไทย เช่น ผู้ที่มีสำนักงานอยู่ในสิงคโปร์หรือฮ่องกง สนใจจะมาตั้งสำนักงานที่กรุงเทพฯ เราจะต้องมีการปรับปรุงความสะดวกในการประกอบธุรกิจในการทำงานของเขา รวมถึงระบบภาษีบางประเภท ที่จะต้องทำให้สอดคล้อง เพื่อไปแข่งขันกับประเทศที่นักธุรกิจเหล่านั้นมีสำนักงานในภูมิภาค ซึ่งจะเป็นการช่วยดึงดูดนักลงทุน คาดว่าจากนี้ประมาณ 60วัน จะมีความชัดเจน โดยทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เราต้องไปทำการบ้านใน 1 เดือน แล้วกลับมารายงานนายกฯ

สำหรับการโรดโชว์ ที่ขณะนี้ติดสถานการณ์โควิด-19 ไม่สามารถเดินทางไปต่างประเทศได้ เราก็มีการใช้เทเลคอนฟอเรนซ์ พูดคุยกันได้ อีกทั้งเรามีตัวแทนของสำนักงานบีโอไอ และหน่วยสำนักงานต่างๆ อยู่ในต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการแล้ว โดยตนได้เชิญ หม่อมหลวงชโยทิต กฤดากร ที่ปรึกษาของตน ซึ่งเป็นอดีตผู้บริหาร บริษัทเจพีมอร์แกน ประเทศไทย เป็นบริษัทการเงินขนาดใหญ่ระดับสากล มีลูกค้ามากมายทั่วโลก มาเป็นหัวหน้าทีมปฏิบัติการเชิงรุก ทาบทามทั้งบริษัทเอกชนไทยใหญ่ๆ และในต่างประเทศ โดยจะแสดงให้เข้าใจถึงศักยภาพ ความพร้อมของประเทศไทยและเชิญมาลงทุน

"ลักษณะทีมงาน เป็นทีมเล็กๆเคลื่อนตัวเร็ว ไม่ต้องตั้งคณะทำงานกันใหญ่โต แต่เน้นที่เป้าหมาย แก้ตรงจุด เช่น ถ้าเราตั้งสำนักงานภูมิภาคที่จะให้ประเทศไทยมีศักยภาพในด้านนี้ ก็จะสอบถามความต้องการ และเปรียบเทียบกับประเทศที่มีความโดดเด่นในเรื่องนี้ว่าเขาทำอะไรกันบ้าง และประเทศไทย มีความแตกต่างจากเขาอย่างไร ส่วนใดแก้ได้ทันที และจะดำเนินการแก้ไข" นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว

ทุ่ม 4 หมื่นล้านเยียวยาผู้ประกันตน ม.33

นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน กล่าวภายหลังเข้าพบนายกรัฐมนตรี ว่า นายกฯเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือแรงงานผู้ประกันตน มาตรา 33 "โครงการ ม.33 เรารักกัน" โดยนายกฯ อยากให้ครบทุกคนที่มีสิทธิดังกล่าว ส่วนเม็ดเงินจะได้คนละเท่าไร และออกมาในรูปแบบไหน ต้องรอหารือในรายละเอียดอีกครั้ง แต่เบื้องต้นรูปแบบจะเป็นเหมือนโครงการ "เราชนะ" โดยนำเงินเข้าแอปฯ เป๋าตังค์ เพื่อช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจอีกทางหนึ่ง โดยยืนยันว่าคนในครอบครัว มาตรา 33 จะให้ทุกคน

สำหรับเงื่อนไขผู้ที่จะได้รับสิทธิ์นั้น นายกฯ ให้ความอนุเคราะห์ตามที่และกระทรวงแรงงานเสนอ มีเพียงเงื่อนไขเดียวคือ คนที่มีเงินฝากเกิน 5 แสนบาท จะไม่ได้รับสิทธิ์นี้

ส่วนในประเด็นเงินเดือนต่อปี รวม 3 แสนบาทนั้น จะทำให้คนที่ทำงานที่เดียวกันบางคนได้รับ แต่บางคนอาจไม่ได้ จึงอาจมีปัญหา และไม่เกิดความสามัคคีในที่ทำงาน จึงคิดกันว่าไม่เอาเกณฑ์เงินเดือนมาพิจารณา เพราะคนที่เงินเดือนสูง ค่าใช้จ่ายก็อาจสูง และคนเงินเดือนน้อยค่าใช้จ่ายก็อาจน้อย ตนจึงเสนอนายกฯและรมว.คลัง ไม่เอาเรื่องเงินเดือนตรงนี้มาจับ ซึ่งนายกฯเห็นด้วยในเหตุผล

อย่างไรก็ตามเงินในส่วนนี้ เป็นการใช้เงินกู้เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ลำบาก ดังนั้น คนมีเงินฝาก 5 แสนบาทแล้ว ก็อยากให้เห็นใจ เสียสละก็แล้วกัน ไม่อยากให้มีการมองว่า มีเงินฝาก 5 แสน หรือ1ล้าน แล้วทำไมมาเอาตรงนี้อีก จึงขอหลักเกณฑ์นี้ไว้หลักเกณฑ์เดียว ซึ่งก่อนหน้านี้ กระทรวงการคลังก็อยากได้เกณฑ์เหมือนโครงการเราชนะ แต่ตนขอนายกฯให้ใช้เกณฑ์เงินฝาก โดยไม่นำเรื่องเงินเดือนมาพิจารณา ส่วนเม็ดเงินนั้น ก็เป็นการใช้เม็ดเงินกู้ก้อนเดียวกับโครงการเราชนะ ไม่ใช่เงินประกันสังคม

ส่วนเรื่องจำนวนเงินคต่อคนนั้น ต้องกลับไปทำตัวเลขอีกครั้ง แต่อยู่ประมาณ 3,500-4,500 บาท โดยจะแบ่งจ่ายเป็นรายสัปดาห์ เช่นเดียวกับ "เราชนะ" โดยคาดว่าอาจให้ประมาณ 1,000 บาท ต่อสัปดาห์ โดยคาดว่าโครงการจะเริ่มจ่ายเงินได้ภายในเดือนมี.ค.นี้ ซึ่งรายละเอียดเหล่านี้ จะได้ข้อสรุปภายในวันศุกร์นี้ และจะนำเข้าครม.ในสัปดาห์หน้า หากไม่ทัน ก็ถัดไปอีกสัปดาห์ แต่วันนี้ถือว่านายกฯ กดปุ่มอนุมัติทุกคน ให้ทั้งหมด โดยขอเงินรัฐบาลมาช่วยประมาณ 4 หมื่นล้านบาท หลังจากนั้น จะมีการกดปุ่ม เปิดให้ลงทะเบียนออนไลน์ ส่วนคนที่มีแอปฯ เป๋าตังค์อยู่แล้ว ก็ต้องลงทะเบียนออนไลน์ เพื่อยืนยันสิทธิ์เช่นกัน

ทั้งนี้ ผู้ที่จะได้รับสิทธิ์ จะต้องเข้าหลักเงื่อนไข 3 ข้อ ได้แก่ เป็นคนไทย , มีเงินฝากในบัญชีไม่เกิน 500,000 บาท และเป็นผู้ประกันตนใน มาตรา 33 ซึ่งคาดว่าจะมีผู้รับสิทธิ์ที่เข้าเงื่อนไขนี้ประมาณ 9 ล้านคน

นอกจากนี้นายกฯ ได้ฝากไปพิจารณาเรื่องเงินทุนชราภาพ ให้แก้ปัญหาให้เร็วที่สุด โดยทางออกมี 2 ทาง ในการแก้ปัญหาระยะยาว คือ การแก้ พ.ร.บ. ส่วนการแก้ปัญหาระยะสั้น กำลังหารือกฤษฎีกาตีความอยู่ ว่าจะสามารถนำเงินมาลงทุนกับผู้ประกันตนได้หรือไม่ อย่างเช่น ปล่อยกู้ให้กับผู้ประกันตน ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ร้อยละ 2 ต่อปี

นายสุชาติ ยังกล่าวถึง กลุ่มนักร้อง นักดนตรี ที่เรียกร้องให้ชดเชยเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบเป็นเงินสดว่า ตนก็เคยเป็นผู้ใช้แรงงาน บางครั้งมีเงินสด ก็เอาไว้ใช้จ่ายในสิ่งที่ต้องใช้เงินสด ไว้ใช้ในสิ่งที่โครงการนี้ใช้ไม่ได้ เช่น ค่าเทอม ค่าเช่าบ้าน ส่วนการซื้อของกินของใช้ ก็ใช้จ่ายผ่านแอปฯ เป๋าตังค์แทน ซึ่งต้องรู้จักบริหารจัดการ

เมื่อถามว่าจะเป็นการตีกรอบการใช้เงิน หรือไม่ นายสุชาติ กล่าวว่า ตามหลักเศรษฐศาสตร์ การเอาเงินออกมาเป็นแสนล้าน สิ่งหนึ่งที่จะกลับเข้ามา จะเป็นการฟูขึ้นของเศรษฐกิจ จะทำให้เกิดการหมุนเวียนในภาพใหญ่ และฟื้นตัวโดยเร็ว ขอให้เชื่อมั่น เพราะรมว.คลัง ได้คิดมาแล้ว ซึ่งย้ำว่า สิ่งที่นายกฯ คิดเพื่อช่วยเหลือแรงงาน นี่คือเจตนารมณ์ กระทรวงแรงงาน เป็นผู้ช่วยสนับสนุนข้อมูลในการตัดสินใจ การใช้จ่ายชดเชยเป็นเงินสด เป็นไปได้ลำบาก หากใช้ผิดประเภท ก็จะทำให้เจตนารมณ์สูญเปล่า


กำลังโหลดความคิดเห็น