xs
xsm
sm
md
lg

ส่องอนาคตภาคเกษตร! คนรุ่นใหม่ควรสานต่อหรือจบแค่รุ่นพ่อแม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ที่ผ่านมาเราอาจจะคุ้นหูกับคำว่าเกษตรกรไทยคือกระดูกสันหลังของชาติ! แต่หากเอกซเรย์กันจริงๆ วันนี้กระดูกสันหลังชาติน่าจะอยู่ในภาวะที่เสื่อมจากการใช้งานมาอย่างยาวนาน และที่น่ากังวลคือกำลังเข้าขั้นวิกฤตเมื่อภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับแรงงานในภาคการเกษตร 9 ล้านครัวเรือนหรือราว 12 ล้านคนนั้นเป็นวัยแรงงานที่กำลังก้าวสู่สังคมสูงวัยมากขึ้นทุกขณะ และแรงงานของไทยส่วนใหญ่ก็ไปกระจุกตัวอยู่ที่ภาคอุตสาหกรรม ท่องเที่ยวและบริการ เกษตรบางส่วนจึงต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าว
 
ปัญหาโควิด-19 ที่แพร่ระบาดรอบใหม่เป็นการตอกย้ำให้เห็นว่าภาคเกษตรกลายเป็นสิ่งที่คนไทยจำนวนไม่น้อยที่ตกงานต่างหันกลับมาบ้านเพื่อหวังพึ่งพา แต่กระนั้นสถานการณ์เดิมที่ภาคเกษตรเคยดูดซับแรงงานจากภาคอื่นๆ ที่มีปัญหาได้บางส่วนกลับไม่เป็นเช่นอดีตแล้ว นั่นเพราะภาคเกษตรของไทยประสบกับปัญหาภัยแล้ง และมีความเปราะบางจากระดับราคาที่ไร้เสถียรภาพสะสมมาช้านานทำให้ภาคเกษตรอ่อนแอ นี่อาจทำให้เด็กรุ่นใหม่ไม่อยากซ้ำรอยพ่อแม่ที่ยึดอาชีพเกษตรแต่ไม่อาจมีรายได้เพียงพอที่จะเลี้ยงชีพให้สุขสบายได้ แต่บางส่วนก็ยังคงที่จะสืบสานต่อจากรุ่นพ่อแม่ด้วยการพัฒนารูปแบบใหม่

ปลูกอ้อย อนาคตจะเหลือแต่รายกลางและใหญ่

“การปลูกอ้อยวันนี้ ลูกหลานส่วนใหญ่ถ้าเลือกได้เขาไม่อยากทำ แต่โควิด-19 ที่ทำให้คนตกงานก็อาจต้องกลับมามองได้เช่นกัน ส่วนเหตุที่เขาไม่อยากทำเพราะมันเหนื่อยนะ มีหลายปัจจัยทั้งราคาอ้อยที่ตกต่ำจากความไม่แน่นอนของราคาน้ำตาลตลาดโลก ภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง นโยบายช่วยเหลือจากรัฐไม่ชัดเจน แรงงานหายากส่วนใหญ่ต้องพึ่งแรงงานจากเพื่อนบ้านและค่าแรงแพงขึ้น เมื่อรัฐมีเป้าหมายเน้นตัดอ้อยสดต้องไม่มีเผาอ้อยเพื่อแก้ไขฝุ่น PM 2.5 กลายเป็นอุปสรรคให้การทำอ้อยยุ่งยากขึ้นกว่าอดีตต้องหันไปพึ่งเครื่องจักรมากขึ้น” นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และหัวหน้าสำนักงานสมาคมชาวไร่อ้อย เขต 7 กล่าว

เขามองว่าในที่สุดเกษตรกรรายเล็กจะถูกสกรีนออกไป เหลือเพียงแต่รายกลางและใหญ่ที่พอมีทุนสู้ต่อ แต่รายเล็กอาจจะรอดได้หากรวมกันเป็นกลุ่มสหกรณ์แลกเปลี่ยนเครื่องจักร ซึ่งประเด็นนี้คนไทยยังรวมกันได้ยาก และรัฐเองก็ไม่ได้เข้ามาเป็นแกนกลางในการสนับสนุน ขณะที่เครื่องจักรเช่นรถตัดอ้อยคันละ 8-10 ล้านบาทแม้จะต้องมีทุนเพียงพอแล้ว แปลงอ้อยเองก็ต้องเป็นแปลงใหญ่จึงจะเอื้อต่อรถตัด ซึ่งปัจจุบันไทยมีรถตัดอ้อยประมาณ 3,000 คัน มีศักยภาพตัดอ้อยได้ราว 40 ล้านตันซึ่งยังไม่พอต่อผลผลิตอ้อยปี 63/64 ที่คาดว่าจะมี 65-67 ล้านตัน โดยมองว่าอ้อยจะก้าวไปสู่ระดับ 100 ล้านตันจากนี้อาจใช้เวลาอีกถึง 5 ปี

ทั้งนี้ พื้นที่ปลูกอ้อยอดีตเคยอยู่ระดับ 10 ล้านกว่าไร่ ตอนนี้เหลือเพียง 8 ล้านกว่าไร่และมีแนวโน้มจะลดลงเพราะเกษตรกรเลิกปลูกหันไปปลูกพืชอื่นแทนที่มีราคาดีกว่า และการขยายการปลูกเพิ่มลดต่ำเพราะที่ดินมีราคาแพงจากการขยายของเมือง เช่น ภาคตะวันออก ที่แนวโน้มพื้นที่จะลดลง ขณะที่อีสานที่ถือเป็นภาคที่มีการขยายพื้นที่ปลูกมากสุดแต่ส่วนใหญ่เป็นรายเล็กไม่มีสัญญากับโรงงานจะเน้นขายคนกลางเมื่อไม่คุ้มทุนก็จะเลิกทำได้ง่าย ดังนั้นโรงงานจึงต้องเตรียมรับมือกับสิ่งเหล่านี้เพราะหากวัตถุดิบน้อยหรือไม่มีท้ายสุดโรงงานก็อยู่ไม่ได้

ชาวสวนปาล์มรุ่นใหม่บางส่วนมองแค่อาชีพเสริม

นายชโยดม สุวรรณวัฒนะ ประธานกลุ่มคนปลูกปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย ชี้ให้เห็นถึงอุตสาหกรรมปาล์มในปัจจุบันที่มีลักษณะไม่ต่างจากอ้อยมากนัก โดยคนรุ่นใหม่บางส่วนไม่อยากจะกลับมาทำสวนปาล์มเพราะไม่อยากถูกกดดันจากราคาปาล์มที่ไม่คุ้มต้นทุนซึ่งสะท้อนจากพื้นที่เพาะปลูกที่ลดลงเพราะเกษตรกรหันไปปลูกผลไม้ที่มีราคาดีกว่าแทนมากขึ้น เช่น เงาะ ทุเรียน ฯลฯ ขณะที่เด็กบางส่วนก็ยังคงต้องกลับมาดูแลและสานต่อจากพ่อแม่เพราะถือว่ามีต้นทุนเดิมอยู่แล้ว

“คนรุ่นใหม่ส่วนหนึ่งเขาไม่ทำหรอกปาล์มน่ะมันเลี้ยงตัวเองไม่ได้ รายได้ไม่แน่นอน นโยบายรัฐไม่ชัดเจนไม่พอเลี้ยงชีพ คือหากเขาจะทำต่อจากพ่อแม่ก็เพราะมีที่ทางปลูกไว้พร้อมอยู่แล้วแค่มาเก็บเกี่ยวผลผลิต และส่วนหนึ่งก็มองในแง่ของการทำเป็นอาชีพเสริม การจะปลูกใหม่หาพื้นที่ไม่ง่ายเพราะจะไม่คุ้มต้องมีพื้นที่อย่างน้อย 100 ไร่ เพราะหากราคาเฉลี่ย 3-3.50 บาทต่อกิโลกรัมก็อยู่ยาก” นายชโยดมกล่าว

ปัจจุบันราคาผลปาล์มขยับสูงมาอยู่ 6-7 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) เพราะหมดฤดูผลิตและผลผลิตจะออกอีกครั้งในช่วงกลาง ก.พ.นี้ ซึ่งคงต้องติดตามว่าราคานี้จะยืนอยู่ได้นานหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาเมื่อผลผลิตออกมาก็จะถูกกดราคาเคยตกต่ำ 1-2 บาทต่อ กก.ก็เคยเกิดขึ้นแล้ว แม้เกษตรกรจะพยายามเรียกร้องแนวทางแก้ไขต่างๆ ก็ไม่คืบหน้า โดยเฉพาะ พ.ร.บ.ปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม การติดตั้งมิเตอร์ที่โรงงานสกัด ฯลฯ ดังนั้นอนาคตของปาล์มที่สุดอยู่ที่กลไกรัฐหากไม่ชัดเจนก็จะนำไปสู่ความถดถอย โดยที่ผ่านมานโยบายส่งเสริมการจำหน่ายดีเซล B10 ให้เป็นน้ำมันพื้นฐานทำให้ภาพรวมราคาดีขึ้นแต่ก็ยังกังวลถึงข่าวในทำนองว่า B100 แพงอาจจะลดสัดส่วนผสมลงอีกซึ่งหวังว่าจะเป็นเพียงกระแสข่าว

ชาวนารุ่นใหม่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

“ผมเห็นว่ามุมมองของการทำนาจากคนรุ่นใหม่เริ่มเปลี่ยนไป แม้แต่คนรุ่นเก่าอายุมากแล้วเขาก็เริ่มหันมาพัฒนาการใช้เทคโนโลยีในการบริหารจัดการมากขึ้น ทำให้เห็นว่ามีชาวนารุ่นใหม่ๆ หรือ Smart Farmer เพิ่มขึ้นจากการพัฒนาพื้นที่เดิม ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการที่รัฐและหน่วยงานต่างๆ พยายามที่จะพัฒนาและให้องค์ความรู้ แต่การจะเพิ่มพื้นที่ใหม่ๆ ยอมรับว่าส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนที่มีฐานะพอสมควรที่จะเข้ามาทำแล้วบริหารแบบครบวงจร” นายสุเทพ คงมาก นายกกิติมศักดิ์สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทยกล่าวแสดงความเห็น

เขากล่าวต่อว่า ยุคนี้การทำนายังพอเห็นทางออกไม่ได้มืดมนนักแต่ก็ไม่ได้หมายถึงจะสดใสมากเช่นกัน คนที่มีพื้นที่ก็ยังเชื่อว่าจะมีการสืบทอดจากบรรพบุรุษแต่จะเป็นการเข้ามาเปลี่ยนแปลงจากคนรุ่นใหม่เพื่อสืบต่อไปได้ และกรณีของผู้มีทุนก็จะเป็นลักษณะของการทำครบวงจร แต่จะมากน้อยเพียงใดสิ่งสำคัญคือนโยบายจากภาครัฐบาลในการกำหนดแนวทางการพัฒนาที่ชัดเจนและเป็นระบบ เพราะปัจจุบันอุปสรรคการทำนาคือ น้ำ ที่ระบบชลประทานไม่ทั่วถึง และการพัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่ๆ ที่จะมาตอบสนองทั้งการใช้น้ำน้อย คุณภาพที่เพิ่มขึ้น ระยะปลูกที่สั้นลง

เหนือสิ่งอื่นใด ผลผลิตข้าวของไทยไม่มีความสมดุลระหว่างดีมานด์กับซัปพลาย ผลผลิตที่ออกมามากเกินไปส่งผลให้เกิดการกดราคา และส่วนเกินที่ส่งออกไทยอาศัยพ่อค้าเป็นหลัก ขณะที่คู่แข่งเพื่อนบ้านเน้นการเจรจา และการทําสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (Government to Government - G to G) จึงทำให้มีความได้เปรียบมากกว่าไทย หากส่งเสริมการทำข้าวในพื้นที่ที่เหมาะสม มีการซื้อขายแบบ G to G เพิ่มขึ้นก็น่าจะทำให้ข้าวไทยมีศักยภาพมากขึ้นได้


เกษตรอยู่ในสายเลือดคนไทย ทางรอดเดียวหลังโควิด-19

“การทำเกษตรมันอยู่ในสายเลือดคนไทยอยู่แล้ว และผมเห็นว่าวิกฤตโควิด-19 สองรอบที่ผ่านมาคนตกงานจำนวนมากหากไม่ทำเกษตรก็ไม่มีกิน และมันคือทางรอดหลังโควิด-19 ที่รัฐบาลต้องใช้โอกาสนี้ในการผลักดันการเปลี่ยนแปลงภาคเกษตรที่ไทยจะก้าวไปเป็นครัวโลก” นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (สยท.) เกริ่นนำ

เขากล่าวต่อว่า คนรุ่นใหม่คืออนาคต และภาคเกษตรเป็นเพียงภาคเดียวที่ไทยมีศักยภาพสุดในอาเซียนในการที่จะเร่งพัฒนาและต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่ม เพราะอนาคตไทยจะพึ่งภาคอุตสาหกรรมส่งออก และการท่องเที่ยวได้ยาก แต่หากเรายังทำเกษตรแบบดั้งเดิมคงจะไม่มีอนาคต จะให้มีอนาคตจะต้องเป็นเกษตรแปลงใหญ่มีการรวมตัวกันและนำระบบสหกรณ์มาดูแล ดึงนวัตกรรมเทคโนโลยีมาบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ หรือ Smart Farmer โดยรัฐเป็นแกนกลางในการรวมกลุ่มและจัดหางบประมาณสนับสนุน ซึ่งเขาก็แสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่ารัฐคงจะไม่อยากให้เกษตรกรรวมตัวกันหรอกเพราะความแตกแยกเขาจะหากินกับเกษตรกรได้ง่ายกว่า แต่เขาย้ำว่าหากไม่ทำเศรษฐกิจไทยจะเข้าขั้นลำบาก

ทั้งนี้ สยท.ได้เสนอรัฐบาลให้ดำเนินการโครงการน้อมนำเศรษฐกิจพอเพียงในแนวทางพึ่งตนเอง “ครัวไทยสู่โลก” เพื่อช่วยคนตกงานราว 10 ล้านคนและไม่มีที่ทำกิน โดยนำพื้นที่ว่างเปล่าจาก พ.ร.บ.ป่าไม้แห่งชาติฯ, พ.ร.บ.วนอุทยานแห่งชาติฯ และ พ.ร.บ.ป่าชุมชนแห่งชาติปี 2562 มาให้เช่าคนละไม่เกิน 2 ไร่ รัฐวางระบบน้ำให้ทุกแปลงตามงบที่ขอไว้และ ครม.ได้อนุมัติไปแล้ว 100,000 ล้านบาท และกำหนดพืชที่ปลูกเน้นเกษตรปลอดภัยเพื่อนําผลผลิตเกษตรเข้าโรงงานเพื่อถนอมอาหารเนื่องจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และองค์การการค้าโลก (WTO) ได้แถลงงานที่กรุงปารีสว่าหลังโควิด-19 โลกจะขาดแคลนอาหาร และนี่ถือเป็นโอกาสที่ไทยจะส่งออก

“เราทำนำร่องไปก่อนเน้นเศรษฐกิจพอเพียง มันดีกว่าการที่เราจะเอาเงินไปแจกๆ แล้วก็หมดไป สู้เอาไปทำในรูปแบบส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดอาชีพที่เป็นความยั่งยืนแล้วอยู่รอดได้ในระยะยาวจะดีกว่า ส่วนอุตสาหกรรมยางนั้นไทยส่งออกน้ำยางข้นมากที่สุดในโลก หากมีการบริหารจัดการที่ดีและถูกต้องก็จะสามารถรักษาเสถียรภาพราคาน้ำยางได้ ก็คือการลงทุนสร้างแท็งก์เก็บน้ำยางข้นพร้อมอุปกรณ์ควบคุมและห้องปฏิบัติการควบคุม 3 แห่ง รวม 1.5 แสนตัน ซึ่งเราก็ได้เสนอไปแล้ว” นายอุทัยกล่าวย้ำ

เสียงสะท้อนเหล่านี้ชี้ให้เห็นถึงอนาคตของคนรุ่นใหม่ที่จะก้าวมาสู่ภาคการเกษตรเพื่อสานต่อจากครอบครัวหรือเป็นเกษตรกรหน้าใหม่ไม่ใช่หนทางง่ายนัก …แต่เป็นเพียงภาคเดียวที่จะทำให้คนไทยมีโอกาสลืมตาอ้าปากและพึ่งพาตนเองได้มากสุดหากแต่ต้องปรับให้เป็นเกษตรสมัยใหม่ ดังนั้น รัฐบาลจึงเป็นกลไกสำคัญในการเปลี่ยนผ่านสิ่งเหล่านี้เพื่อให้เศรษฐกิจหลังโควิด-19 ก้าวต่อไปได้
กำลังโหลดความคิดเห็น